วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ความมืดมีประโยชน์ ช่วยต้านมะเร็ง แถมลดน้ำหนัก

ความมืดมีประโยชน์ ช่วยต้านมะเร็ง แถมลดน้ำหนัก



ชีวิตในความมืดก็มีประโยชน์ ช่วยต้านมะเร็งอีกทั้งลดน้ำหนัก (ไทยโพสต์)

นักวิชาการต่างประเทศชี้ว่า ความมืดเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับโรคมะเร็ง และช่วยลดน้ำหนักตัวได้ด้วย

โดย ดร.นีล สแตนลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ บอกว่า "แสงสว่างจากกระแสไฟฟ้าที่เราใช้กันตามบ้านและสำนักงานเกือบตลอด 24 ชั่วโมงนั้น สามารถก่อผลลบต่อร่างกายและจิตใจได้ เราจำเป็นต้องได้รับความมืดด้วย ไม่ใช่ได้รับแต่แสงสว่างอย่างเดียว

"เราไม่ได้ให้ความเคารพแก่ความมืดเหมือนที่บรรพบุรุษของเราทำ ผลคือปัญหาสุขภาพตามมาหลายอย่าง"

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า การได้รับแสงสว่างมากเกินไปในเวลากลางคืน มีความเชื่อมโยงกับมะเร็งเต้านม ซึ่งจากรายงานวิจัยของสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐระบุว่า ในขณะที่ประวัติคนในครอบครัว การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และการได้รับสารอาหารไม่พอ เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งเต้านมนั้น การได้รับแสงสว่างจากไฟฟ้ามากไปในเวลากลางคืนก็สามารถลดภูมิต้านทานของคนเราต่อโรคนี้ด้วย

แสงสว่างในตอนกลางคืนจะรบกวนการผลิต "ฮอร์โมนความมืด" นั่นคือ เมลาโทนิน ซึ่งเป็นสารตามธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ช่วยต้านมะเร็ง ผลิตจากต่อมไพเนียล หรือต่อมใต้สมอง เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิดได้ โดยเฉพาะเมื่อทำงานร่วมกับยาต้านมะเร็งบางชนิด นอกจากนี้ เมลาโทนินยังช่วยกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ซึ่งคอยโจมตีเนื้องอกด้วย

ความมืดไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อมะเร็งเต้านมเท่านั้น นักวิจัยของมหาวิทยาลัยไฮฟาในอิสราเอล ยังพบว่า ในประเทศที่ติดไฟส่องสว่างตามท้องถนนอย่างมากมาย จะมีคนเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในอัตราสูง ซึ่งแสงสว่างจากไฟฟ้าไม่เพียงยับยั้งการผลิตเมลาโทนิน หากยังบั่นทอนระบบภูมิคุ้มกัน และรบกวนนาฬิกาชีวภาพในร่างกายด้วย ทั้งหมดนี้จะลดการต่อต้านมะเร็งต่อมลูกหมากตามธรรมชาติ

"นี่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องย้อนเวลากลับไปในยุคกลาง ปิดไฟให้มืดหมด" ศาสตราจารย์อับราฮัม อาอิม บอก "แต่เราต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เมื่อกำหนดนโยบายพลังงาน"

เขาพบว่า ผู้ชายในกลุ่มประเทศที่ได้รับไฟส่องสว่างตอนกลางคืนสูงที่สุด จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 80% ต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เมื่อเทียบกับผู้ชายในกลุ่มที่ได้รับแสงสว่างตอนกลางคืนน้อยที่สุด

นอกจากนั้นแล้ว ความมืดยังส่งผลดีดังนี้

ช่วยให้อารมณ์ดี

การไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในความมืดสามารถส่งผลต่ออารมณ์ของคนเราได้ นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยโอไฮโอพบว่า การดูทีวีจนดึกดื่นจะทำให้ซึมเศร้า อันเป็นผลจากแสงที่ปล่อยมาจากหน้าจอ ดังเช่น เมื่อหนูทดลองถูกเลี้ยงไว้ในห้องที่เปิดไฟตลอด 24 ชั่วโมง พวกมันมีอาการซึมเศร้ากว่าพวกหนูที่อยู่ในแสงสว่างสลับความมืดเป็นวงจร

ศาสตราจารย์แรนดี เนลสัน หัวหน้าทีมวิจัย บอกว่า แสงสีฟ้าจากจอโทรทัศน์ได้ยับยั้งฮอร์โมนเมลาโทนินซึ่งช่วยให้อารมณ์ดี ดังนั้นการดูทีวีจนดึกดื่นจึงทำให้อารมณ์ไม่แจ่มใส

"อัตราการเป็นโรคซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้น มีความสัมพันธ์กับการใช้แสงสว่างเพิ่มขึ้นในเวลากลางคืนของสังคมสมัยใหม่" ศาสตราจารย์แรนดี บอก

ช่วยให้นอนหลับ

ผลวิจัยบอกว่า แสงสว่าง ทั้งแสงตามธรรมชาติและแสงจากไฟฟ้า เป็นปัจจัยที่ทำให้นอนหลับได้ไม่ดี งานของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียแสดงให้เห็นว่า คนงานระบบกะที่ได้นอนหลับในห้องที่มีการดับไฟหรือม่านบังแสง จะนอนหลับได้ดีกว่าคนที่นอนในห้องที่สว่าง

นักวิจัยบางรายพบว่า การใส่ผ้าปิดตาในตอนกลางคืนจะช่วยให้คนที่นอนไม่ค่อยหลับสามารถหลับได้ดีขึ้น ในช่วงพักผ่อนตอนกลางคืนนั้น สมองจะเปลี่ยนสิ่งที่ได้ประสบพบเห็นเป็นความทรงจำ และพัฒนาขีดความสามารถในการเรียนรู้ ขณะที่ร่างกายจะผลิตเซลล์ใหม่ขึ้นทดแทนเซลล์เก่า และเติมพลังแก่อวัยวะและกล้ามเนื้อ

ช่วยลดน้ำหนักตัว

เมื่อถึงยามกลางคืน การดับไฟอยู่ในที่มืดจะช่วยลดการกินจุบกินจิบในตอนดึก คนที่ใช้ชีวิตในแสงสว่างมาก ๆ มักไม่สามารถลดน้ำหนักตัวได้ ความมืดเป็นสิ่งส่งสัญญาณว่าเราต้องการนอนหลับ แสงสว่างเป็นสิ่งส่งสัญญาณว่าเราต้องตื่นและกิน ถ้าละเลยจังหวะตามธรรมชาติของกลางวันสลับกลางคืน เราก็จะกินมากขึ้นในเวลาที่ไม่ควรกิน

การกินในยามค่ำคืนยังรบกวนการทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น เลปติน, คอร์ติโซล, และอินซูลิน ที่ควบคุมความอยากอาหารและระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าฮอร์โมนเหล่านี้ถูกรบกวนเพราะเราไม่ยอมนอนเมื่อถึงเวลากลางคืน เมื่อเวลาผ่านไปการเผาผลาญอาหารจะช้าลง ความอยากอาหารจะเพิ่มขึ้น สถิติบ่งชี้ว่า ผู้หญิงที่กินตอนกลางคืน จะกินอาหารประเภทน้ำตาลและไขมันมากกว่าผู้หญิงที่นอนหลับตามความจำเป็นถึง 33% เลยทีเดียว

ตั้งนาฬิกาชีวภาพใหม่

ความมืดเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาความเที่ยงตรงของนาฬิกาในตัวเรา แต่ขณะที่บรรพบุรุษของเราเข้านอนเมื่อมืดลง และนอนเร็วขึ้นในฤดูหนาวนั้น พวกเรากลับตื่นอยู่จนดึกดื่นค่อนคืน บางคนยังคงช็อปปิ้ง ทำงาน ใช้คอมพิวเตอร์ ดูทีวี หรือนอนหลับก็ยังเปิดไฟ การรบกวนวงจรเวลาของร่างกายเช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหลายอย่าง ตั้งแต่ความเครียด โรคหัวใจร่วมหลอดเลือด อาหารไม่ย่อย แผลเปื่อยพุพอง

ข้อแนะนำก็คือ ปิดทีวีให้เร็วขึ้น ให้เวลาตัวเองปรับตัวเข้ากับความมืด ปล่อยให้ร่างกายเปิดสวิตช์ผลิตเมลาโทนิน

ที่มา
http://health.kapook.com/view35283.html

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ระวัง!! อยู่เฉย ๆ เป็นมะเร็งเต้านมไม่รู้ตัว

ระวัง!! อยู่เฉย ๆ เป็นมะเร็งเต้านมไม่รู้ตัว

มะเร็งเต้านม โรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้หญิงมานักต่อนักแล้วนะคะ หลายคนพยายามหาวิธีป้องกันสารพัดรูปแบบ แต่รู้หรือไม่วิธีการที่ง่ายที่สุด ก็คือการออกกำลังกายนั่นเอง หากคุณไม่คิดจะขยับตัวบ้าง มัวแต่นั่งเฉย ๆ ระวังโรคร้ายอาจจะถามหาได้นะคะ

จากรายงานการวิจัยพบว่าผู้หญิงก่อนวัยหมด ประจำเดือนที่ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างการวิ่งช้า ๆ วันละ 4.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือทำกิจกรรมง่าย ๆ ให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว อย่างการเดินไปเดินมา 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สามารถช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้ถึง 9% เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่นั่ง ๆ นอน ๆ ทั้งวันโดยไม่ทำอะไรเลย

นั่นเป็นเพราะว่าการออกกำลังกายจะช่วยลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและอินซูลิน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมลงได้

ได้ฟังอย่างนี้แล้วคุณคงไม่คิดจะนั่งอยู่เฉย ๆ ใช่มั้ยล่ะคะ มาออกกำลังกายกันเถอะสาว ๆ...

