วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

สารที่ก่อมะเร็ง

สารที่ก่อมะเร็ง

เมื่อพูดถึงโรคมะเร็ง หลายๆคนแสดงสีหน้าหวาดผวา เพราะกิตติศัพท์โรคนี้เป็นที่รู้กันมานานนักหนาแล้วว่า เป็นโรคร้ายที่ยากจะรักษาให้หายได้ ถ้าใครเกิดเป็นขึ้นมาแล้วดูเหมือนว่าความตายได้คืบคลานมารอท่า

ปัจจุบันนี้ จากการรวบรวมสถิติเกี่ยวกับโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันมะเร็งโรงพยาบาลศิริราชและหน่วยมะเร็งตามโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์หลายแห่ง ได้ยืนยันว่า คนไทยเป็นมะเร็งกันมากขึ้น และอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งก็สูงขึ้นเช่นกัน ในขณะนี้คนไทยตายด้วยโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับ 3 รองจากโรคหัวใจและอุบัติเหตุ และพบว่ามะเร็งเป็นได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่จะพบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีเป็นต้นไป ซึ่งเป็นวัยที่กำลังทำงานและหาเลี้ยงครอบครัว โรคมะเร็งบางชนิดสามารถรักษาให้หายได้ เช่น มะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรก มะเร็งเต้านม และมะเร็งของอวัยวะอื่นๆอีกหลายอวัยวะ แต่ก็ยังมีหลายชนิดที่รักษาไม่ได้ผล ฉะนั้นจะเห็นว่าโรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศทั้งในด้านสาธารณสุข สังคม และการสูญเสียทางเศรษฐกิจ จนเมื่อเร็วๆนี้ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้หยิบปัญหาโรคมะเร็งมาพูดกันว่า น่าจะมีการรณรงค์หาทางป้องกันเพื่อจะทอนรายจ่ายในการรักษาพยาบาลลงไป เพราะโรคมะเร็งที่เราทราบสาเหตุก็สามารถจะป้องกันได้

ความจริงนั้น สาเหตุของโรคมะเร็งที่มีผู้ทำการศึกษาวิจัยได้ในหลายๆประเทศและทั้งในประเทศไทยเอง พอจะได้บอกได้ว่า มาจากสิ่งมีพิษหรือสารก่อมะเร็งซึ่งปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเรา ที่เราได้รับหรือสัมผัสอยู่ทุกๆวันนั่นเอง เช่น สารก่อมะเร็งที่ปนอยู่ในอาหาร อากาศ เครื่องดื่ม หรือยารักษาโรค ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมการกินการอยู่อย่างสำคัญ

การทำความรู้จักกับสารก่อมะเร็งและเรียนรู้ถึงสาเหตุของมะเร็งต่างๆ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงต่อสารก่อมะเร็งหรือสาเหตุนั้นๆ เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราเสี่ยงการเป็นมะเร็งได้

สารก่อมะเร็งมีอะไรบ้าง

สารก่อมะเร็งจากภายนอกร่างกายแบ่งออกได้หลายกลุ่ม คือ
1. สารกายภาพ ทำให้เกิดมะเร็งได้โดยเกิดจาก “การระคายเคืองเรื้อรัง” หรือมีการระคายซ้ำๆในที่เดียวกันเป็นเวลานานๆ เช่น
- ฟันเก ฟันคม จะครูดเยื่อบุในช่องปากขณะพูดหรือเคี้ยวอาหาร ทำให้เกิดมะเร็งในช่องปาก หรือกินอาหารเครื่องดื่มที่ร้อนจัด เกิดการระคายเรื้อรังในช่องปากและหลอดอาหาร
- สารพาราฟินที่ฉีดเข้าไปในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณเต้านมหรือใบหน้า
- การกระทบกระแทกหรือการฉีกขาดของปากมดลูก เช่น ผู้ที่คลอดลูกบ่อยๆ หรือผู้ที่มีกะบังลมหย่อน ปากมดลูกเคลื่อนลงมาต่ำ เสียดสีกับผ้านุ่งอยู่เสมอๆ
- อากาศที่มีฝุ่นละอองมาก อากาศที่มีไอเสียหรือเขม่าควันจากเครื่องยนต์หรือปล่องโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอากาศที่มีฝุ่นละอองของสารแอสเบสตอสหรือใยแก้ว ใยหิน จะระคายต่อถุงลมในปอดโดยตรง ทำให้เกิดมะเร็งปอด

