วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

‘ท้องอืดท้องเฟ้อ’ อาการทั่วไป...ที่ไม่ธรรมดา ต้นตอปัญหาโรคร้ายในระบบทางเดินอาหาร

”ยังไม่ทันทำอะไร ก็หมดเวลาไป 1 วันแล้ว...” ประโยคนี้มักได้ยินจากใครหลายๆ คน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ดูเหมือนว่าเวลา 24 ชั่วโมงใน 1 วัน จะไม่เพียงพอต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ให้ครบตามที่ใจต้องการ ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ สภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ทุกอย่างต้องแข่งขันกับเวลาจนเกิดเป็นความกดดันและความเครียด ทำให้หลายคนลืมที่จะดูแลรักษาสุขภาพของตัวเอง แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างเช่น การทานอาหารให้ตรงเวลาและให้ครบ 3 มื้อ แต่ก็คงไม่แปลกถ้าคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะให้เหตุผลเป็นเสียงเดียวกันว่า “ก็มันไม่มีเวลาจริงๆ” และสิ่งที่ตามมา ก็คือ ปัญหาด้านสุขภาพ และหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่มักเกิดจากพฤติกรรมเหล่านี้ ก็คือ อาการของโรคระบบทางเดินอาหารนั่นเอง

นายแพทย์สุริยา กีรติชนานนท์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุและอาการต่างๆ ของโรคระบบทางเดินอาหาร ว่าอาการของโรคระบบทางเดินอาหารที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ คือ อาการอึดอัด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ บริเวณลิ้นปี่หรือเหนือสะดือ โดยอาการเหล่านี้ทางการแพทย์ใช้คำแทนว่า อาการ Dyspepsia (ดิสเป็บเซีย) จากการสำรวจข้อมูลประชากรจำนวน 23,676 คน ใน 5 ประเทศของยุโรป พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีอาการเหล่านี้ถึงร้อยละ 32% (7,576 คน) ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบร้อยละ 25 และสำหรับประเทศไทยนั้น มีข้อมูลจากสมาคมโรคทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ว่าคนไทยได้ประสบกับอาการนี้ถึงร้อยละ 20-25 และเป็นอาการที่พบบ่อยเป็นอันดับหนึ่งในคลินิกทางเดินอาหาร โดยพบได้ทุกช่วงอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ ช่วงที่พบบ่อยมากคือ อายุตั้งแต่ 40-45 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดจากระบบการย่อยอาหารที่เสื่อมลงตามวัย

“อาการดิสเป็บเซีย เป็นอาการที่เกิดใน กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มโรคออกเป็น 2 ชนิด คือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพชัดเจนในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า organic dyspepsia (ออแกนิก ดิสเป็บเซีย) เช่น กระเพาะอาหารอักเสบรุนแรง มีแผล มีเชื้อโรคซ่อนอยู่ เนื้องอกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น และอีกชนิดหนึ่ง คือ กลุ่มผู้ป่วยที่ตรวจไม่พบโรคดังกล่าวด้วยวิธีส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน หรือ Functional dyspepsia - FD (ฟังชันนอล ดิสเป็บเซีย - เอฟดี) โดยอาการชนิดนี้ เกิดจากการที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กทำหน้าที่ผิดปกติไปจากเดิม ซี่งพบเป็นส่วนมากในผู้ป่วยที่มีอาการดิสเป็บเซีย จากข้อมูลสำรวจผู้ป่วยที่มีอาการดิสเป็บเซียในประเทศไทยจำนวน 1,100 ราย พบว่าร้อยละ 60-90 ของผู้ป่วยที่มีอาการดิสเป็บเซีย มีอาการอยู่ในกลุ่มที่สองนี้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ มีหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ กระเพาะบีบตัวไม่ได้ บีบตัวช้า กระเพาะไวต่ออาหารบางชนิด เช่น อาหารรสจัด สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้การย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร และการเคลื่อนตัวของอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กเป็นไปด้วยความลำบาก เกิดการสะสมของฟองอากาศหรือแก็สในกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้อึดอัด แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อครับ” นายแพทย์สุริยา กล่าว




