วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

ดุลยภาพบำบัดศาสตร์แห่งความสมดุล

ดุลยภาพบำบัดศาสตร์แห่งความสมดุล

ดุลยภาพบำบัดคืออะไร
ดุลยภาพบำบัด คือ วิธีการป้องกันบำบัดรักษาโรค และบำรุงสุขภาพ ด้วยการปรับ ความสมดุลโครงสร้างของร่างกาย ดุลยภาพบำบัดจึงเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ด้านสุขภาพและการแพทย์ที่ประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานทางกายวิภาคและสรีรวิทยาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อป้องกันและรักษาโรคด้วยตนเอง

หลักการสำคัญในการป้องกันโรค คือ การให้แนวคิด มุมมอง รวมทั้งวิธีการวิเคราะห์ องค์ประกอบที่เป็นเหตุปัจจัยหลักของสุขภาพปกติ และสาเหตุเบื้องต้นที่แท้จริงของความเจ็บป่วย ส่วนใหญ่ดุลยภาพบำบัดจึงเป็นแนวทางนำไปสู่วิธีการใหม่ในการปกป้อง ดูแลส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน

ส่วนในกรณีที่เกิดการเจ็บป่วยขึ้นแล้ว จะใช้วิธีการบำบัดรักษาที่สาเหตุ ต้นตอของ ความเจ็บป่วยแต่ละชนิด ด้วยวิธีการที่สอดคล้องกับกระบวนการธรรมชาติของโครงสร้างของร่างกาย โดยไม่ใช้ยาหรือสารเคมีใดๆ แต่อาศัยการบริหารร่างกายตนเองเป็นหลักสำคัญ


ดุลยภาพบำบัดมีวิธีปฏิบัติอย่างไร
ดุลยภาพบำบัดมีวิธีปฏิบัติที่ทำให้โครงสร้างของร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลตลอดเวลา ภาวะสมดุลนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีวิธีปฏิบัติที่ทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และพังผืดในทุกส่วนของร่างกาย มีการหดตัวและคลายตัวเป็นปกติ วิธีปฏิบัติตามหลักดุลยภาพบำบัดนี้ มี องค์ประกอบ 4 ประการ คือ

1. การระวังรักษาอิริยาบถต่างๆ ให้สมดุลตลอดเวลา
2. การบริหารจัดโครงสร้างของร่างกายให้สมดุล
3. การออกกำลังกายเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการรักษาสมดุล
4. การผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เพื่อให้เกิดการไหลเวียนที่ดี

แนวคิดของดุลยภาพ
1. ดุลยภาพบำบัด คือ วิธีการป้องกันบำบัดรักษาโรคและบำรุงสุขภาพ ด้วยการปรับ ความสมดุลโครงสร้างของร่างกาย
2. การระวังรักษาภาวะสมดุลของอิริยาบถ หมายถึง ในการนั่ง นอน ยืน เดิน วิ่ง ทำงานหรือกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ต้องฝึกตัวเองให้มีสติระวังรักษาแนวกระดูกสันหลังให้อยู่ใน แนวแกนปกติของร่างกายอยู่เสมอ
3. การบริหารเพื่อจัดโครงสร้างของร่างกาย คือ การบริหารร่างกายเพื่อจัดการให้โครงสร้างของร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลเสมอ

การเคลื่อนไหวร่างกายในท่าใดๆ ไม่ว่าการยืน เดิน นั่ง นอน ถ้าจะให้ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุล เป็นปกติตามธรรมชาติคือ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และพังผืดทั่วร่างกายไม่เครียด ไม่เกร็ง ต้องพยายามรักษาแนวแกนร่างกายให้อยู่ในแนวตรง ตั้งได้ฉากกับพื้นผิวโลกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นผลให้อวัยวะทั่วร่างกาย สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างถูกต้องสมบูรณ