แพทย์เตือน "จิตตก" เสี่ยงมะเร็งถามหา

แพทย์เตือน "จิตตก" เสี่ยงมะเร็งถามหา

ความผิดปกติของเซลล์ในร่างกายคนเรานั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา แม้ร่างกายจะมีกระบวนการจัดการความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่ถ้าวันใดเกิดจิตตก เครียด วิตกกังวล ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้กลไกทางภูมิคุ้มกันลดลง เซลล์ที่ผิดปกติก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด โดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้มีการสำรวจอุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองไว้ชัดเจน แต่ข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราชชี้ให้เห็นว่า มีคนไข้ใหม่โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอยู่ราว 200-300 รายต่อปี ประมาณการว่าทั้งประเทศน่าจะมีประมาณ 1,000-1,500 รายต่อปี

สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองยังไม่ทราบแน่ชัด แต่แพทย์สันนิษฐานว่ามีความเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น Epstein-Barr virus ซึ่งได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่า เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

คุณหมอบอกว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีกำเนิดมาจากเซลล์ในต่อมน้ำเหลือง โรคนี้แบ่งได้เป็น 2 ชนิดตามลักษณะของชิ้นเนื้อ ได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin lymphoma (NHL) และชนิด Hodgkin disease (HD) โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งสองชนิดจะมีอาการคล้ายกัน คือ มีต่อมน้ำเหลืองโตเป็นหลัก แต่ NHL อาจมีก้อนโตที่อวัยวะอื่น ๆ พบได้บ่อยกว่า เช่น ที่ลำไส้ ปอด สมอง เป็นต้น

"มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรง (High Grade) ที่มีอาการปรากฏชัดเจน ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตเร็วร่วมกับมีอาการอื่น เช่น มีไข้ น้ำหนักลด และมีเหงื่อออกตอนกลางคืน ในขณะที่มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Low Grade) อาการของต่อมน้ำเหลืองจะโตขึ้นอย่างช้า ๆ และอาจไม่มีอาการอื่นเลย" คุณหมอ บอก

สำหรับในประเทศไทย มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบส่วนใหญ่จะเป็นชนิด NHL ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นชนิดย่อย ๆ อีกหลายชนิด แต่ละชนิดจะใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันบ้าง จึงมีความจำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื้อและตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียด เพื่อให้ทราบถึงชนิดที่แท้จริงของมะเร็ง อันจะนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ อาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ อาการที่เกิดขึ้นจากต่อมน้ำเหลืองโต สามารถเห็นและคลำได้ชัดเจน โดยตำแหน่งที่พบบ่อยได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ และขาหนีบ ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นกับต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ภายในร่างกาย เช่น ช่องทรวงอก ช่องท้อง ความรุนแรงของโรคมีความแตกต่างกัน โดยต่อมน้ำเหลืองที่เป็นมะเร็งจะโตเร็วมาก อาจแตกเป็นแผลและมีเลือดออกได้ และหากไม่ได้รับการรักษาแต่ต้น มะเร็งอาจแพร่กระจายไปสู่ระบบต่าง ๆ ของร่างกาย และมีผลทำให้การทำงานของร่างกายล้มเหลวถึงแก่ชีวิต

คุณหมอย้ำว่า คนเรามีเซลล์ผิดปกติที่พร้อมจะกลายเป็นมะเร็งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยร่างกายมีกระบวนการในการจัดการเซลล์ที่ผิดปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดมีจิตตก อาการเครียด กลไกทางภูมิคุ้มกันที่มีอยู่จะลดลง จนทำให้เซลล์ที่ผิดปกติเพิ่มจำนวนมากขึ้นและกลายเป็นก้อนมะเร็งในที่สุด

ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันโรคมะเร็ง คือ พยายามปรับอารมณ์ไม่ให้เครียด วิตกกังวลจนเกินไป และหมั่นตรวจร่างกายสม่ำเสมอเป็นประจำ เพราะหากพบความผิดปกติแต่เนิ่น ๆ การรักษาจะทำได้ดี แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ การรักษาอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

สำหรับเป้าหมายในการรักษาโรคมะเร็งที่ดีที่สุดก็คือ การรักษาให้หายขาด แต่ถ้ารักษาให้หายขาดไม่ได้ก็พยายามรักษาไม่ให้โรคลุกลามต่อไป

ความเข้าใจผิดที่ว่าคนที่เป็นโรคมะเร็งควรงดอาหารประเภทโปรตีน เนื่องจากโปรตีนมีส่วนทำให้เซลล์มะเร็งให้โตนั้น คุณหมอยืนยันว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะร่างกายมีความจำเป็นต้องได้รับอาหารครบทั้ง 5 หมู่ อีกทั้งร่างกายจำเป็นต้องใช้โปรตีนในการซ่อมแซมความสึกหรอต่าง ๆ ของร่างกาย คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ถ้าเซลล์ปกติจะต้องขาดโปรตีนไปด้วย

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีความซับซ้อนและแบ่งเป็นหลายชนิด รวมทั้งมีอาการหลายลักษณะ ซึ่งต้องใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องแม่นยำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

ที่มา
ไทยโพสต์

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปริศนา “มะเร็งตับอ่อน” คร่าทั้งโนเบลแพทย์ และ “สตีฟ จ็อบส์”


สตีฟ จ็อบส์ (เอเอฟพี)


ราล์ฟ สไตน์มัน (เอเอฟพี)



ปริศนา “มะเร็งตับอ่อน” คร่าทั้งโนเบลแพทย์ และ “สตีฟ จ็อบส์”

แม้ชื่อ “มะเร็งตับอ่อน” เหมือนกัน แต่โรคร้ายที่คร่าชีวิต “ราล์ฟ สไตน์มัน” นักวิทย์โนเบลแพทย์ปีล่าสุด และ “สตีฟ จ็อบส์” กลับแตกต่างกัน สำหรับมะเร็งที่คร่านักวิจัยสหรัฐฯ นั้นร้ายแรงยิ่งกว่ามะเร็งที่พรากชีวิตอัจฉริยะแห่งวงการไอที แต่ถึงอย่างนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจในปริศนาของโรคนี้

ในระยะเวลาห่างกันไม่ถึงสัปดาห์ “ราล์ฟ สไตน์มัน” (Ralph Steinman) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ประจำปี 2011 และ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) อัจฉริยะแห่งวงการไอที ต่างลาโลกด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน (Pancreatic Cancer) โดยสไตน์มันเสียชีวิตเพียง 3 วันก่อนหน้าประกาศผลรางวัลโนเบล ส่วนเจ้าพ่อไอทีจากแอปเปิล (Apple) เสียชีวิตให้หลังได้รับการวินิจฉัย 8 ปี แต่มะเร็งของทั้งสองคนแตกต่างกัน

ทั้งนี้ รายงานจากไซแอนทิฟิกอเมริกันระบุว่า ผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนส่วนใหญ่ประมาณ 53% จะได้รับการวินิจฉัยว่าตัวเองเป็นโรคนี้ก็เมื่อมะเร็งได้ลามไปมากแล้ว ในจำนวนนี้อัตรารอดชีวิตต่ำมาก ซึ่งมีเพียง 1.8% ของผู้ป่วยที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปนานกว่า 5 ปีหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งนี้แล้ว และสำหรับมะเร็งชนิดอัตราผู้รอดชีวิตนาน 5 ปีหลังได้รับการวินิจฉัยมีเพียง 3.3% เท่านั้น