นอกจากนี้ ในปัจจุบันอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เกิดขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงานและกลุ่มคนวัยเรียนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันเนื่องมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องความเครียด พฤติกรรมการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา หรือรับประทานอาหารด้วยความเร่งรีบ เคี้ยวไม่ละเอียด ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ อาทิ แอลกอฮอล์ บุหรี่ กาแฟ น้ำอัดลม อาหารไขมันสูง ทานอาหารอิ่มแล้วนอนในทันที ทานอิ่มเกินไป หรือแม้แต่พูดคุยขณะรับประทานอาหาร เพราะเป็นการกลืนอากาศเข้าไปพร้อมอาหาร จนส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เหล่านี้ขึ้นซึ่งเป็นปัญหาที่น่าวิตกในการดำเนินชีวิตและการดูแลสุขภาพ

นายแพทย์สุริยา อธิบายด้วยว่า อาการในกลุ่ม ‘ฟังชันนอล ดิสเป็บเซีย’ นั้นไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่จะรบกวนคุณภาพชีวิตได้ ซึ่งผู้ที่มีอาการ จำเป็นต้องปรับพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการนี้ ควบคู่ไปกับการรับประทานยารักษาอาการ ซึ่งยารักษา

อาการในกลุ่ม ‘ฟังชันนอล ดิสเป็บเซีย’ มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน อาทิ ยาลดแก็สหรือฟองอากาศที่อยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ที่มีตัวยา ‘ไซเมทิโคน (Simethicone)’ ซึ่งจะช่วยลดแรงตึงผิวของฟองอากาศหรือแก๊สในทางเดินอาหาร ทำให้ฟองอากาศเล็กๆ รวมตัวกันง่าย และถูกขับออกจากร่างกายทางปากหรือทางทวารหนักได้ดีขึ้น โดยที่ตัวยาจะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และไม่มีปฏิกิริยาต่อยาอื่นๆ ที่ทานร่วมกัน อย่างเช่น ยาลดกรด ที่กระตุ้นการบีบตัวกระเพาะอาหาร เป็นต้น

“ปัจจุบันอาการท้องอืดนั้น เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย ทั้งนี้ทุกคนควรรู้จักการดูแลรักษาสุขภาพ ตลอดจนการป้องกันตนเอง เพื่อให้ห่างไกลจากอาการเหล่านี้ ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น รับประทานอาหารให้ตรงเวลา เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่รับประทานอิ่มจนเกินไป ไม่พูดคุยขณะรับประทานอาหาร หลังจากรับประทานอาหารก็ไม่ควรนอนทันที และควรรักษาสมดุลการทำงานไม่ให้ตนเองตกอยู่ในภาวะเครียด พร้อมออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างพอดี เหมือนกับประโยคที่ว่า “สุขภาพที่ดีมีได้ด้วยตัวเราเอง” มาสร้างสมดุลย์ให้กับชีวิตกันดีกว่า” นายแพทย์สุริยา กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000043920

วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

นายแพทย์สมหมาย ทองประเสริฐ “หมอเทวดา” ผู้รักษามะเร็ง



นายแพทย์สมหมาย ทองประเสริฐ “หมอเทวดา” ผู้รักษามะเร็ง

นายแพทย์สมหมาย ทองประเสริฐ ผู้เป็นความหวังให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้กลับมีชีวิตใหม่อีกครั้ง ด้วยการอุทิศแรงกาย แรงใจ และสละเวลาตลอดชีวิตของการทำงานเพื่อค้นหาสูตรยาสมุนไพรที่จะมาพิชิตโรคร้าย แม้ว่าตอนนี้วัยจะล่วงเลยมาถึง 90 ปีแล้ว แต่ก็ยังรับปรึกษาปัญหาโรคมะเร็งอยู่มิได้ขาด เพื่อแลกกับการต่อลมหายใจให้กับผู้คนนับร้อยนับพันชีวิต จนได้รับการขนานนามว่า “หมอเทวดา”

กิตติศัพท์ “หมอเทวดา”
“หมอเทวดา” ชื่อที่ชาวบ้านต่างพากันเรียกขาน ด้วยกิตติศัพท์ที่สามารถรักษาโรคมะเร็งร้ายให้หายได้ ด้วยวีธีการรักษาแบบผสมผสาน ระหว่างยาสมุนไพรที่ทดลองศึกษามานาน ควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน จนมีผู้ป่วยหลายรายหายป่วย และบางรายอาการดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจ


จากการบอกเล่าของผู้ป่วยที่มาทำการรักษา จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ไม่นานชื่อเสียงของ “หมอเทวดา” แห่งสิงห์บุรีก็เป็นที่รู้จักไปทั่วทุกหนระแหง


“อย่าเรียกตนว่าเป็นหมอเทวดาเลย เพราะตนเป็นเพียงแค่ หมอธรรมดา เท่านั้น” แม้ว่า นพ.สมหมาย จะปฏิเสธชื่อ “หมอเทวดา” ที่ชาวบ้านขนานนามให้ แต่นั่นไม่ได้สำคัญเท่ากับการเป็นที่ยอมรับด้วยแรงศรัทธาของผู้คนถึงความตั้งใจในการรักษาเพื่อผู้ป่วยมะเร็งอย่างแท้จริง


หมอสมหมาย มีความสามารถวินิจฉัยและวิธีการรักษาโรคมะเร็งมานานกว่า 30 ปี โดยเริ่มทดลองใช้สมุนไพรรักษาโรคมะเร็งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2512 จนประสบความสำเร็จในปี พ.ศ. 2520 และได้ลาออกจากราชการมาเพื่อรักษามะเร็งโดยเฉพาะ

“สมุนไพร” รักษามะเร็งรอด!
เกือบครึ่งศตวรรษแล้ว...ที่หมอผู้เสียสละได้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งให้พบทางรอดอีกครั้ง

ตามประวัติพื้นเพเดิมของ นพ.สมหมาย ทองประเสริฐ เป็นคนจังหวัดสิงห์บุรี สำเร็จการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะเข้าศึกษาต่อทางการแพทย์ที่ศิริราช และทำงานในร้านขายยาเพื่อส่งเสียตัวเองเรียนจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2494


หลังสำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานประจำแผนกศัลยกรรมที่โรงพยาบาลศิริราช และสนใจเรื่องการรักษามะเร็งเนื่องจากการรักษาโรคอื่นทางศัลยกรรมสามารถรักษาให้หายได้ง่าย แต่การรักษามะเร็งไม่ว่าจะผ่าตัดหรือฉายแสง สามารถทำได้ยาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นหายาสมุนไพร มาช่วยในการรักษามะเร็ง


ด้วยจิตสำนึกอยู่เสมอว่า “ในโลกนี้ธรรมชาติทำให้เกิดโรค ธรรมชาติก็ต้องมีตัวยาแก้โรคให้ด้วย”

หมอสมหมายได้ทำการค้นคว้าวิจัยการแพทย์ทางเลือกอย่างสมุนไพร จึงทำให้เกิดเส้นทางใหม่ที่เรียกว่า “การแพทย์ทางร่วม” ในการรักษามะเร็ง หลังจากย้ายไปสร้างความเจริญให้กับโรงพยาบาลตำรวจ แล้วลาออกเพื่อไปเป็นหมอที่บ้านเกิด คือ โรงพยาบาลสิงห์บุรี ด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า “ที่นี่ผมได้ทำงานที่ตั้งใจ พร้อมได้อยู่ดูแลคุณแม่ไปพร้อมๆ กัน”


คลีนิคหมอสมหมาย จึงเกิดขึ้น ณ บ้านไม้หลังใหญ่ ข้างตลาดปลาสด จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นที่รู้จักดีของชาวบ้านละแวกนั้น รวมทั้งคนต่างจังหวัดที่เข้ามารับการรักษาตามคำร่ำลือถึงกิตติศัพท์ “หมอเทวดา” จากที่เคยเปิดการรักษาโรคทั่วไป ได้ถูกปรับปรุงให้เป็นสถานที่สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างจริงจัง...ท่ามกลางความหวังของผู้เข้าทำการรักษาจำนวนมาก

ความหวังของผู้ป่วยนับพันชีวิต
ราวๆ 05.00 นาฬิกา ผู้ป่วยจากทั่วสารทิศต่างเดินทางมาเพื่อรอลงชื่อเข้ารับการรักษา บางรายมารอคลีนิกเปิดตั้งแต่ตี 2 ทันใดที่ประตูเปิดคลื่นผู้ป่วยนับร้อยต่างกรูเข้าไปเพื่อรอรับการรักษา ด้วยใบหน้าอย่างมีความหวังถึงผลการรักษาที่ดีขึ้น