2. สารเคมี จัดเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มใหญ่ที่สุด เมื่อเร็วๆนี้ทางคณะกรรมการสุขภาพและความปลอดภัยในการประกอบอาชีพของสหรัฐอเมริการายงานว่า สารต่างๆที่สามารถทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นมะเร็งในสัตว์ทดลองมากมายถึง 1,900 ชนิด และที่มีรายงานว่าทำให้เกิดมะเร็งในคนนั้นมีประมาณ 17 ชนิด ส่วนใหญ่สารต่างๆเหล่านี้จะปะปนมาในรูปอาหาร เช่น

2.1 อาหารที่ผสมสีย้อม
สีผสมอาหารที่ได้จากธรรมชาติ เช่น สีแดงได้จากครั่ง ดินประสิว สีเขียวจากใบเตย สีเหลืองจากขมิ้น ฯลฯ สีธรรมชาติเหล่านี้มีราคาแพงและหาซื้อได้ยาก ผู้ประกอบอาหารบางรายจึงใช้สีวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสีสำหรับย้อมผ้าหรือวัตถุต่างๆ (มิใช่สำหรับผสมอาหาร) แทนสีผสมอาหาร ซึ่งสีวิทยาศาสตร์นี้จะมีราคาถูกและมีสีฉูดฉาด สดใส หรือมีกลิ่นหอม มักจะผสมอยู่ในขนม ลูกกวาด สลิ่ม สีย้อมเหล่านี้เป็นปัจจัยเสริมอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งของท่อน้ำดีในตับและมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

2.2 อาหารที่มีสารไนโตรซามีนส์
สารนี้จะพบได้ในอาหาร 3 ประเภทคือ อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์หมัก อาหารที่มีดินประสิวเจือปนในปริมาณมากเกินไป และอาหารที่มีดีดีที อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์หมักได้แก่ ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาเจ่า ปลาส้ม หมูส้ม แหนม ปลาเค็ม เนื้อเค็ม กะปิ กุนเชียง อาหารประเภทนี้มีไนโตรซามีนส์มาก เกิดจากการสลายตัวของสารโปรตีน ส่วนอาหารที่ผสมดินประสิวนั้น แต่เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เนื้อสัตว์เปื่อยและมีสีแดงน่ากิน แต่ในปัจจุบันมักจะใช้ดินประสิวในแง่ของการถนอมอาหาร ฉะนั้นจึงผสมดินประสิวในปริมาณที่สูงมาก เมื่อกินดินประสิว (โพแทสเซียมไนเตรต) เข้าไป จะทำปฏิกิริยากับสารเอมีนส์ทุติยภูมิในกระเพาะอาหารเป็นไนโตรซามีนส์ ยาฆ่าแมลงประเภทดีดีทีที่ปนเปื้อนมากับอาหารเช่นกัน เมื่อกินเข้าไปในร่างกายก็จะแปรสภาพเป็นไดไนโตรซามีนส์ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งเช่นกัน แต่เป็นที่โชคดีที่สารไนโตรซามีนส์นี้จะเปลี่ยนสภาพไปถ้าโดนความร้อนขนาด 90-100 องศาเซลเซียส ฉะนั้นถ้าจะกินอาหารที่มีไนโตรซามีนส์ก็ขอให้ทำให้สุกเสียก่อน เช่น จะกินปลาร้าสับก็เปลี่ยนเป็นปลาร้าหลนเสีย หรือแหนมก็ชุบไข่ทอดเสีย ซึ่งนอกจากจะปลอดภัยในแง่การเกิดมะเร็งแล้ว ยังปลอดภัยจากโรคพยาธิอีกด้วย