ส่วนกรณีของจ็อบส์ที่มีชีวิตอยู่ต่อนานถึง 8 ปีหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งนี้ ไซแอนทิฟิกอเมริกันรายงานคำอธิบายจาก ลีโอนาร์ด ซอลท์ซ (Leonard Saltz) จากศูนย์บริการมะเร็งทางเดินอาหารของศูนย์มะเร็งเมโมเรียล สโลน-เคทเทอริง (Memorial Sloan-Kettering Cancer Center) สหรัฐฯ ว่าจ็อบส์เป็นมะเร็งชนิดที่ไม่พบบ่อยที่เรียกว่า "มะเร็งนิวโรเอ็นโดไครน์” (neuroendocrine cancer) ซึ่งเกิดจากเซลล์ของต่อมไร้ท่อ โดยเนื้อร้ายจะเติบโตขึ้นช้าๆ และรักษาได้ง่ายกว่ามะเร็งชนิดอื่น

“การมีชีวิตหลายปีหรือแม้แต่เป็นสิบปีขึ้นไปในกรณีเป็นมะเร็งเอ็นโดไครน์นั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลก สำหรับมะเร็งชนิดนี้ที่จ็อบส์เป็นนั้นประเมินได้ว่ามีชีวิตอยู่ต่อได้เป็นปี แต่ในกรณีมะเร็งตับอ่อนทั่วไปนั้นจะอยู่ได้เป็นเดือนเท่านั้น เมื่อคุณเป็นมะเร็งตับอ่อนชนิดนิวโรเอ็นโดไครน์นั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างจากมะเร็งตับอ่อนอย่างมาก” ซอลท์ซกล่าว

กรณีของจ็อบส์นั้นมีชีวิตอยู่ต่อหลายปีตามลักษณะของมะเร็งที่เขาเป็น แต่ในกรณีของสไตน์มันผู้ค้นพบระบบภูมิคุ้มกันจำเพาะ (Adaptive Immune) จนนำไปสู่รางวัลโนเบลอันทรงเกียรตินั้นเป็นมะเร็งตับอ่อนชนิดที่มีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปีหลังได้รับการวินิจฉัย โดย ซาราห์ ชเลซิงเกอร์ (Sarah Schlesinger) ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาและสรีรศาสตร์ระดับเซลล์จากมหาวิทยาลัยรอคกีเฟลเลอร์ (Rockefeller University) สหรัฐฯ ซึ่งทำงานร่วมกับสไตน์มันกล่าวว่า สไตน์เป็นมะเร็งตับอ่อนที่พบได้ทั่วไปและเลวร้ายกว่าอย่างมาก

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามอย่างหนักในการพัฒนาการบำบัดและวินิจฉัยโรคมะเร็งร้ายทั้ง 2 ชนิดให้ดีขึ้น และพยายามหาคำตอบให้ได้ว่า เหตุใดผู้ป่วยคนหนึ่งอาจมีชีวิตอยู่ต่อได้นานถึง 8 ปี ขณะที่ผู้ป่วยอีกคนมีชีวิตได้เพียง 8 เดือนเท่านั้น อย่างไรก็ดี ตามรายงานวารสารไซแอนทิฟิกอเมริกันระบุว่า มะเร็งตับอ่อนเป็นโรคที่พบน้อย เฉพาะในสหรัฐฯ ได้รับการวินิจฉัยว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเพียงปีละ 44,000 ราย โดยราว 95% จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งชนิดเดียวกับสไตน์มัน และมีสัดส่วนอีกน้อยนิดที่เป็นมะเร็งชนิดเดียวกับจ็อบส์

ซอลท์ซยังชี้ลงไปอีกว่า ในส่วนของตับอ่อนยังประกอบด้วยอวัยวะ 2 ชนิด ซึ่งมีเนื้อเยื่อที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้ในตับอ่อนนั้นมีมะเร็ง 2 ชนิดที่แตกต่างกันมาก โดยมะเร็งตับอ่อนชนิดที่เป็นกันมากเรียกว่า “อะดีโนคาร์ซิโนมัส” (adenocarcinomas) ซึ่งเกิดในบริเวณเนื้อเยื่อต่อมมีท่อของตับอ่อน และเป็นบริเวณส่วนใหญ่ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตเอนไซม์ย่อยอาหาร ซึ่งจะส่งไปยังระบบทางเดินอาหารผ่านท่อพิเศษ อีกส่วนคือเนื้อเยื่อต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนสู่กระแสเลือด ซึ่งมะเร็งของจ็อบส์เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อประเภทนี้

ส่วนมากผู้ที่เป็นมะเร็งตับอ่อนมักจะเสียชีวิต เพราะมักจะตรวจพบในระยะท้ายๆ แล้ว อีกทั้งต่างจากมะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ มะเร็งชนิดนี้จะไม่แสดงอาการของโรคในระยะแรกมากนัก ซึ่งซอลท์ซกล่าวว่า เขาค่อนข้างลังเลว่าอาการต่อไปนี้เป็นข้อบงชี้ของโรค ที่มีทั้งอาการปวดท้องส่วนบน น้ำหนักลด ไม่อยากอาหารและการอุดตันของลิ่มเลือด เพราะอาการเหล่านี้ค่อนข้างเป็นอาการทั่วไปที่ทุกคนสามารถเป็นได้ แต่หลายกรณีพบว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนหลังมีบางอาการยืดเยื้อหรือพบตัวบ่งชี้ที่ร้ายแรงอย่าง “โรคดีซ่าน”

มีหลายกลุ่มที่พยายามหาวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับอ่อน ด้วยความหวังว่าจะพบโรคแต่เนิ่นๆ ซึ่งในส่วนของ ฟิลิป อาร์เลน (Philip Arlen) ประธานและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทนีโอจีนิกซ์ออนโคโลจี (Neogenix Oncology, Inc.) บริษัทเอกชนของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังหาทั้งวิธีวินิจฉัยและบำบัดมะเร็งตับอ่อน กล่าวว่าขณะนี้มีแรงกดดันมหาศาลให้มีพัฒนาการตรวจในเลือด ทั้งนี้ พบเครื่องหมายทางพันธุกรรม (genetic markers) คู่หนึ่งที่ปรากฏในมะเร็งตับอ่อน แต่ไม่พบในเนื้อเยื่อปกติ ซึ่งอดีตนักวิจัยจากสถาบันมะเร็งสหรัฐฯ (National Cancer Institute) ผู้นี้กล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทคือการพัฒนาชุดทดสอบคล้ายที่ใช้ทดสอบมะเร็งต่อมลูกหมาก

รายงานการวิจัยในไซน์แอนทิฟิกอเมริกันยังระบุว่า มีข้อบ่งชี้หลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่ามะเร็งตับอ่อนนั้นไม่ใช่โรคที่จู่โจมอย่างกะทันหัน ซึ่งหลังศึกษาการเพิ่มจำนวนการกลายพันธุ์ระดับยีนในเนื้อร้ายมะเร็งตับอ่อน นักวิจัยสรุปว่า โรคนี้ใช้เวลาในการสร้างเนื้อร้ายที่เป็นปัญหาประมาณ 7 ปี และใช้เวลาเกือบ 10 ปีในการเริ่มลุกลามสู่อวัยวะอื่น ด้วยความรู้นี้และการค้นหาอาการเริ่มต้นของโรค อาร์เลนมีความหวังว่าในที่สุดจะมีการพัฒนาวิธีคัดกรองโรคที่ไม่รุกล้ำร่างกายผู้ป่วย

ปกติเมื่อมะเร็งตับอ่อนถูกตรวจพบแต่เนิ่นๆ จะถูกผ่าตัดออกไป แต่ถึงอย่างนั้นซอลท์ซจากศูนย์มะเร็งเมโมเรียล สโลน-เคทเทอริงกล่าวว่าโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาหลังจาก 1-2 ปียังมีอยู่สูงมาก และการผ่าตัดก็มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะว่าตับอ่อนนั้นฝังอยู่ลึกในช่องท้อง และยังแวดล้อมและเชื่อมต่อกับอวัยวะสำคัญหลายอวัยวะ และหากมะเร็งลุกลามไปแล้วอย่างกรณีของสไตน์นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลปีล่าสุด โดยทั่วไปก็จะรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด ซึ่งไม่ค่อยได้ผลสำหรับมะเร็งตับอ่อนทั่วไป เช่น ยาบางตัวอย่าง “เจมซิทาบีน” (gemcitabine) ซึ่งเป็นหนึ่งในยาที่สไตน์ได้รับนั้นไม่ส่งผลทางการรักษาในบางคน แต่ช่วยยืดอายุบางคนออกไปได้อีก 2-3 ปี ซึ่งบ่งชี้ถึงความแตกต่างระดับโมเลกุลในเนื้อร้ายของแต่ละคน

