วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

ดนตรีบำบัด (Music Therapy)

ดนตรีบำบัด (Music Therapy)


ดนตรีคืออะไร
ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน "ดนตรี" หมายถึง เสียงที่ประกอบกันเป็น ทำนองเพลง , เครื่องบรรเลงซึ่งมีเสียงดังทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน หรือเกิดอารมณ์รัก โศก หรือรื่นเริง เป็นต้น ได้ตามทำนองเพลง

อีกความหมายหนึ่งของ ดนตรี (Music) คือ ลักษณะของเสียงที่ได้รับการจัดเรียบเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยมีแบบแผนและโครงสร้างชัดเจน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ 3 ด้านใหญ่ ๆ คือ เพื่อความสุนทรีย์, เพื่อการบำบัดรักษา และเพื่อการศึกษา

ดนตรี มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ และการทำงานของสมองในหลาย ๆ ด้าน จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีผล ดังนี้

ผลของดนตรีต่อร่างกาย สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ อัตราการหายใจ, อัตราการเต้นของชีพจร, ความดันโลหิต, การตอบสนองของม่านตา, ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และการไหลเวียนของเลือด
ผลของดนตรีต่อจิตใจและสมอง สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ อารมณ์, สติสัมปชัญญะ, จินตนาการ, การรับรู้สภาพความเป็นจริง และการสื่อสารทางอวัจนะภาษา

ดนตรีบำบัดคืออะไร
ดนตรีบำบัด (Music Therapy) คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วย การนำดนตรี หรือองค์ประกอบอื่น ๆ ทางดนตรี มาประยุกต์ใช้ เพื่อปรับเปลี่ยน พัฒนา และคงรักษาไว้ซึ่งสุขภาวะของร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม โดยนักดนตรีบำบัดเป็นผู้ดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ผ่านทางกิจกรรมทางดนตรีต่าง ๆ อย่างมีรูปแบบโครงสร้างที่ชัดเจน มีหลักเกณฑ์ และระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์
เป้าหมายของดนตรีบำบัด ไม่ได้เน้นที่ทักษะทางดนตรี แต่เน้นในด้านพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละบุคคลที่มารับการบำบัด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายบริบท เช่น ด้านการศึกษา ด้านการแพทย์

ลักษณะเด่นของดนตรีบำบัด
ดนตรีบำบัดมีลักษณะเด่นเฉพาะตัวหลายด้าน ทำให้สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับอายุ และหลากหลายปัญหา ลักษณะเด่น ได้แก่
1. ประยุกต์เข้ากับระดับความสามารถของบุคคลได้ง่าย
2. กระตุ้นการทำงานของสมองได้หลายส่วน
3. กระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน
4. ช่วยพัฒนาอารมณ์ จิตใจ
5. เสริมสร้างทักษะทางสังคม และการสื่อสาร
6. ให้การรับรู้ที่มีความหมาย และความสนุกสนาน ไปพร้อมกัน
7. ประสบความสำเร็จในการบำบัดได้ง่าย เนื่องจากประยุกต์ใช้ได้ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับความสามารถ


ดนตรีมีผลต่อสุขภาพอย่างไร
คนเราเมื่อได้ยินเสียงดนตรี สมองซีกซ้ายจะทำหน้าที่รับรู้ถึงจังหวะง่ายๆไม่ซับซ้อน ในขณะที่สมองซีกขวาจะรับรู้ถึงท่วงทำนอง ระดับเสียงสูงต่ำ หรือจังหวะที่ซับซ้อนมากขึ้นแล้วเก็บไว้เป็นความทรงจำเพื่อเรียนรู้และฝึกฝนได้ในคราวต่อไป ดนตรีจะส่งผลต่อร่างกายและจิตใจดังนี้

1. ผลต่อร่างกาย : มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราการหายใจ อัตราการเต้นของชีพจร ความดันและการไหลเวียนโลหิต การตอบสนองของม่านตา ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ลดความเจ็บปวf