2.3 อาหารประเภทเนื้อสัตว์ปิ้ง ย่าง รมควัน
การปรุงอาหารด้วยวิธีปิ้ง ย่าง รมควัน เช่น ไก่ย่าง หมูปิ้ง ลูกชิ้นปิ้ง ไส้กรอกปิ้ง ฯลฯ หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ที่ไหม้เกรียม จะทำให้เกิดสารเคมีประเภทไฮโดรคาร์บอน เป็นสารที่ก่อมะเร็งอีกชนิดหนึ่ง

2.4 อาหารที่เข้าสารหนู
ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปของยารักษาโรค ทั้งยาจีน ยาไทยและยาฝรั่ง ซึ่งปัจจุบันนี้มียาจีนหลายยี่ห้อที่ใช้รักษาโรคเรื้อนกวางมีสารหนูเป็นส่วนผสม สารหนูนี้ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง

2.5 บุหรี่
การสูบบุหรี่จะเกิดสารเบนโซพัยรีนจากการเผาไหม้ของน้ำมันดินหรือทาร์ ซึ่งเป็นที่ยืนยันว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุโดยตรงของมะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ การงดสูบบุหรี่อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่สูบเป็นประจำ แต่ถ้าจะลดปริมาณให้น้อยลงก็จะดี หรือเวลาสูบอย่าอัดเข้าปอดแรงๆ หรืออย่าสูบก่อนนอน เพราะสารเคมีจากการเผาไหม้ของทาร์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดและถูกขับถ่ายทางปัสสาวะ เวลานอนจะต้องกลั้นปัสสาวะ โอกาสที่สารก่อมะเร็งตัวนี้จะไประคายต่อเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะจึงมีมาก

3. ฮอร์โมน ส่วนมากจะอยู่ในรูปของยารักษาโรค ถ้าหากได้รับไปอย่างไม่ถูกต้องก็อาจจะทำให้เป็นมะเร็งได้ เช่น ฮอร์โมนเพศหญิงทำให้เกิดมะเร็งเต้านม ฮอร์โมนเพศชายทำให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก

4. เชื้อไวรัส ได้มีการพิสูจน์มาแล้วว่า ไวรัสหลายชนิดทำให้เกิดมะเร็งในอวัยวะต่างๆได้ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิด “โรคเริม” ตามผิวหนัง ริมฝีปาก และบริเวณอวัยวะเพศ เป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก

5. สารพิษหรือทอกซิน สารพิษจากเชื้อรา เช่น อะฟลาทอกซินมีในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด มะพร้าว หัวหอม หัวกระเทียม พริกแห้ง ซึ่งอะฟลาทอกซินนี้จะไม่ถูกทำลายโดยความร้อน เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เป็นมะเร็งตับ ฉะนั้น ถ้าสงสัยว่าอาหารจะมีสารพิษนี้ควรจะทิ้งเสีย อย่าเสียดายโดยเอาไปอุ่นทำให้ร้อน จริงอยู่เชื้อราอาจจะตาย แต่สารพิษตัวนี้ยังคงอยู่ในสภาพเดิม ถ้าความร้อนนั้นกว่า 263 องศาเซลเซียส

6. พยาธิบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ในตับ พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเกิดจากการกินปลาน้ำจืดแบบสุกๆดิบๆ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดีในตับ

7. รังสีต่างๆ ปัจจุบันมีการนำรังสีมาใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งในทางการแพทย์ การเกษตรกรรม การอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นรังสีเอกซ์ รังสีแกมมา รังสีเบตา หรือรังสีแอลฟาจากสารกัมมันตรังสี เมื่อร่างกายได้รับรังสีเหล่านี้เป็นเวลานานๆ แม้จะครั้งละน้อยๆก็ตาม จะมีโอกาสเกิดมะเร็งได้ทุกๆอวัยวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมธัยรอยด์ นอกจากนี้แสงแดดและรังสีอัลตราไวโอเลต ก็ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้

ที่มา
http://www.doctor.or.th/node/3847

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น