แม้ว่ามีสัญญาณเชิงบวกจากการบำบัดทางเคมี ซึ่งสไตน์มันก็มีผลการรักษาที่ดีขึ้น แต่เพื่อนร่วมงานของเขาเผยว่า สไตน์มันก็ยังคงใช้ชีวิตเหมือนมีมีดดาบจ่อคอหอยอยู่ เพราะเขาไม่รู้ว่ามะเร็งร้ายจะกลับมาอีกเมื่อไร ดังนั้น เขาจึงหันไปสนใจในสิ่งที่เขารู้ นั่นคือ “ระบบภูมิคุ้มกัน” ซึ่งเรารู้ซึ้งว่าสิ่งสำคัญในการรักษาคือการเร่งระบบภูมิคุ้มกันให้รวดเร็วเพียงพอที่จะต่อสู้กับเนื้อร้าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ การทำให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถต่อสู้กับมะเร็งได้นั้นเป็นเป้าหมายของนักวิจัยหลายๆ คนมานานแล้ว แต่ตอนนี้มีทำได้ในมะเร็งผิวหนังบางชนิดเท่านั้น

ชเลซิงเกอร์กล่าวว่าหลังจากข่าวสไตน์มันเป็นมะเร็งตับอ่อนแพร่ออกไป ข้อเสนอวิธีบำบัดโรคก็หลั่งไหลมามากมาย และเขาได้ลองการบำบัดที่มีผู้เสนอมาทั้งหมด 8 วิธี โดยยาที่เขาใช้รักษานั้นผ่านการศึกษาระดับคลีนิคและการทดลองในคนแล้ว ในจำนวนวิธีการบำบัดทั้งหมดนั้นมียา 2 ชนิดที่พัฒนาขึ้นจากองค์ความรู้เกี่ยวกับ “เซลล์เดนไดรติก” (dendritic cell) ที่เขาค้นพบ โดยเซลล์ดังกล่าวทำหน้าที่สำคัญในการปลดปล่อย “ทีเซลล์” (T-Cells) ที่จะเข้าโจมตีเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งคาดหวังว่าสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอและโปรตีนจากมะเร็งร้ายจะช่วยให้เซลล์เดนไดรติกกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้เข้าโจมตีมะเร็งต่อไป

ซอลท์ซกล่าวว่าไม่แนะนำการปลูกถ่ายตับใหม่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน ถึงแม้ว่าการที่ตับทำงานล้มเหลวจะเป็นสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้เสียชีวิต เพราะตับอยู่ใกล้ตับอ่อนมากและมะเร็งมักแพร่กระจายมายังอวัยวะส่วนนี้ แต่การรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายตับนั้นยังไม่ใช่วิธีการรักษามาตรฐานและยังขาดหลักฐานสนับสนุนว่าวิธีนี้ได้ผล และถึงแม้ตับใหม่จะป้องกันตับทำงานล้มเหลว แต่ก็ต้องได้รับสารกดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันร่างกายปฏิเสธอวัยวะ อันจะเป็นการลดความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับเซลล์มะเร็งที่ยังเหลืออยู่ และเขาก็ไม่รู้ด้วยว่า วิธีรักษานี้ทำให้จ็อบส์อายุยืนขึ้นหรือสั้นลง

ส่วนกรณีของสไตน์มันซึ่งมีการบำบัดรักษาที่หลากหลาย จนทำให้เขามีชีวิตอยู่นานกว่าปกติของโรคอยู่หลายปีนั้น ทางชเลซิงเกอร์เองก็ตอบไม่ได้ว่าวิธีใดกันแน่ที่ช่วยยืดอายุเพื่อนร่วมงานของเธอ แต่โดยส่วนตัวแล้วเธอเชื่อว่าเป็นผลจากการรักษาร่วมกันหลายๆ วิธี แต่สำหรับสไตน์มันแล้วเขาศรัทธาในเซลล์เดนไดรติกอย่างมาก และเชื่อว่าเซลล์ดังกล่าวมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เขามีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น และเพื่อเข้าใจการทำงานภายในของมะเร็งตับอ่อนนั้นจำเป็นต้องมีการศึกษาพื้นฐานในมนุษย์ให้มากกว่านี้

ด้านซอลท์ซชี้ว่าในปัจจุบันมีความพยายามที่จะเข้าใจความแตกต่างระดับโมเลกุลและพันธุกรรมในมะเร็งแต่ละชนิดให้มากขึ้น เพื่อเข้ารูปแบบการเจริญเติบโตของเนื้อร้ายและการตอบสนองต่อการรักษา ซึ่งอาจจะนำไปสู่การบำบัดรักษาที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่จะตัดสินได้ว่า เหตุใดผู้ป่วยคนหนึ่งมีชีวิตต่อได้ถึง 7 ปี ขณะที่อีกคนอยู่ได้แค่ 7 เดือนนั้น ขึ้นอยู่กับชีววิทยาของมะเร็งเหล่านี้


ที่มา
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000129013

วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ธรรมะชนะมะเร็ง วิถีแห่งอโรคยาศาล ณ วัดคำปะมง

ธรรมะชนะมะเร็ง วิถีแห่งอโรคยาศาล ณ วัดคำปะมง


หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม


เราอาจจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า "กาย" กับ "ใจ" มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก นั่นหมายถึงว่า หาก "ใจ" ป่วย เป็นทุกข์ "กาย" ก็ป่วยไปด้วย และในทางกลับกัน หาก "จิตใจ" เต็มไปด้วยความสุข "สุขภาพร่างกาย" ของคนผู้นั้นก็ดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ

และคำกล่าวนี้ก็พิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง หลังจาก "หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม" สามารถค้นพบว่า "ธรรมะ" ซึ่งทำให้จิตใจบริสุทธิ์สามารถเอาชนะโรคร้ายที่เป็นมัจจุราชคร่าชีวิตคนทั่วโลกอย่าง "โรคมะเร็ง" ได้อย่างไม่น่าเชื่อ




ณ วัดคำปะมง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เป็นสถานที่ที่ถูกเรียกว่า "อโรคยาศาล" นั่นเพราะที่นี่ไม่ใช่เพียงแค่วัดที่ทำหน้าที่คอยกล่อมเกลาจิตใจให้ชาวบ้านเท่านั้น แต่ "หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม" ผู้ซึ่งจำวัดยังที่แห่งนี้ ยังมีหน้าที่ดูแลสุขภาพให้ชาวบ้านด้วยวิธีการรักษาทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยา หรือเครื่องมือที่ทันสมัย แต่กลับได้ผลอย่างชะงัด

ทุก ๆ วัน ชาวบ้านจากที่ต่าง ๆ ซึ่งกำลังถูกโรคร้ายอย่าง "มะเร็ง" คุกคาม ต่างพากันหลั่งไหลมายังวัดแห่งนี้คนแล้วคนเล่า เพื่อหวังให้ "หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม" ช่วยบำบัดอาการเจ็บป่วยเหล่านี้ให้หมดสิ้น ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยขอเข้ารับการรักษาจากหลวงตามาแล้วกว่า 2 พันคน และหลายคนหายจากโรคร้ายราวกับปาฏิหาริย์ แต่ในขณะที่บางคน แม้จะรักษาโรคมะเร็งไม่หาย แต่การได้เดินทางมายังวัดแห่งนี้ กลับได้พบกับทางสว่างที่ช่วยเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาอย่างสิ้นเชิง

หากถามว่า จุดเริ่มต้นของ "อโรคยาศาล" เกิดขึ้นมาได้อย่างไร คงต้องย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ "หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม" ซึ่งยังใช้ชีวิตอยู่ในทางโลกได้เคยเข้ารับราชการในกรมชลประทาน ก่อนที่วันหนึ่ง จะได้เดินทางไปดูแลการก่อสร้างเขื่อนที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนได้มีโอกาสเข้าไปกราบหลวงปู่สิม พระเกจิชื่อดัง และเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ทำให้วันนั้น ท่านตัดสินใจหันหน้าเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ และออกแสวงบุญตามป่าเขา โดยไม่หันกลับมามองทางโลกอีกเลย




จนกระทั่งวันหนึ่ง หลวงตาได้ล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งโพรงจมูกในระยะร้ายแรง คณะแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้พยายามรักษาท่านทุกวิธีทาง ทั้งการฉายแสง ให้ยา และทำคีโม จนร่างกายทรุดโทรมแทบจะรับไม่ไหว ในครั้งนั้น หลวงตาคิดเตรียมจะละสังขาร เพราะไม่ปรารถนาจะทุกข์ทนกับความเจ็บปวดครั้งนี้อีกแล้ว