2. ผลต่อจิตใจและอารมณ์ : ทำให้เกิดอารมณ์และจินตนาการร่วมกับเสียงดนตรี เช่น ผ่อนคลาย สดชื่น สนุกสนาน เพราะดนตรีช่วยกระตุ้นการหลั่งสารแห่งความสุข (Endorphin) จากสมองได้ นอกจากนี้เสียงดนตรียังช่วยพัฒนาการสื่อภาษาและทักษะในการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ตลอดจนทำให้เกิดสมาธิ และการมองโลกในเชิงบวกอีกด้วย โดยดนตรีแต่ละประเภทก็จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไปตามองค์ประกอบของดนตรีขึ้นกับ

ประโยชน์ของดนตรีบำบัด
ดนตรีบำบัดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งในเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ตามเป้าหมาย เพื่อตอบสนองความจำเป็นที่แตกต่างกันไป ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น ปัญหาบกพร่องของพัฒนาการ สติปัญญา และการเรียนรู้, โรคซึมเศร้า, โรคอัลไซเมอร์, ปัญหาการบาดเจ็บทางสมอง, ความพิการทางร่างกาย อาการเจ็บปวด และภาวะอื่น ๆ
สำหรับบุคคลทั่วไป ก็สามารถใช้ประโยชน์จากดนตรีบำบัดได้เช่นกัน ช่วยในการผ่อนคลายความตึงเครียด และในการออกกำลังกายเสริมสร้างสุขภาพ

ประโยชน์ของดนตรีบำบัดมีดังนี้
1. ปรับสภาพจิตใจ ให้อยู่ในสภาวะสมดุล มีมุมมองในเชิงบวก
2. ผ่อนคลายความตึงเครียด ลดความวิตกกังวล (Anxiety / Stress Management)
3. กระตุ้น เสริมสร้าง และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และความจำ (Cognitive Skill)
4. กระตุ้นประสาทสัมผัสการรับรู้ (Perception)
5. เสริมสร้างสมาธิ (Attention Span)
6. พัฒนาทักษะสังคม (Social Skill)
7. พัฒนาทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษา (Communication and Language Skill)
8. พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว (Motor Skill)
9. ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ (Muscle Tension)
10. ลดอาการเจ็บปวดจากสาเหตุต่าง ๆ (Pain Management)
11. ปรับลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (Behavior Modification)
12. สร้างสัมพันธภาพที่ดีในการบำบัดรักษาต่าง ๆ (Therapeutic Alliance)
13. ช่วยเสริมในกระบวนการบำบัดทางจิตเวช ทั้งในด้านการประเมินความรู้สึก สร้างเสริมอารมณ์เชิงบวก การควบคุมตนเอง การแก้ปมขัดแย้งต่าง ๆ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว
โดยสรุปดนตรีบำบัด มีประโยชน์หลากหลายขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ เสริมสร้างสุขภาวะทาง
ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี โดยบูรณาการเข้ากับการรักษาอื่นๆ

กระบวนการและรูปแบบดนตรีบำบัด
ในการทำดนตรีบำบัด ไม่มีกระบวนการและรูปแบบที่ตายตัว แต่จะต้องออกแบบการบำบัดรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล มีการวางแผนการบำบัดรายบุคคล โดยจะเลือกเสียงเพลงให้เหมาะกับปัญหาในแต่ละราย ซึ่งมีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้
1. การประเมินผู้รับการบำบัดรักษา
1.1 ศึกษาข้อมูลประวัติส่วนตัว และประวัติทางการแพทย์
1.2 ประเมินปัญหา และเป้าหมายที่ต้องการบำบัด
1.3 ประเมินสุขภาวะ ทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และทักษะการคิด

