วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

ลมหายใจไร้มะเร็งปอด

การจะรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งที่ส่วนใดก็ตาม หลักการง่ายๆ คือ ต้องกำจัดมะเร็งตั้งแต่ระยะแรก ก่อนที่มะเร็งจะเติบโตและเกิดการแพร่กระจาย

วันที่ 31 พ.ค. วันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งในทุกๆ ปีจะมีการรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรค “มะเร็งปอด” ทว่าในปัจจุบันมะเร็งปอดไม่ได้เป็นเฉพาะในผู้สูบบุหรี่เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้ โดยปัจจุบันพบว่ามะเร็งปอดพบได้มากขึ้นในผู้หญิง และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สูบบุหรี่ยังถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงสูงกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่

“นพ.กิตติชัย เหลืองทวีบุญ” หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้กล่าวในงานสัมมนาโครงการส่งเสริมความรู้ผู้ป่วย “ลมหายใจ ไร้มะเร็งปอด” ซึ่งศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับบริษัท แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) ได้จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอด และมุ่งหวังให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพของตนเอง เพื่อจับสัญญาณมะเร็งร้ายก่อนจะสายเกินแก้ว่า “ปอด” เป็นหนึ่งในอวัยวะยอดฮิตที่เซลล์มะเร็งชื่นชอบ เนื่องจากเป็นอวัยวะที่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงเป็นจำนวนมาก โดยสถิติจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ประเทศไทยมีคนป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดวันละ 26 คน และเสียชีวิตวันละ 25 คน โดยโรคมะเร็งปอดพบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้ชาย และอันดับ 4 ในผู้หญิง

ใครเสี่ยงมะเร็งปอด

มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ มะเร็งที่เกิดขึ้นในปอดเอง คือ มีจุดหรือก้อนเนื้อเล็กๆ เกิดขึ้นในปอด ที่มีการเติบโตและแบ่งตัวอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งสามารถแบ่งชนิดย่อย เช่น ชนิดเซลล์เล็ก ชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก เป็นต้น อีกชนิดหนึ่งคือ มะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่นๆ เช่น ในผู้ป่วยมะเร็งตับ มะเร็งเต้านม ฯลฯ ก็มีโอกาสที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไปตามกระแสเลือดและลุกลามมายังปอดได้

สำหรับสาเหตุการเกิดมะเร็งปอดที่พบบ่อย “รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ” อายุรแพทย์ หน่วยมะเร็งวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งอย่างต่อเนื่อง อาทิ ควันบุหรี่ ควันไอเสียตามท้องถนน โดยสารเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้เนื้อเยื่อแบ่งตัวแบบผิดปกติ

จากสถิติพบว่าผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดกว่าร้อยละ 90 เกิดจากการสูบบุหรี่ แต่ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันพบมะเร็งปอดมากขึ้นในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ และยังพบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโรคมะเร็งปอดมากขึ้น จากจำนวนผู้หญิงทั้งหมดที่เป็นมะเร็งปอด ร้อยละ 50 เท่านั้นที่เกิดจากการสูบบุหรี่ หรือสูดดมควันบุหรี่ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งไม่ทราบปัจจัยแน่นอน ซึ่งอาจมีสาเหตุจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม อาหารการกิน หรือรูปแบบการใช้ชีวิต ซึ่งโรคมะเร็งปอดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสูบหรือสูดดมควันบุหรี่สามารถรักษา ได้ด้วยการผ่าตัด และมักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

รู้รักษา…ป้องกันได้

อย่างไรก็ตาม มะเร็งปอดเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบและเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งส่วนใหญ่จะทราบได้จากการตรวจเช็กสุขภาพปอด โดยแพทย์ตรวจพบจุดหรือก้อนเนื้อผิดปกติในปอด เนื่องจากมะเร็งปอดในระยะแรก ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด หอบเหนื่อย ฯลฯ ให้เห็นเด่นชัด

ดังนั้น การตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำคือวิธีที่ดีที่สุด ด้วยการตรวจเอกซเรย์ปอด โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติสูบบุหรี่จัด มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งปอด ควรตรวจเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพบว่ามีจุดผิดปกติเกิดขึ้น แพทย์จะตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือตรวจเนื้อเยื่อปอดอีกครั้งเพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็งแน่นอนหรือไม่ และพิจารณาแนวทางการรักษาต่อไป หากผู้ป่วยรอสังเกตอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา หรือมาพบแพทย์เมื่อแสดงอาการแล้ว มักจะตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลุกลามมาก หรืออยู่ในระยะสุดท้ายแล้ว

“การจะรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งที่ส่วนใดก็ตาม หลักการง่ายๆ คือ ต้องกำจัดมะเร็งตั้งแต่ระยะแรก ก่อนที่มะเร็งจะเติบโตและเกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะสำคัญอื่นๆ ซึ่งการผ่าตัดในผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็กในระยะเริ่มแรกนั้น หรือไม่เกินระยะที่ 2 นั้น จะมีโอกาสหายค่อนข้างสูงถึง 70-80% โดยไม่ต้องให้ยาเคมีบำบัดหรือฉายแสงหลังผ่าตัด แต่ถ้ามะเร็งลุกลามไปแล้วจะไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดเพื่อประคับประคองอาการต่อไป ถ้าเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 2 หรือ 3A การให้ยาเคมีบำบัดอย่างถูกต้องเหมาะสมเสริมหลังผ่าตัดสามารถทำให้ผู้ป่วย มะเร็งปอดหายขาดได้มาก ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางการรักษาโรคมะเร็งปอดในปัจจุบันนี้ กรณีถ้าโรคดื้อยา เกิดโรคเป็นซ้ำ นอกจากยาเคมีบำบัดแล้ว ยังมีนวัตกรรมใหม่ซึ่งเป็นยารักษาตามเป้าหมาย ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ ผู้ป่วยบางส่วนไม่กล้ามาพบแพทย์ เนื่องจากหวาดกลัวต่อวิธีรักษาและผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการให้ยาเคมี บำบัด หรือมาพบแพทย์ก็ต่อเมื่ออาการอยู่ในระยะสุดท้ายแล้ว ซึ่งในปัจจุบันแนวทางการรักษาและยามะเร็งนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เข้าใจ เนื่องจากได้มีการพัฒนาคิดค้นสูตรยาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง เกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยน้อยลง และเอื้อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ อย่างไรก็ตาม ความรักความเข้าใจจากครอบครัว และกำลังใจอันเข้มแข็งของผู้ป่วยเอง จะเป็นพลังสำคัญให้ผู้ป่วยเอาชนะโรคร้ายได้สำเร็จในที่สุด” รศ.นพ.นรินทร์ กล่าว

โดย…มัลลิกา นามสง่า
จาก โพสทูเดย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น