แต่แล้ว ในคืนหนึ่งที่ท่านนั่งสมาธิ ทำจิตสงบนิ่ง กลับพบว่า ความเจ็บปวดที่รุมเร้ามานานแสนนานกลับหายไปสิ้น เหลือเพียงความว่างเปล่า และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ท่านเริ่มค้นคว้าตำรายาสมุนไพรโบราณ และต้มยาดื่มเอง ร่วมกับการนั่งสมาธิวิปัสสนา และควบคุมอาหาร สุดท้ายแล้ว ในการตรวจสุขภาพครั้งต่อไปของหลวงตา แพทย์กลับต้องพบกับความประหลาดใจ เพราะไม่พบเซลล์มะเร็งในร่างกายของหลวงตาอีกเลย

ด้วยเหตุนี้ หลวงตาจึงได้ก่อตั้ง "มูลนิธิอภิญญาณ อโรคยาศาล" ขึ้นในวัดคำปะมง เพื่อหวังจะช่วยเหลือผู้ที่กำลังทนทุกข์อยู่กับมะเร็งโดยไม่คิดค่ารักษาแม้แต่บาทเดียว ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาให้หลวงตาช่วยรักษาล้วนเป็นผู้ป่วยมะเร็งขั้นสุดท้ายที่แทบจะไม่มีที่ไหนรับรักษาแล้ว แต่มาที่นี่ หลวงตาจะใช้ยาต้มสมุนไพรรักษาผู้ป่วยควบคู่กับการให้ "ธรรมะ" เพื่อกล่อมเกลาจิตใจผู้ป่วย รวมทั้งรักษาจิตใจของญาติพี่น้องผู้ป่วยให้พ้นจากความทุกข์ไปด้วย

นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมใน "อโรคยาศาล" ช่างแตกต่างกับห้องสี่เหลี่ยมในโรงพยาบาลอย่างสิ้นเชิง เพราะที่นี่แม้จะมีผู้คนมากมายหลากหลายมาอยู่ร่วมกัน แต่ทุกคนกลับอยู่ด้วยกันได้เหมือนกับเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน สามารถพูดคุยกันฉันเพื่อน พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกันเหมือนพี่น้อง ที่นี่จึงเปรียบเสมือนเป็น "บ้าน" อีกหลังของผู้ป่วยที่กำลังสิ้นหวัง เพราะต่างคนต่างเห็นว่าแต่ละคนล้วนมีปัญหาไม่น้อยไปกว่าตัวเอง แต่คนอื่น ๆ ก็ยังสู้ ดังนั้นตัวเองจึงเกิดแรงผลักดันและกำลังใจที่จะสู้ชีวิตต่อไปเฉกเช่นคนอื่น ๆ

หลาย ๆ คนที่ได้รับการเยียวยาทางจิตใจ ได้รับความรัก ความเข้าใจ จาก "บ้าน" หลังนี้ กอปรกับการรักษาด้วยยาสมุนไพร และ "ธรรมะ" ก็ทำให้พวกเขาหายขาดจากโรคร้าย และต้องเสียน้ำตาในวันที่ต้องจาก "บ้าน" หลังนี้ไป แต่อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงนั้นต้องยอมรับว่า ยังมีผู้ป่วยอีกหลายคนที่เป็นโรคมะเร็งในระยะสุดท้าย และต้องจาก "บ้าน" หลังนี้ไปพร้อมกับลมหายใจของตัวเอง ซึ่งทุกคนล้วนรู้ตัวเองดี

แต่ทว่า ผู้ป่วยในชุมชนแห่งนี้กลับไม่มีใครเป็นทุกข์กับความตายที่กำลังคืบคลานเข้ามา เพราะหลวงตาจะคอยเทศนาธรรมะที่จะช่วยชี้ทางสว่างให้ทุกคนคิดได้ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร หากวันแห่งความตายกำลังจะมาถึง เราจะเตรียมตัวตั้งรับกับมัน และใช้ชีวิตในช่วงเวลาสุดท้ายให้มีความสุขและสงบได้อย่างไร นั่นเพราะหลวงตาบอกเสมอว่า จุดประสงค์ในการรักษาโรคของหลวงตา ไม่ได้ต้องการให้ผู้ป่วยหายจากโรคเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้ความทุกข์ในจิตใจของทุกคนมลายหายไปด้วยนั่นเอง

และ "ธรรมะ" ที่ "หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม" พร่ำสอนให้ผู้สิ้นหวังในชีวิตทั้งหลายมาตลอดเจ็ดปี ก็อาจเป็นคำตอบของชีวิตที่ใครหลายคนตามหามานานแสนนาน จนกระทั่งมาเข้าใจคำว่า "ความสุข" และ "ความสงบ" ที่แท้จริง ในวาระสุดท้ายของชีวิตก็เป็นได้

คลิป คนค้นฅน ธรรมะรักษามะเร็ง หลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม แห่งอโรคยศาล









ที่มา
http://hilight.kapook.com/view/58920

วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

อึวันละ 3 หน กันมะเร็งลำไส้ใหญ่

อึวันละ 3 หน กันมะเร็งลำไส้ใหญ่ (กรมประชาสัมพันธ์)

สุขนิสัยการขับถ่ายอุจจาระเท่าที่ได้เรียนรู้กันมา ก็จะแนะนำให้เข้าห้องน้ำถ่ายหนักกันอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน ทั้งยังควรขับถ่ายให้เป็นเวลา แถมระยะหลัง ๆ ก็มีกระแสนาฬิกาชีวิต แนะเรื่องดี ๆ เพิ่มเติมว่า คนเราควรถ่ายอุจจาระในช่วงเวลา 05.00-07.00 น. เพราะเป็นเวลาที่ลำไส้ใหญ่กำลังทำงานได้ดี

หากทำได้อย่างที่กล่าวจนเป็นนิสัย จะห่างไกลปัญหาระบบขับถ่าย แต่ก็ต้องไม่มองข้ามการกินอาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใย หรือไฟเบอร์ และดื่มน้ำอย่าต่ำกว่า 10-12 แก้วทุกวัน เพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก้อนอุจจาระไม่แข็ง-ไม่ใหญ่จนทำให้ขับถ่ายลำบาก

อย่างนี้ อวัยวะที่ดูจะมีบทบาทเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระที่สุด ก็คงต้องเป็นลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีข้อมูลชวนรู้จาก ดร.ทอม อู๋ ดร.ด้านโภชนาการและการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติจากสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้บางช่วงบางตอนในหนังสือ 100 คำถามเจาะลึกเพื่อสุขภาพ แนะนำไว้ว่า หากต้องการลดโอกาสเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีหน้าตาที่สดใส และกระปรี้กระเปร่า ควรถ่ายอุจจาระวันละ 3 ครั้ง

เหตุผลเพราะลักษณะของลำไส้ใหญ่มี 4 ขยัก มีส่วนขึ้น ส่วนขวาง ส่วนลง และส่วนตรง การถ่ายอุจจาระวันละ 3 ครั้ง ช่วยให้ของเสียไม่คงค้างในร่างกาย ส่วนการขับถ่ายเพียงวันละครั้งจะระบายของเสียออกไปจากลำไส้ได้แค่ขยักเดียว

ส่วนการจะช่วยให้ระบบขับถ่ายสามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายทางลำไส้วันละ 3 ครั้ง จำเป็นต้องรับประทานสลัดผักสด 2 มื้อ ร่วมกับน้ำผักและผลไม้อีกสัก 4-6 แก้ว


ที่มา
กะปุก

วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554

“น้ำตรีผลา” เสริมภูมิ คาดอาจช่วยรักษามะเร็ง

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย เตรียมระดมสมองผู้เชียวชาญ “สังคายนา” ยาสมุนไพรเกือบ 2 พัน ตำรับ หลังมีนักวิจัยพบน้ำสมุนไพร “ตรีผลา” เสริมภูมิต้านทาน อาจช่วยรักษามะเร็งได้


พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามที่มีการสำรวจสมุนไพรที่มีการจดแจ้งทะเบียนตำรับยาทั่วประเทศ พบว่า มีสมุนไพร 1,927 ตำรับ ที่มีสรรพคุณใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด ตนจึงสั่งการให้คัดเลือกสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษามะเร็งทั้งหมดเพื่อแยกออกเป็นกลุ่มๆ ว่า สามารถรักษาโรคมะเร็งชนิดใดได้บ้าง จากนั้นจะมีการเชิญผู้รู้มาร่วมสังคายนาสมุนไพร เพื่อพิจารณาว่าแต่ละกลุ่มว่ามีสรรพคุณรักษามะเร็งได้จริงหรือไม่