2. วางแผนการบำบัดรักษา
2.1 ออกแบบโปรแกรมที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล และรายกลุ่ม โดยยึดเป้าหมายเป็นสำคัญ
2.2 รูปแบบผสมผสาน กระบวนการต่าง ๆ ทางดนตรี เช่น ร้องเพลง แต่งเพลง ประสานเสียง จินตนาการตาม หรือลีลาประกอบ เป็นต้น
3. ดำเนินการบำบัดรักษา
3.1 สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้บำบัด กับผู้รับการบำบัด โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ
3.2 ทำดนตรีบำบัด ร่วมกับการบำบัดรักษารูปแบบอื่น ๆ แบบบูรณาการ
4. ประเมินผลการบำบัดรักษา
- ประเมินผลอย่างต่อเนื่อง และปรับแผนการบำบัดให้เหมาะสม
การใช้เสียงดนตรีก็ยังมีด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น การเลือกฟังดนตรีเพียงอย่างเดียว หรือเปิดดนตรีร่วมกับการสร้างจินตนาการ ใช้ดนตรีประกอบการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่กระตุ้นเพื่อให้มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย ใช้ดนตรีประกอบการวาดภาพ แกะสลัก งานศิลปะด้านต่างๆ หรือการให้แสดงความสามารถด้านดนตรีด้วยการเล่นดนตรี แบบเล่นเป็นวงหรือเล่นตามลำพัง การร้องคาราโอเกะ เป็นต้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปสู่เป้าหมายที่เหมือนกันคือเบี่ยงเบนความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความเจ็บปวด การหมกมุ่น ไปสู่กิจกรรมหรือจินตนาการใหม่ๆ ในทางที่สร้างสรรค์ จากการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนเปลงจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อมีการบำบัดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจที่จะให้ดนตรีเข้ามาแต่งเต็มสีสันในชีวิตประจำวันแล้วล่ะก็ หลักง่ายๆ คือการเลือกดนตรีที่มีคุณสมบัติบำบัดอาการที่มีอยู่ในลักษณะตรงกันข้าม เช่น ขณะที่อยู่ในภาวะเครียด ตื่นเต้น อาการปวด ทำให้ต้องการสมาธิหรือลดอาการปวด ควรเป็นดนตรีที่มีจังหวะในลักษณะ Minor Mode, Tempo - merato คือความเร็วปานกลางในแนวเพลงคลาสสิก, ระดับเสียงต่ำปานกลาง ตัวอย่างดนตรีประเภทนี้ เช่น ดนตรีของ Kitaro, Enja, Kenny G หรืออาจจะเป็นเพลงที่ระบุว่า Healing Music, Music ForRelaxation, Soothing Music หรืออย่าง Green Music ที่เรารู้จักกันดีนั่นล่ะครับ แต่หากอยู่ในภาวะซึมเศร้า เฉี่อยชา ก็ควรเลือกดนตรีที่มีลักษณะเป็น Major Mode ดนตรีเร็ว ระดับเสียงสูง เพื่อกระตุ้นการหายใจ ระดับความดันและการไหลเวียนโลหิต เช่น เพลงในแนวร็อก ชะชะช่า รุมบ้า เพื่อให้เกิดความอยากลุกขึ้นมาทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น หากบำบัดง่ายๆ ด้วยตัวเองแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จอาจลองบำบัดกับนักดนตรีบำบัดโดยตรงก็ได้ครับ ซึ่งปัจจุบันก็มีด้วยกันหลายแห่ง

ดนตรีบำบัดในโรงพยาบาล
ในโรงพยาบาลต่าง ๆ มีการนำดนตรีบำบัดมาร่วมบูรณาการเข้ากับการบำบัดรักษาอื่น ๆ เพื่อเป้าหมายต่าง ๆ กัน ดังตัวอย่างเช่น
1. กระตุ้น และส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ
2. ช่วยเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายในการฟื้นฟูสมรรถภาพ
3. ลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ก้าวร้าว รุนแรง อยู่ไม่นิ่ง ร่วมกับพฤติกรรมบำบัด และการบำบัดโดยใช้ยา
4. ช่วยให้สงบ และนอนหลับได้ ในผู้ที่มีความกลัว ความเครียด ร่วมกับการปรับสิ่งแวดล้อม และการใช้ยา
5. ปรับเปลี่ยนอารมณ์ ร่วมกับการใช้ยา และจิตบำบัดในโรคซึมเศร้า
6. เสริมในกระบวนการบำบัดต่าง ๆ ทางจิตเวช
7. ลดความเจ็บปวด ร่วมกับการใช้ยาแก้ปวด

ดนตรีบำบัดในโรงเรียน
ในโรงเรียนมีการนำดนตรีบำบัดมาใช้ใน 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ
1. เสริมสร้างจุดแข็งในตัวเด็ก ในทักษะด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากทักษะทางดนตรี เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานประสานสัมพันธ์กันของร่างกาย
2. เสริมในแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล
(IEP - Individualized Educational Program) สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ




ที่มา :
http://www.happyhomeclinic.com/a06-musictherapy.htm
(โดย นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น