การรักษาผ่านไปคนแล้วคนเล่า จากประสบการณ์การรักษาทั้งผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะเบื้องต้นซึ่งพอรักษาเยียวยาให้หายขาดได้ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ทำได้เพียงแค่ยืดเวลาชีวิตออกไป แม้เป็นความหวังที่ริบหรี่ แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจขึ้นมาได้บ้าง และนั่งรออย่างใจจดใจจ่อ แม้ว่าข้อความบนบอร์ดกระดานจะรายงานคิวที่ยาวเหยียดมากเท่าใดก็ตาม


ในทุกวันผู้ป่วยมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นร่วมๆ 100 กว่าคน ซึ่งเป็นผลมาจากสื่อที่เผยแพร่ออกไป ทั้งหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ ต่างประโคมข่าวไปทั่วทุกหนแห่ง แต่หมอสมหมายยังยืนยันเช่นเดิมว่า “จะตรวจทุกคน ไม่ต้องกลัวมาเสียเที่ยว” กว่าผู้ป่วยจะหมด เข็มนาฬิกาก็บอกเวลาเที่ยงคืนพอดี ถือเป็นอันจบภารกิจการทำหน้าที่ “หมอ” ของวันจรดคืน


ทุกวันนี้หมอสมหมาย ยังคงทุ่มเทกำลังเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยตั้งใจไว้ว่าจะเกษียณตัวเองเมื่ออายุ 90 ปี เพื่อพักผ่อนในบั้นปลายชีวิต แต่อย่างไรก็ตามยังคงรับปรึกษาปัญหาโรคมะเร็งต่อไป


“ปกติตามธรรมชาติใบไม้จะร่วงปีละ 1 ครั้ง เมื่อข้าพเจ้าอายุครบ 90 ปี ข้าพเจ้าจะเลิกรักษาโรคมะเร็งแล้วใบไม้จะร่วงตลอดทั้งปี”


มะเร็งคือโรคร้ายที่คร่าชีวิตของมนุษย์ราวใบไม้ร่วงทุกปี มีคนเสียชีวิตจากมะเร็งเป็นจำนวนมาก จัดเป็นโรคที่คร่าชีวิตอันดับต้นๆ ของไทย นพ.สมหมาย ได้นิยามมะเร็งร้ายไว้อย่างเห็นภาพชัดเจนว่า

มะเร็ง คือ โรคร้ายที่ย่องเข้ามา “ขโมย” ทุกอย่างจากชีวิตเราไป โดยไม่ทันระวังตัวเหมือนกับที่คนไข้ทุกคนต้องประสบ


โรคมะเร็ง คือ “ผู้ร้าย” ซึ่งร้ายที่สุด และมันจะหนีตำรวจสุดฤทธิ์ แม้การแพทย์จะให้ทำการเคมีบำบัดก็ไม่สามารถทำให้หายขาดได้


และเป็นเซลล์ร้ายที่เหมือนกับเศษ “ขี้ผง” ที่ซุกซ่อนอยู่ในร่างกายภายในอวัยวะของคน กวาดยังไงก็ไม่มีวันหมด วันนึงมันก็จะสะสมและเกาะแน่นขึ้นกว่าเดิม


ด้วยสาเหตุนี้การแพทย์ทางร่วมของหมอสมหมายจึงสามารถชลอใบไม้ร่วงในแต่ละปี เปรียบได้กับการช่วยชีวิตคนให้พ้นจากความเจ็บป่วย จนกลับไปใช้ชีวิตได้ดังเดิมอีกครั้งนับร้อยนับพันชีวิต

สูตรยาไม่ตายไปพร้อมกับผม
“ผมยกสูตรยานี้ให้องค์การเภสัชฯ ไปแล้ว แทนที่สูตรยาจะตายไปกับผม แต่ไม่แล้ว สมุนไพรนี้จะยังอยู่ จะมีคนรับไปต่อยอดจากผมอีกที” นายแพทย์สมหมายกล่าวอย่างดีใจ ที่สูตรยาเหล่านี้องค์การเภสัชกรรมได้นำไปผลิตและจำหน่ายให้คนไทย


โดยสูตรยาสมุนไพร 8 อย่าง ของหมอสมหมาย ประกอบด้วย พุทธรักษา ไฟเดือนห้า ปีกไก่ดำ พญายอ เหงือกปลาหมอ แพงพวย และข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้


สำหรับค่ารักษาพยาบาลที่ผ่านมานั้น หากเป็นการรักษาในโรงพยาบาลมีชื่อทั่วไป ค่ารักษาคงไม่น้อยกว่าหลักหมื่นหรือหลักแสน แต่สำหรับหมอสมหมาย ได้กล่าวติดตลกไว้ว่า “ใครนั่งรถเบนซ์มา ก็แพงหน่อย ใครไม่มีตังค์มา ก็ให้ฟรี!”