“คาดว่า จะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาประชุมเพื่อที่จะเริ่มพิจารณาจากสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านมก่อน เพราะจากการพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกลุ่มที่ใช้สมุนไพรไม่ซับซ้อน และจะใช้ประโยชน์ได้ดี และเมื่อมีการพิจารณาสมุนไพรทุกกลุ่มเสร็จแล้ว จะต้องมีการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่นั้น จะต้องดูว่าจะมีการนำสมุนไพรชนิดนั้นๆ ไปจำหน่ายหรือไม่ เพราะหากมีการจำหน่ายก็จำเป็นจะต้องขึ้นทะเบียนกับทางอย. แต่ถ้าหากหมอแผนไทยใช้ปรุงยาเพื่อรักษาผู้ป่วยก็สามารถทำได้เลย ไม่ต้องขึ้นทะเบียน” พญ.วิลาวัณย์ กล่าว

อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันการนำสมุนไพรมารักษาโรคมะเร็งเริ่มได้รับจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติมากขึ้น ทางกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯเองก็จะมีการส่งเสริมสมุนไพรที่ผ่านการวิจัยรับรองแล้วว่ามีสรรพคุณที่จะรักษามะเร็งได้จริงด้วย ขณะนี้ก็กำลังส่งเสริมให้มีการดื่มน้ำ ตรีผลา ซึ่งมีส่วนผสมจากมะขามป้อม สมอไทย สมอพิเภก มีสรรพคุณช่วยในการเสริมภูมิต้านทาน เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นหวัดบ่อยๆ ทั้งยังมีสรรพคุณในการชะลอการชราด้วย และนอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า ตรีผลายังมีสรรพคุณในการยับยั้งและต้านเซลล์มะเร็ง หรือหากเกิดเซลล์มะเร็งขึ้นมาแล้วก็จะมีผลทำให้เซลล์มะเร็งโตช้า โดยมีผลวิจัยรองรับจากคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อนึ่ง สำหรับผู้ที่สนใจน้ำตรีผลาสามารถนำไปต้มดื่มเองได้โดยตวงสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด อัตราส่วน สมอพิเภก 100 กรัม สมอไทย 200 กรัม มะขามป้อม 400 กรัม จากนั้นนำสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด ใส่หม้อผสมน้ำ 6 ลิตร ตั้งไฟต้มเดือด 30 นาที เติมน้ำตาลทราย 600 กรัม เกลือ 1 ช้อนชา หากเข้มข้นเกินไป ให้เติมน้ำสุกเพิ่มได้ ปรุงรสชาติที่ชอบ กรองผ่านผ้ากรองหรือกะชอน ใส่ภาชนะ สำหรับเตรียมดื่ม ดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น แทนเครื่องดื่มทั่วไป เช้า กลางวัน เย็น

ที่มา
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000039241

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

คนไทยเจ๋ง...ตรวจหาโรคมะเร็ง ตับ ข้อเสื่อมได้โดยใช้ชุดน้ำยาตรวจหาโรค

คนไทยเจ๋ง...ตรวจหาโรคมะเร็ง ตับ ข้อเสื่อมได้โดยใช้ชุดน้ำยาตรวจหาโรค


“ชุดน้ำยาตรวจหาโรค” ผลงานระดับชาติ จากนักวิจัย มช.



นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พัฒนาชุดน้ำยาสำเร็จรูป จากกระดูกอ่อนของสัตว์ คุณสมบัติสามารถตรวจหาโรคข้อเสื่อม โรคตับ และมะเร็ง คว้ารางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ปี 2554 ระดับดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เล็งต่อยอดผลิตขายต่อต่างประเทศ

เป็นเวลากล่าว 20 ปีแล้ว ที่ รศ. ดร. ปรัชญา คงทวีเลิศ จากหน่วยวิจัยที่มีความเป็นเลิศทางด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อ และเซลล์ต้นกำเนิด ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ ได้ทำการศึกษาวิจัย เพื่อแยกบริสุทธิ์โปรตีนชนิดหนึ่งจากกระดูกอ่อนของสัตว์ชนิดต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ ในการพัฒนาชุดน้ำยาสำเร็จรูปเพื่อการตรวจวัดระดับ สารชีวโมเลกุลที่ชื่อ ไฮยาลูโรแนน หรือ ไฮยาลูโรนิก แอซิด (Hyaluronan, Hyaluronic acid, หรือ HA) ซึ่งสามารถใช้ในการคัดกรอง วินิจฉัย และติดตามผลการรักษาข้ออักเสบ ข้อเสื่อม มะเร็ง และโรคตับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคตับแข็ง

“จริง ๆ แล้วคนไทยเป็นโรคตับเยอะมาก ติดอันดับโลกเลยทีเดียว และเนื่องจาก ผมได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาเอกเรื่อง ไฮยาลูโรแนน จากออสเตรเลีย เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว จากนั้นพอกลับมาเมืองไทย ก็เริ่มจับงานวิจัยชิ้นนี้ต่อ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งขณะนั้นเป็นศูนย์ไบโอเทค รวมทั้ง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ภาคเหนือ (สวทช. ภาคเหนือ) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ได้สนับสนุน ต่อยอดจนได้เป็นชุดน้ำยาสำเร็จรูปดังกล่าว” รศ.ดร. ปรัชญา กล่าว

ล่าสุดผลงานวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาพื้นฐานและประยุกต์ใช้โปรตีนยึดจับไฮยาลูโรแนน เพื่อการวินิจฉัยโรคข้อเสื่อม โรคตับและโรคมะเร็ง” ยังได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ปี 2554 ระดับดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

หัวใจสำคัญของชุดน้ำยาที่ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์นี้ คือโปรตีนที่ต้องแยกมาจากกระดูกอ่อน จากนั้น นำมาทำให้บริสุทธิ์ด้วยเทคนิคทางชีวเคมี ทำให้ได้สารสำคัญที่ใช้ในชุดน้ำยาดังกล่าว

“จากกระดูกอ่อนที่เหลือทิ้งตามตลาดหรืออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เราไปนำมาเพิ่มคุณค่าให้มากขึ้นอีก หลายเท่าตัว ปัจจุบันเราสามารถเตรียมโปรตีนชนิดนี้ ได้จากกระดูกอ่อนของ หมู วัว ไก่ และปลาฉลาม ซึ่งเป็นปลาชนิดเดียวที่ทั้งตัวมีแต่ กระดูกอ่อน จากการศึกษาวิจัยเราสามารถเตรียมโปรตีนชนิดนี้ได้บริสุทธิ์ และที่สำคัญ คือยังคงคุณสมบัติทางชีวเคมี ในการจับอย่างจำเพาะกับสารไฮยาลูโรแนน ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้พัฒนาชุดน้ำยาสำเร็จรูปดังกล่าวได้”

จากความสำเร็จนี้เอง ทางคณะผู้วิจัย ได้ทำการจดสิทธิบัตรในประเทศไทย รวมถึงได้มีบริษัทของคนไทย ที่ดำเนินกิจการในประเทศสิงคโปร์ ได้ให้ความสนใจในการขอใช้สิทธิบัตรและองค์ความรู้นี้ เพื่อไปผลิตเป็นชุดน้ำยาที่ได้ มาตรฐานสากล ส่งไปจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกา และอีกหลายประเทศในยุโรปอีกด้วย

งานวิจัยชิ้นนี้นับเป็นงานวิจัยที่เป็นผลงานประดิษฐ์คิดค้น ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่นำของเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่า และสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตและสุขภาพ ซึ่งเป็นงาน “จากหิ้งสู่ห้าง” ได้อย่างแท้จริง


ที่มา
http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9540000038129

วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

กันมะเร็งเต้านมไว้ดีกว่าแก้ ด้วยเครื่องอ่านภาพรังสีฝีมือไทย

กันมะเร็งเต้านมไว้ดีกว่าแก้ ด้วยเครื่องอ่านภาพรังสีฝีมือไทย

“มะเร็งเต้านม” ถือเป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก เป็นภัยร้ายที่น่ากลัวและเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญ มีอัตราเฉลี่ยของการเกิดโรคเท่ากับ 172 จากผู้หญิง 1แสนคน แถมยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุของโรคมีด้วยกันหลายประการคือ พันธุกรรม การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอด การใช้ยาคุมกำเนิดตั้งแต่อายุยังน้อยเป็นเวลานานๆ ความอ้วน การเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน การมีบุตร การมีเนื้องอก และกัมมันตรังสี

