วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

การฝังเข็ม..กดจุดลมปราณแห่งการรักษา

การฝังเข็ม..กดจุดลมปราณแห่งการรักษา

ประเทศจีน มีประวัติศาสตร์ และอารยธรรมอันรุ่งเรืองยาวนานหลายพันปี การแพทย์แผนจีน และการฝังเข็มเป็นศาสตร์หนึ่งที่ได้สืบทอดต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ยอมรับของชาวจีน ชาวตะวันออก และประเทศในแถบตะวันตก กระทั่งองค์การอนามัยโลกหรือ WHO (World Health Organization) ได้ประกาศรับรองผลการรักษาโรค ด้วยวิธีนี้มาตั้งแต่ ปี 1979 ซึ่งการฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาอย่างหนึ่งตามหลักแพทย์จีนที่แพร่หลายและได้รับความนิยมในหลายประเทศในโลก

สำหรับ ประเทศไทย เองก็มีผลงานด้านการบำบัดรักษาด้วยเวชกรรมแผนจีน และฝังเข็มมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี แล้ว


การฝังเข็มมีประวัติความเป็นมาอย่างไร
การฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาโรคที่มีมานานไม่ต่ำกว่า 2000 ปี เพราะมีการบันทึกไว้ในคัมภีร์
หวังตี้เน่ยจิง ซึ่งเขียนเมื่อประมาณ 2000 ปี โดยเริ่มจากการที่ชาวจีนโบราณสังเกตว่า เมื่อบาดแผลจาก
การบาดเจ็บด้วยของทิ่มแทงหายทุเลาลง โรคประจำตัวบางอย่างหายไป และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า มีการใช้เข็มที่ทำจากหิน กระดูกสัตว์ เข็มไม้ไผ่ เข็มโลหะ เช่น เข็มทอง เข็มเงินในการรักษา ซึ่งในปัจจุบันนี้จะใช้เป็นเข็มเหล็กสแตนเลส

เนื่องจากการฝังเข็มเป็นวิชาการรักษาที่ทำได้สะดวกเพราะใช้เครื่องมือน้อย จึงเป็นที่นิยมจนเป็นการแพทย์ทางเลือกในประเทศต่างๆ องค์การอนามัยโลกจึงให้ความสนใจและจัดการประชุมฝังเข็มนานาชาติ รวมทั้งกำหนดรายชื่อโรคต่าง ๆ ที่อาจใช้การฝังเข็มเป็นการรักษา ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งหมด 57 โรค และมีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย และแนวทางการฝึกอบรมการฝังเข็ม

การฝังเข็มกับมุมมองทางวิทยาศาสตร์
การฝังเข็มเป็นการใช้เข็มแทงผ่านไปยังบริเวณจุดฝังเข็มเพื่อปรับสมดุลของร่างกาย จุดฝังเข็มจะเป็นจุดที่มีอยู่บนแนวเส้นลมปราณและจุดนอกระบบที่สามารถรักษาอาการต่างๆ ได้ โดยทั่วไปจะเน้นจุดในระบบตามแนวเส้นลมปราณเพื่อปรับสภาพสมดุล เข็มที่ใช้จะเป็นเข็มขนาดเล็กมากและมีลักษณะตันคล้ายเข็มเย็บผ้าแต่เล็กและอ่อนกว่า โดยทั่วไปเข็มจะมีความยาวประมาณ 25 – 50 มิลลิเมตร แต่อาจจะสั้นหรือยาวกว่านี้ได้ขึ้นอยู่กับส่วนของร่างกายที่จะฝังเข็ม ผู้ป่วยอาจจะเจ็บเล็กน้อยหรือไม่เจ็บเลยโดยจะมีความรู้สึกเจ็บในช่วงที่เข็มผ่านผิวหนังเท่านั้น การฝังเข็มโดยทั่วไปจะคาเข็มไว้ในร่างกายประมาณ 15 – 20 นาที แต่ก็มีบางรายที่ถอนเข็มออกหลังจากการฝังเข็มทันที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการรักษา

มุมมองด้านวิทยาศาสตร์ ได้มีการศึกษาว่าการฝังเข็มให้ผลการรักษาอย่างไรโดยมีการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย พบว่าการฝังเข็มช่วยกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเคมีในร่างกายที่มีฤทธิ์ระงับปวดและหรือลดการอักเสบ

วิวัฒนาการของการฝังเข็มในปัจจุบัน
ในอดีตการฝังเข็มจะจำกัดอยู่เฉพาะการฝังตามจุดฝังเข็มที่อยู่บนลำตัว และใช้เทคนิคการปั่นเข็มแบบต่างๆ ของแพทย์ผู้ให้การรักษา แต่ปัจจุบันจะมีการกระตุ้นไฟฟ้าที่เข็ม การใช้แสงเลเซอร์แทนการฝังเข็ม นอกจากนี้ยังมีการฝังเข็มเฉพาะส่วนของร่างกายซึ่งที่พบเห็นบ่อย คือ การฝังเข็มที่ใบหู ศีรษะ เป็นต้น โดยส่วนของร่างกายดังกล่าวจะมีแผนภูมิร่างกายและอวัยวะภายในอยู่ เช่น ที่ใบหูจะมีรูปลักษณะคนที่งอเข่าและสะโพกอยู่ โดยศีรษะจะอยู่ที่บริเวณติ่งหู

โรคและอาการที่สามารถรักษาบรรเทาโดยการฝังเข็ม
ในปัจจุบันมีโรคหรืออาการที่สามารถรักษาบรรเทาได้ด้วยการฝังเข็มและได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกทั้งหมด 57 โรคหรืออาการซึ่งผู้สนใจสามารถเปิดชมได้ที่ website www.thaiacupuncture.org ในที่นี้จะกล่าวถึงเป็นกลุ่มๆ คือ
1. กลุ่มอาการปวดชนิดต่าง ๆ เช่นปวดกล้ามเนื้อ ปวดเอ็น ปวดข้อ ปวดในผู้ป่วยมะเร็ง
2. กลุ่มโรคทางระบบประสาทและจิตใจ
3. กลุ่มโรคทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเดิน
4. กลุ่มโรคระบบหายใจ เช่น ภูมิแพ้จมูก หอบหืด
5. กลุ่มโรคหลอดเลือด
6. อื่น ๆ เช่น ลดความอ้วน

ข้อควรระวังในการฝังเข็ม
1. ความรู้ของผู้ให้การรักษา
2. ความสะอาด
3. ปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่น เป็นลม ติดเชื้อ เป็นต้น และภาวะที่ควรระวังหรือห้ามฝังเข็ม ได้แก่ การตั้งครรภ์ การมีเลือดออกง่าย ภาวะที่ไม่ทราบการวินิจฉัยที่แน่นอน มะเร็งและโรคที่ต้องการรักษาด้วยการผ่าตัด

ที่มา :
www.si.mahidol.ac.th/department/rehabilitation/home/sara1.htm - 26k -
http://www.piyavate.com/chinese-medical-center_th.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น