หลักการและทฤษฎีดุลยภาพบำบัด
1. ร่างกายมนุษย์ มีธรรมชาติที่สามารถดูแลซ่อมแซมและพัฒนาตนเองให้ทุกส่วนดำรงสภาพและหน้าที่ปกติได้ตลอดอายุขัยที่ยืนยาวประมาณ ๑๐๐ ปี หากมีปัจจัยสนับสนุนที่เป็นปกติไม่บกพร่องอยู่เสมอ
2. ปัจจัยสนับสนุนภายนอก ได้แก่ อากาศ น้ำ อาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ โดยทั่วไปในปัจจุบันถือได้ว่าได้รับการเอาใจใส่ดูแลให้ร่างกายแต่ละคนได้รับเป็นปกติไม่บกพร่อง
3. สาเหตุที่แท้จริงของโรคส่วนใหญ่ที่พบกันโดยทั่วไปในปัจจุบันจึงไม่น่าจะเนื่องจากปัญหาของปัจจัยสนับสนุนภายนอกดังกล่าว
4. ปัจจัยสนับสนุนภายในที่จะช่วยให้เซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ และระบบทั้งหลายในร่างกายสามารถทำหน้าที่และดำรงสภาพปกติได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญพื้นฐานมี 3 ประการได้แก่
4.1 การลำเลียงออกซิเจน น้ำ และสารอาหาร ไปเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ อย่างเพียงพอต่อเนื่องและทั่วถึง
4.2 การสื่อสารที่ครบถ้วนทันการณ์อย่างต่อเนื่องและทั่วถึงระหว่างเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ และระบบต่าง ๆ โดยอาศัยสัญญาณประสาทและฮอร์โมน และ
4.3 การระบายของเสียจากกระบวนการชีวะวิทยาออกจากเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะต่าง ๆ อย่างทันการณ์
5. ความบกพร่องในปัจจัยสนับสนุนภายในที่สำคัญและเป็นพื้นฐานดังกล่าวแม้เพียงประการเดียวก็จะส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ หรือระบบนั้น ๆ ได้
6. สาเหตุที่แท้จริงของโรคส่วนใหญ่ จึงเนื่องมาจากความบกพร่องของปัจจัยสนับสนุนภายในดังกล่าว
7. เส้นเลือด ท่อน้ำเหลือง และช่องว่างในเนื้อเยื่อ เป็นเส้นทางลำเลียงออกซิเจน น้ำ สารอาหาร และฮอร์โมน ไปให้ทั่วถึง และยังเป็นเส้นทางระบายของเสียออกมาจากทุกส่วนด้วย ส่วนเส้นประสาทและช่องว่างในเนื้อเยื่อ เป็นเส้นทางรับส่งสัญญาณประสาท
8. เส้นทางดังกล่าวข้างต้น อาจถูกขัดขวางทั้งโดยตรงและโดยอ้อมได้โดยง่าย โดยการหดเกร็งที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อและพังผืดในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเนื่องมาจากการเสียสมดุลโครงสร้าง
9. การเสียสมดุลในโครงสร้างของร่างกายและการดึงรั้งที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อและพังผืดในร่างกาย จึงเป็นสาเหตุเบื้องต้นที่สำคัญของโรคและความเจ็บป่วยส่วนใหญ่
10. การวินิจฉัยโรค การบำบัดรักษา และการดูแลสุขภาพ จึงต้องคำนึงถึงความสมดุลของโครงสร้างเป็นปัจจัยหลักสำคัญอันดับแรก

โรคที่รักษาได้ด้วยดุลยภาพบำบัด
เนื่องจากดุลยภาพบำบัด มีแนวทางการวิเคราะห์โรคและการบำบัดรักษาที่ต่างไปจากการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์ทางเลือกที่แยกเป็นสาขา ๆ โดยทั่วไป แต่เป็นการผสมผสานองค์ความรู้และภูมิปัญญาหลายด้านอย่างเป็นองค์รวม จึงสามารถประยุกต์ใช้บำบัดรักษาโรคหรืออาการป่วยใดใดก็ตามที่สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุและกลไกของโรคตามแนวทางดุลยภาพบำบัดได้อย่างชัดเจน และใช้วิธีการดุลยภาพบำบัดแก้ไขสาเหตุและกลไกเหล่านั้นได้

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราควรจะประยุกต์ใช้วิชาดุลยภาพบำบัดได้ในทุกสาขาการแพทย์และทุกโรค เพื่อจะได้ทราบและสามารถกำจัดและป้องกันสมุฏฐานของโรคนั้น ๆ อย่างครบถ้วนตลอดไปจนถึงโรคและอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แม้บางโรค อาจมีความจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องได้รับบำบัดรักษาด้วยยา สารเคมี ผ่าตัด หรือเทคนิควิธีการเฉพาะทาง แต่ดุลยภาพบำบัดก็ยังมีประโยชน์ ในการช่วยเสริมให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้นช่วยให้สุขภาพโดยรวมดียิ่งขึ้น

ตัวอย่างโรคและอาการที่สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุและกลไกได้อย่างชัดเจนและบำบัดรักษาได้ผลในเวลาอันสั้น รวดเร็วและหายได้อย่างยั่งยืน ได้แก่
- อาการปวดทั้งหลาย เช่น ปวดศีรษะ ไมเกรน ปวดคอ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดข้อ ปวดประสาท เป็นต้น
- โรคเกี่ยวกับกระดูก ข้อและกล้ามเนื้อ เช่น ปวดข้อ ข้อเสื่อม ข้อกระดูกคอหรือกระดูกสันหลังเสื่อม ปัญหาเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
- โรคเกี่ยวกับตา หู คอ จมูก เช่น ตาแห้ง ตาระคายเคืองเรื้อรัง ตาแพ้แสง เจ็บคอบ่อยหรือเรื้อรัง ปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัว อาการคัดจมูกน้ำมูกไหลแบบที่เรียกว่าภูมิแพ้ เป็นต้น
ยังมีโรคและอาการอื่น ๆ อีกมากที่อาจบำบัดรักษาได้ผลด้วยวิชาดุลยภาพบำบัด ซึ่งไม่อาจกล่าวถึงโดยละเอียดได้ครบถ้วน นอกจากนี้ ดุลยภาพบำบัดยังใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่ไม่สบายด้วยหลายอาการหลายระบบร่วมกัน เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ใจสั่น เหนื่อยง่าย ปวดเมื่อย ท้องอืด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยดุลยภาพบำบัด

1. การตรวจและวินิจฉัยโรค
แพทย์ดุลยภาพบำบัด อาศัยประสาทสัมผัสหรืออายตนทวารทั้งหกประกอบกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบันตะวันตกทั้งในทางลึกและทางกว้าง ในการรับทราบอาการและตรวจหาความผิดปกติในตัวผู้ป่วย พร้อมทั้งวิเคราะห์หาสาเหตุและกลไกที่ทำให้เกิดอาการและความผิดปกติเหล่านั้น ซึ่งเกี่ยวโยงกันไปทั่วทั้งร่างกายและจิตใจ

แพทย์ดุลยภาพบำบัดจะวิเคราะห์สืบย้อนไปจากอาการที่ผู้ป่วยแจ้งและสิ่งที่แพทย์ตรวจพบ ว่าเนื่องมาจากความบกพร่องในการทำหน้าที่ของเซลล์ เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะใดบ้าง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความบกพร่องในการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองหรือการรับส่งสัญญาณประสาทส่วนใดบ้าง ซึ่งเกิดจากการขัดขวางโดยกล้ามเนื้อและพังผืดที่หดเกร็งผิดปกติ ณ ส่วนใด และเนื่องมาจากการเสียสมดุลของโครงสร้างร่างกายส่วนใด และยังวิเคราะห์ไปในทางตรงข้ามด้วย

การตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวจะพบว่า อาการและความผิดปกติทั้งหลาย ที่ผู้ป่วยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ล้วนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งสิ้น และล้วนสืบเนื่องมาจากการเสียสมดุลในโครงสร้างของร่างกาย
แพทย์ดุลยภาพบำบัด ไม่ถือเอาการวินิจฉัยชื่อโรคหรือบอกว่าเป็นโรคอะไรเป็นข้อยุติ แต่จะวิเคราะห์และอธิบายให้ผู้รับการรักษาได้ทราบความเป็นไปภายในตนเองโดยละเอียดตามแนวทางที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

2. การบำบัดรักษา
วิชาดุลยภาพบำบัดผสมผสานและประยุกต์ใช้องค์ความรู้และวิธีการบำบัดรักษาที่สอดคล้องกับกระบวนการธรรมชาติของร่างกาย เพื่อให้การส่งสัญญาณประสาทและการไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลืองกลับสู่ภาวะปกติ เพื่อให้เซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะและระบบต่าง ๆ สามารถทำหน้าที่และซ่อมแซมตนเองให้เป็นปกติได้อย่างต่อเนื่องตามธรรมชาติ โดยการประยุกต์ใช้เข็มและการนวดเป็นหลักในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและพังผืดที่เป็นปัญหา ร่วมกับการฝึกบริหารร่างกายและการปรับปรุงท่าทางเพื่อแก้ไขและรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของโครงสร้างของร่างกาย

การบำบัดรักษาตามแนวทางดุลยภาพบำบัดจะได้ผลสมบูรณ์เต็มที่ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจเป็นอันดีระหว่างแพทย์กับผู้รับการรักษา

แพทย์ผู้รักษา จะเป็นผู้ให้ความรู้ความเข้าใจที่กระจ่างชัดถึงสาเหตุและกลไกที่ทำให้เกิดโรคที่เป็นอยู่รวมทั้งความผิดปกติอื่น ๆ ที่แพทย์ตรวจพบ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่เป็นเหตุให้เสียสมดุลภาวะของร่างกาย รวมถึงกระบวนการและวิธีการบำบัดรักษาและวิธีการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง แล้วแพทย์จึงให้การบำบัดรักษาโดยการกำจัดสาเหตุของปัญหาในส่วนที่ผู้ป่วยไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องอาศัยเทคนิควิธีการและความชำนาญของแพทย์ช่วยแก้ไขให้

ส่วนผู้รับการรักษาจะต้องเข้าใจและตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับปรุงพฤติกรรมของตนเองในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการหายใจ การรักษาท่าทางที่ถูกต้องในทุกอิริยาบถและกิจกรรมของชีวิต และการบริหารร่างกาย ทั้งนี้ เพื่อการดำรงรักษาภาวะสมดุลอย่างเป็นพลวัตไว้เสมอ

ที่มา ;
www.drtaworn.com/ - 54k -
http://www.7stepsdetox.com/images/pic86.jpg
http//main.dou.us/view_content.php?s_id=257 - 26k –
http://www.maeban.co.th/img_board/b0858141925.jpg
http://www.yenta4.com/webboard/upload_images/1112994.jpg’
http://www.247freemag.com/_admin/photo/2470002133.jpg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น