ก่อนจะขยายความเสริมว่า “รักษามาเกือบ 40 ปี มีพอกินพอใช้ แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้น มันอยู่ที่ใจ ได้น้ำใจ ได้ทางความรู้สึก แค่นั้นพอแล้ว”


ไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่มาทำการรักษากับหมอสมหมาย แม้แต่ชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลกที่ได้ยินชื่อเสียงในการรักษาโรคมะเร็งให้หายได้ ต่างก็ข้ามน้ำข้ามทะเลมาให้รักษาด้วยความหวังที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข

“ถึงแม้นไม่ทำดีในแดนดิน จะถวิลถึงสวรรค์นั้นอย่าหมาย
ถ้าแม้นไม่มีน้ำใจในอุรา ท่านจะหาน้ำใจจากใครได้” คติประจำใจของ นพ.สมหมาย ทองประเสริฐ

สามารถติดตามอ่านชีวประวัติ “นายแพทย์สมหมาย ทองประเสริฐ หมอเทวดา ผู้รักษามะเร็งด้วยสมุนไพร” ได้แล้ววันนี้ในฉบับการ์ตูน วางแผงจำหน่ายที่ บีทูเอส, ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์, ร้านนายอินทร์, บุ๊คสไมล์ และบุ๊คเฟรนด์ หรือสั่งซื้อได้ทาง Call Center 0-2633-5353

อนึ่ง นายแพทย์สมหมาย ทองประเสริฐ จะมาที่บูท "ASTVผู้จัดการ" (M01 โซน ซี 1) ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเปิดตัวหนังสือ"นายแพทย์สมหมาย ทองประเสริฐ หมอเทวดา ผู้รักษามะเร็งด้วยสมุนไพร" ฉบับการ์ตูน พร้อมพูดคุยกับผู้อ่านและแจกลายเซ็น ในวันนี้ (6เม.ย.) ตั้งแต่เวลา 13.30 น.เป็นต้นไป


-----------------------------


ประวัติของนายแพทย์สมหมาย ทองประเสริฐ
พ.ศ. 2464 เกิดเมื่อวันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2464
พ.ศ. 2487-2488 สำเร็จการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2488-2489 เป็นอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2490-2493 สำเร็จการศึกษาการแพทยศาสตร์บัณฑิต ศิริราชพยาบาล
พ.ศ. 2494-2495 เป็นแพทย์ประจำอยู่ที่สถานเสาวภา
พ.ศ. 2495-2497 เป็นแพทย์แผนกศัลยกรรมโรงพยาบาลศิริราช
พ.ศ. 2499-2517 เป็นผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลสิงห์บุรี และเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิงห์บุรี
พ.ศ. 2518-2520 เป็นแพทย์ใหญ่สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี
พ.ศ. 2521 ได้ทำการศึกษาวิจัย เริ่มใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรคมะเร็ง โดยใช้แพทย์แผนปัจจุบันร่วมกับสมุนไพร
พ.ศ. 2542 มอบสูตรยาให้กับองค์การเภสัชกรรมโดยร่วมงานกับ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ผู้ได้รับรางวัลแม็กไซไซ
พ.ศ. 2552 ประสบความสำเร็จในการคิดค้นเป็นสูตรยาตำรับแรกของเมืองไทยที่เป็นที่ยอมรับในการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน
ปัจจุบันยังคงเปิดคลีนิครักษาโรคมะเร็งอยู่ที่จังหวัดสิงห์บุรี โดยอุทิศแรงกาย แรงใจ และเวลาเพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง


ท่านประเสริฐจริงๆ

ที่มา และเข้าไปอ่านการ์ตูนได้ที่
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000043411