กระนั้น การป้องกันโรคย่อมจะดีกว่าการปล่อยให้เกิดโรคแล้วค่อยมาหาวิธีการรักษาภาย หลัง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะรักษาได้หายขาดในทุกๆ รายหรือไม่ การป้องกัน ที่สำคัญที่สุดจึงเป็นการค้นหาโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการเพื่อจะได้รีบรักษา ก่อนที่จะลุกลาม วิธีที่ได้รับความนิยมมากคือ การหมั่นตรวจเต้านมตัวเองอยู่เสมอๆ

จึงเป็น เรื่องที่น่ายินดียิ่งที่เวลานี้ ได้มีการพัฒนาเครื่องมือตรวจโรคมะเร็งเต้านมด้วยฝีมือคนไทยแล้ว โดยนา ยกฤศณัฎฐ์ เชื่อมสามัคคี คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นัก ศึกษาภายใต้โครงงานสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี หรือ IRPUS (Industrial and Research Projects for Undergraduate Students) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิ จัย (สกว.) เจ้าของผลงาน “การออกแบบชุดอุปกรณ์สำหรับอ่านภาพ รังสีเต้านม” ชี้ว่าแม้โรคดังกล่าวจะมีความร้ายแรง แต่หากสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ในระยะแรก ผู้ป่วยก็มีโอกาสหายจากโรคถึง 90-95% ส่วนระยะที่ 2 เป็นระยะที่โรคได้กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว จะมีโอกาสหายลดลงเหลือ 50% และจะเหลือเพียง 30% ในระยะที่ 3

“การ ตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกมีความสำคัญมาก ปัจจุบันใช้วิธีตรวจโดยการถ่ายภาพรังสีเต้านม แต่เนื่องจากมะเร็งเต้านมในระยะแรกมีรอยโรคขนาดเล็กซึ่งยากแก่การตรวจพบ จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนของกระบวนการตรวจ เพื่อลดการถ่ายภาพรังสีหลายครั้ง และเพิ่มประสิทธิภาพในการอ่านภาพได้ละเอียดชัดเจน ทำให้การวินิจฉัยโรคเป็นไปอย่างถูกต้อง”

ทั้ง นี้ นายกฤศณัฎฐ์ ได้ศึกษาค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลของอุปกรณ์ช่วยสำหรับการอ่านภาพรังสีเต้านม รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่จะนำมาผลิตเป็นส่วนต่างๆของชุดอุปกรณ์ จนปัจจุบันสามารถออกแบบชุดอุปกรณ์ช่วยสำหรับการอ่านภาพรังสีเต้านมได้ โดยมีส่วนประกอบ อาทิ ตู้อ่านฟิล์มชนิดพิเศษ เลนส์ขยายไฟสำหรับส่องดูรอยโรคเฉพาะที่ รวมถึงอุปกรณ์ประกอบย่อยอื่นๆ และยังเน้นการคัดเลือกวัสดุที่สามารถหาได้ง่ายภายในประเทศ อาทิ ไฟเบอร์กลาส และหลอดไฟชนิดพิเศษ

สำหรับชุดเครื่องมือดังกล่าว จะมีความกว้างประมาณ 50 ซม. สูง 180 ซม. สามารถถอดประกอบเคลื่อนย้ายได้สะดวก และใช้ไฟประมาณ 250 วัตต์ อีก ทั้งยังสามารถทำงานวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมได้ 2 ชุดพร้อมกัน ทั้งภาพรังสีเต้านมข้างขวา 2 ภาพ และข้างซ้ายอีก 2 ภาพ และสามารถดูภาพรังสีทั่วไปที่ประกอบการวินิจฉัยโรคได้อีก 3 ภาพพร้อมๆ กัน

ด้าน ต้นทุนของเครื่องต้นแบบดังกล่าวมีราคาประมาณ 35,000 บาท ในขณะที่ต่างประเทศมีราคาประมาณ 400,000-500,000 บาท อย่างไรก็ตาม นายกฤศณัฎฐ์ เผยว่า เขากำลังปรับปรุงและพัฒนาชุดตรวจนี้ต่อไปเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีก ด้วย

“ชุดอุปกรณ์สำหรับอ่านภาพรังสีเต้านม” จึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมฝีมือไทยทำ ที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะลดการพึ่งพาต่างชาติแล้ว ยังมีราคาถูกลงกว่า 10 เท่า จึงช่วยขยายโอกาสทำให้ผู้หญิงไทยเราสามารถเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง เต้านมได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น จึงต้องขอเอาใจช่วยให้มีการพัฒนาเสร็จสิ้นโดยไว ซึ่งหากทำได้แล้วก็แน่นอนว่าผู้หญิงไทยเราจะห่างไกลจากโรคมะเร็งเต้านมอย่าง แน่นอน…

ที่มา
http://health.deedeejang.com/news/cancer-in-women.html

ทิชชูกับมะเร็งปากมดลูก

ทิชชูกับมะเร็งปากมดลูก

เกร็ดความรู้วันนี้เป็นของชาวเว็บท่านหนึ่งที่อยากฝากเตือนผู้หญิงทุกคนค่ะ นั่นคือ มะเร็งร้ายที่ปากมดลูก

สิ่งที่ข้าพเจ้าจึงไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครอีก
มะเร็งปากมดลูกไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ แต่เกิดได้จากการใช้ทิชชูในเวลาทำกิจวัตร จะเกิดจากเป็นเชื้อราเล็กๆ และขยายวงกว้างจนกลายเป็นมะเร็งร้าย

ตอนนี้ข้าพเจ้าเป็นเชื้อราเล็กๆ อยู่จึงไม่กังวลมาก แต่สาเหตุที่แท้จริงคือทิชชูมีสารเคมีตัวฉกาจที่เมื่อใช้เป็นเวลานานติดต่อ กันจะทำให้เกิดในช่องคลอดได้

หมอแนะนำว่าหลังจากเสร็จกิจใน ห้องน้ำ ให้ใช้ทิชชูซับแทนการเช็ด และต้องซับครั้งเดียว ไม่เกิน 10 วินาทีเป็นการหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อราได้ 50 % ด้วย

ความปรารถนาดี

โดย เดลินิวส์

ลมหายใจไร้มะเร็งปอด

การจะรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งที่ส่วนใดก็ตาม หลักการง่ายๆ คือ ต้องกำจัดมะเร็งตั้งแต่ระยะแรก ก่อนที่มะเร็งจะเติบโตและเกิดการแพร่กระจาย

วันที่ 31 พ.ค. วันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งในทุกๆ ปีจะมีการรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรค “มะเร็งปอด” ทว่าในปัจจุบันมะเร็งปอดไม่ได้เป็นเฉพาะในผู้สูบบุหรี่เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้ โดยปัจจุบันพบว่ามะเร็งปอดพบได้มากขึ้นในผู้หญิง และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สูบบุหรี่ยังถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงสูงกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่

“นพ.กิตติชัย เหลืองทวีบุญ” หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้กล่าวในงานสัมมนาโครงการส่งเสริมความรู้ผู้ป่วย “ลมหายใจ ไร้มะเร็งปอด” ซึ่งศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับบริษัท แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) ได้จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอด และมุ่งหวังให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพของตนเอง เพื่อจับสัญญาณมะเร็งร้ายก่อนจะสายเกินแก้ว่า “ปอด” เป็นหนึ่งในอวัยวะยอดฮิตที่เซลล์มะเร็งชื่นชอบ เนื่องจากเป็นอวัยวะที่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงเป็นจำนวนมาก โดยสถิติจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ประเทศไทยมีคนป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดวันละ 26 คน และเสียชีวิตวันละ 25 คน โดยโรคมะเร็งปอดพบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้ชาย และอันดับ 4 ในผู้หญิง

ใครเสี่ยงมะเร็งปอด

มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ มะเร็งที่เกิดขึ้นในปอดเอง คือ มีจุดหรือก้อนเนื้อเล็กๆ เกิดขึ้นในปอด ที่มีการเติบโตและแบ่งตัวอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งสามารถแบ่งชนิดย่อย เช่น ชนิดเซลล์เล็ก ชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก เป็นต้น อีกชนิดหนึ่งคือ มะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่นๆ เช่น ในผู้ป่วยมะเร็งตับ มะเร็งเต้านม ฯลฯ ก็มีโอกาสที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไปตามกระแสเลือดและลุกลามมายังปอดได้

สำหรับสาเหตุการเกิดมะเร็งปอดที่พบบ่อย “รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ” อายุรแพทย์ หน่วยมะเร็งวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งอย่างต่อเนื่อง อาทิ ควันบุหรี่ ควันไอเสียตามท้องถนน โดยสารเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้เนื้อเยื่อแบ่งตัวแบบผิดปกติ

จากสถิติพบว่าผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดกว่าร้อยละ 90 เกิดจากการสูบบุหรี่ แต่ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันพบมะเร็งปอดมากขึ้นในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ และยังพบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโรคมะเร็งปอดมากขึ้น จากจำนวนผู้หญิงทั้งหมดที่เป็นมะเร็งปอด ร้อยละ 50 เท่านั้นที่เกิดจากการสูบบุหรี่ หรือสูดดมควันบุหรี่ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งไม่ทราบปัจจัยแน่นอน ซึ่งอาจมีสาเหตุจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม อาหารการกิน หรือรูปแบบการใช้ชีวิต ซึ่งโรคมะเร็งปอดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสูบหรือสูดดมควันบุหรี่สามารถรักษา ได้ด้วยการผ่าตัด และมักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

รู้รักษา…ป้องกันได้

อย่างไรก็ตาม มะเร็งปอดเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบและเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งส่วนใหญ่จะทราบได้จากการตรวจเช็กสุขภาพปอด โดยแพทย์ตรวจพบจุดหรือก้อนเนื้อผิดปกติในปอด เนื่องจากมะเร็งปอดในระยะแรก ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด หอบเหนื่อย ฯลฯ ให้เห็นเด่นชัด

ดังนั้น การตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำคือวิธีที่ดีที่สุด ด้วยการตรวจเอกซเรย์ปอด โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติสูบบุหรี่จัด มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งปอด ควรตรวจเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพบว่ามีจุดผิดปกติเกิดขึ้น แพทย์จะตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือตรวจเนื้อเยื่อปอดอีกครั้งเพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็งแน่นอนหรือไม่ และพิจารณาแนวทางการรักษาต่อไป หากผู้ป่วยรอสังเกตอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา หรือมาพบแพทย์เมื่อแสดงอาการแล้ว มักจะตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลุกลามมาก หรืออยู่ในระยะสุดท้ายแล้ว

“การจะรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งที่ส่วนใดก็ตาม หลักการง่ายๆ คือ ต้องกำจัดมะเร็งตั้งแต่ระยะแรก ก่อนที่มะเร็งจะเติบโตและเกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะสำคัญอื่นๆ ซึ่งการผ่าตัดในผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็กในระยะเริ่มแรกนั้น หรือไม่เกินระยะที่ 2 นั้น จะมีโอกาสหายค่อนข้างสูงถึง 70-80% โดยไม่ต้องให้ยาเคมีบำบัดหรือฉายแสงหลังผ่าตัด แต่ถ้ามะเร็งลุกลามไปแล้วจะไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดเพื่อประคับประคองอาการต่อไป ถ้าเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 2 หรือ 3A การให้ยาเคมีบำบัดอย่างถูกต้องเหมาะสมเสริมหลังผ่าตัดสามารถทำให้ผู้ป่วย มะเร็งปอดหายขาดได้มาก ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางการรักษาโรคมะเร็งปอดในปัจจุบันนี้ กรณีถ้าโรคดื้อยา เกิดโรคเป็นซ้ำ นอกจากยาเคมีบำบัดแล้ว ยังมีนวัตกรรมใหม่ซึ่งเป็นยารักษาตามเป้าหมาย ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ ผู้ป่วยบางส่วนไม่กล้ามาพบแพทย์ เนื่องจากหวาดกลัวต่อวิธีรักษาและผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการให้ยาเคมี บำบัด หรือมาพบแพทย์ก็ต่อเมื่ออาการอยู่ในระยะสุดท้ายแล้ว ซึ่งในปัจจุบันแนวทางการรักษาและยามะเร็งนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เข้าใจ เนื่องจากได้มีการพัฒนาคิดค้นสูตรยาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง เกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยน้อยลง และเอื้อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ อย่างไรก็ตาม ความรักความเข้าใจจากครอบครัว และกำลังใจอันเข้มแข็งของผู้ป่วยเอง จะเป็นพลังสำคัญให้ผู้ป่วยเอาชนะโรคร้ายได้สำเร็จในที่สุด” รศ.นพ.นรินทร์ กล่าว

โดย…มัลลิกา นามสง่า
จาก โพสทูเดย์

วิธีพิชิตโรคมะเร็ง

วิธีพิชิตโรคมะเร็ง

ทุกๆ 6 วินาที ทั่วโลกจะมีผู้คนเสียชีวิตด้วยโรค มะเร็ง 1 คน ในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรค มะเร็ง ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และตอนนี้ก็เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของพี่น้องประชาชนคนไทยด้วย หลายคนท้อแท้สิ้นหวังเมื่อทราบว่าตนเองหรือญาติป่วยเป็นโรค มะเร็ง หลายคนสับสนและตื่นตระหนก เพราะเข้าใจว่าโรค มะเร็ง ไม่มีทางรักษาให้หายได้ ชีวิตที่เหลืออยู่จึงสิ้นหวัง

ที่จริงแล้วในโลกปัจจุบันนี้มีโรค มะเร็ง หลายชนิดที่สามารถถูกวินิจฉัยได้จากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือการตรวจด้วยตนเองที่บ้าน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น และเมื่อตรวจพบแล้วก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ มะเร็งบางชนิดสามารถใช้วิธีการรักษาหลายๆ วิธีร่วมกันก็จะช่วยยืดอายุออกไปได้อีก แต่ก็มีบางชนิดเช่นกันที่ไม่สามารถรักษาได้หรือให้ผลการักษาที่ไม่ดี

ด้วย เหตุนี้ การศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อหาวิธีการต่างๆ ในการรักษาโรค มะเร็งเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี และมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์น้อยที่สุด จึงพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันบางโรงพยาบาลสามารถใช้เทคนิคการแพทย์ แบบองค์รวม (Holistic Medicine) ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรค มะเร็ง นั่นคือการใช้การแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี เคมีบำบัด ร่วมกับการแพทย์ทางเลือกในการรักษาโรค มะเร็ง เช่น สมุนไพร เป็นต้น เพราะการแพทย์แผนปัจจุบันมีความสามารถในการทำลายก้อน มะเร็ง ค่อนข้างสูง แต่ขณะเดียวกันก็ทำงายเซลปกติของร่างกายด้วย จึงก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการประยุกต์ใช้แพทย์ทางเลือกดังกล่าวนอกจากจะเสริมประสิทธิภาพการ รักษาให้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความทรมานจาก ผลข้างเคียง อันไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมี คุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น และช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่องและครบสมบูรณ์ ไม่ต้องหยุดหรือเลื่อนการรักษาและเพื่อให้การรักษาต่างๆ มีประสิทธิผลสูงสุด อีกทั้งในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการรักษาแบบแผนปัจจุบันได้ก็สามารถรับยา หรือการรักษาแบบเสริมเข้าไปช่วยได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม สมุนไพร รักษาโรค มะเร็ง ก็มีข้อเสียตรงที่ออกฤทธิ์ช้า จะไม่เห็นผลทันที แต่จะค่อยๆ ออกฤทธิ์อย่างช้าๆ โดยไม่มีผลกระทบต่อร่างกาย

ในการรักษาโรค มะเร็ง ที่เหมาะสมก็คือการใช้การรักษาทั้ง 2 ควบคู่กันไปแบบผสมผสานจึงจะได้ประสิทธิผลการรักษาสูงที่สุด และหากเมื่อนำการรักษาแบบผสมผสานทั้ง 2 แบบแล้ว การรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรค มะเร็ง คงไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

ใน การรักษาผู้ป่วยโรค มะเร็ง นั้น สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้ามไป คือ “คุณภาพชีวิต” ปัจจุบันการรักษา มะเร็ง ด้วยหลักของแพทย์แบบแผนตะวันตก ยังเป็นการรักษาโดยตรงที่สัมฤทธิ์ผลมากที่สุด แต่ผลข้างเคียงที่ตามมาก็ทิ้งความเจ็บปวดทั้งกายและใจแก่ผู้ป่วยไม่น้อย ดังนั้นจึงเริ่มมีการบำบัดร่วมกันระหว่างวิธีแพทย์แผนตะวันตก และแพทย์แผนโบราณกันมากขึ้น และไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาอย่างเดียว ประเด็นเรื่อง คุณภาพชีวิต ภูมิคุ้มกัน การฟื้นฟูร่างกายและจิตใจก็ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ก็เพื่อให้ผู้ป่วยโรค มะเร็ง สามารถทนต่ออาการข้างเคียงของการรักษาที่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรง แต่ผู้ป่วยยังคงสามารถทนได้และมี คุณภาพชีวิต ที่ดีเหมือนไม่ได้ป่วยเป็นโรค มะเร็ง

ที่มา
http://health.deedeejang.com/news/the-way-conquers-the-disease-cancer.html