วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “อาหารเสริม” ปัจจุบันมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยเรื่องความสวยความงาม อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้ควบคุมน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ลดความเหี่ยวย่นของผิวหนัง นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสมรรถนะของร่างกายด้านต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มนี้จะเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่อยู่ช่วงพักฟื้น


หากเดินชมห้างร้านต่าง ๆ ในท้องตลาดจะพบว่ามีผลิตภัณฑ์เหล่านี้วางจำหน่ายกันหลากหลายชื่อการค้า หลายรูปแบบและมีการโฆษณาชวนเชื่อหลายรูปแบบ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีความสับสนและตัดสินใจได้ยากว่าจะเลือกผลิตภัณฑ์ประเภทใดจึงจะเหมาะสม และผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะส่งผลดีต่อร่างกายอย่างที่พึงประสงค์หรือไม่ บทความนี้จะนำท่านไปสู่โลกแห่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อไขข้อสงสัยให้กระจ่างชัดยิ่ง

สมุนไพร กับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่ที่มีในท้องตลาดได้มาจากสมุนไพร คำว่า “สมุนไพร” ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปีพุทธศักราช 2546 ระบุว่า “สมุนไพร (สะ-หมุน-ไพร) น. ผลิตผลธรรมชาติ ได้จาก พืช สัตว์ และแร่ธาตุ ที่ใช้เป็นยา หรือผสมกับสารอื่นตามตำรับยา เพื่อบำบัดโรค บำรุงร่างกาย หรือใช้เป็นยาพิษ เช่น กระเทียม น้ำผึ้ง รากดิน (ไส้เดือน) เขากวางอ่อน กำมะถัน ยางน่อง โล่ติ๊น)

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มาจากสมุนไพร เช่น โสมสกัดในรูปแบบต่าง ๆ จัดเป็นสมุนไพรจำพวกพืช น้ำมันตับปลา จัดเป็นสมุนไพรจำพวกสัตว์ และสังกะสี จัดเป็นสมุนไพรจำพวกแร่ธาตุ

บทความนี้จะได้กล่าวถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เริ่มต้นจากผลิตภัณฑ์จากเห็ดหลิงจือ ผลิตภัณฑ์จากกระเทียม ผลิตภัณฑ์จากแป๊ะก้วย และผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปลา (fish oil) ตามด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เกี่ยวข้องกับความงาม ผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักชนิดต่าง ๆ

ผลิตภัณฑ์จากโสม
โสม เป็นสมุนไพรที่ชาวจีนใช้มานานนับพันปี ได้จากพืชในสกุล Panax ในวงศ์ Araliaceae มีหลายชนิด ที่ขึ้นชื่อ และใช้กันในเชิงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างแพร่หลายมี 2 ชนิด ชนิดแรกในภาษาจีนแมนดารินเรียกว่า “เริ๋นเซิน” ภาษาแต้จิ๋วเรียก “หยิ่งเซียม” แปลเป็นไทยว่าโสมคน เนื่องจากรากโสมนั้นมีรูปลักษณ์คล้ายคน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panax ginseng C.A. Meyer

ชนิดที่สองเป็นโสมอเมริกันมีถิ่นกำเนิดตามแนวตะเข็บชายแดนอเมริกากับแคนาดา ในภาษาจีนแมนดารินเรียก “หยางเซิน” แต้จิ๋วเรียก “เอี่ยเซียม” ลักษณะรากจะไม่แตกแขนงอย่างโสมคน และมีขนาดเล็กกว่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panax quinquefolium L. ซึ่งทั้งสองชนิดมีสรรพคุณคล้ายคลึงกัน

ในโสมทั้งสองชนิดดังกล่าวมีสาระสำคัญกลุ่มซาโปนินไกลโคไซด์ (saponin glycosides) มีอนุพันธ์หลายชนิดจัดอยู่ในกลุ่มย่อยที่ชื่อว่า จินเซโนไซด์ (ginsenosides) ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่มย่อยนี้กว่า 50 อนุพันธ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้จากโสมสกัดในปัจจุบันนี้มีหลายรูปแบบ ได้แก่สารสกัดในแคปซูล สารสกัดโสมในรูปน้ำสกัดเข้มข้น สารสกัดโสมในรูปเม็ดแป้ง

ตำรายาของจีนกล่าวว่าโสมมีสรรพคุณบำรุงให้ร่างกายแข็งแรงและมีอายุยืน ในปัจจุบันมีการทำสารสกัดโสม G115 ซึ่งมีจินเซโนไซด์ 8 ชนิด มีความเข้มข้นที่พอเหมาะต่อการแสดงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา มีข้อดี คือ โสมจะทำให้ร่างกายทนต่อการทำงานหนักได้นาน และปรับสภาพร่างกายให้เข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ กล้ามเนื้อ และระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังช่วยความเครียด คลายความกังวลได้ มีการศึกษาทางคลินิกของโสมสกัดในผู้สูงอายุ โดยการให้โสมสกัด G115 แก่ผู้สูงอายุ เป็นระยะเวลานาน 12 สัปดาห์ พบว่า ผู้สูงอายุที่ได้รับโสมสกัดมีสมาธิในการทำงานมากขึ้น มีความจำ อารมณ์ การนอนหลับ ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับโสมสกัด

นอกจากการศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุแล้ว ยังมีการศึกษาในผู้ที่ต้องใช้แรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มนักกีฬา พบว่าปริมาณการใช้ออกซิเจนระดับแลกเทตในพลาสมา อัตราการเต้นของหัวใจ ในกลุ่มนักกีฬาที่ได้รับโสมสกัดมีปริมาณที่น้อยกว่ากลุ่มควบคุม ซึ่งเป็นผลดีต่อร่างกายของนักกีฬาเป็นอย่างยิ่ง การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงได้ และยังสามารถเพิ่มความดันโลหิตในผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตต่ำได้เช่นกัน นอกจากผลทางคลินิกที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วยังพบว่าโสมสามารถลดอนุมูลอิสระได้ ซึ่งเป็นผลทำให้การเสื่อมของเซลล์ลดลง ทำให้ความชราภาพของเซลล์เกิดได้น้อยลงไปด้วย จึงเชื่อได้ว่าโสมสามารถชะลอความชราได้

การบริโภคโสมมีข้อจำกัดอยู่ที่หากบริโภคเป็นเวลานาน ๆ ในผู้บริโภคบางรายอาจเกิดอาการนอนไม่หลับ กระวนกระวายใจ และมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ร้อนในได้ จึงต้องพิจารณาสภาพของตนเองก่อนที่จะเลือกบริโภคโสม เช่น คนที่มีอาการของการร้อนในบ่อย ๆ ถ่ายลำบาก หรือที่ทางภาษาแพทย์พื้นบ้านเรียกว่า ธาตุแข็ง ไม่แนะนำให้บริโภคโสม เนื่องจากจะเกิดอาการต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ได้อย่างง่ายดายทีเดียว

ผลิตภัณฑ์จากเห็ดหลิงจือ
เห็ดหลิงจือ เป็นสมุนไพรจีนที่มีใช้มานานา ปรากฏในตำรายาจีนมาแต่โบราณ ถือเป็นสมุนไพรที่ทรงคุณค่าอย่างหนึ่งของจีน ชื่อของเห็ดหลิงจือมาจากคำภาษาจีนว่า หลิง แปลว่าวิญญาณ และจือ แปลว่า พืชสมุนไพร รวมแล้วหมายถึง สมุนไพรกู้วิญญาณ ที่เรียกเช่นนี้เพราะ ชาวจีนเชื่อว่าหลิงจือเป็นยาอายุวัฒนะ และแก้โรคต่าง ๆ ได้มากมาย ในทางวิทยาศาสตร์ เห็ดหลิงจือ เป็นเห็ดในวงศ์ Polyporaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garnoderma lucidum (Leys. Ex Fr.) Karst. มีชื่อเรียกท้องถิ่นหลายชื่อ ภาษาอังกฤษเรียก lacquered mushroom หรือ lucid ganoderma ที่เรียกเช่นนี้เพราะผิวเห็ดมีสีแดงเงาเหมือนไม้ที่ถูกทาด้วยแลคเกอร์ เห็ดหลิงจือที่ใช้ในทางยาจีนได้มาจากสองสายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์สีแดง และสายพันธุ์สีม่วง โดยสายพันธุ์สีแดงจะมีปริมาณสารสำคัญสูงกว่าจึงเป็นที่นิยมสูงกว่าชนิดสีม่วง

การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของเห็ดหลิงจือ พบว่ามีสาระสำคัญ 3 กลุ่ม คือ สารกลุ่มไตรเทอร์ปีน (triterpenes) สารกลุ่มน้ำตาลเชิงซ้อน (polysaccharides) สารกลุ่มสเตอรอยด์ (steroids) สารกลุ่มแรกช่วยลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการหลั่งฮิลตามีน ซึ่งทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ ส่วนสารกลุ่มที่สอง ช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินส่งผลให้เซลล์นำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้สะดวก ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง นอกจากนี้ยังเพิ่มศักยภาพของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเฉพาะภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส และเซลล์ร่างกายที่ผิดปกติ เช่น เซลล์มะเร็ง สารกลุ่มสุดท้ายพบว่าช่วยลดความเป็นพิษต่อตับ ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคตับอักเสบ และโรคตับแข็ง และมีผลต่อระบบต่าง ๆ นั้นเป็นดังนี้

- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน พบว่าน้ำสกัดเห็ดหลิงจือจะเพิ่มการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งมีหน้าที่ทำลายเชื้อโรค ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถปรับภูมิคุ้มกัน (immunomodulator) ได้ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้และผู้ป่วยโรคหอบหืด มีอาการดีขึ้น และยังลดผลการตอบสนองของร่างกายต่อการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้

- ผลต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด สารสกัดเห็ดหลืงจือจะช่วยขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่ขาดเลือดและเพิ่มแรงบีบของกล้ามเนื้อหัวใจโดยไม่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจรวมถึงลดระดับไขมันในหลอดเลือดทั้งในรูปของคอเลสเตอรอลและฟอสโฟไลปิด ทำให้ภาวะหลอดเลือดอุดตันลดลง และยังพบว่าเมื่อได้รับสารสกัดเห็ดหลิงจืออย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ระบบหลอดเลือดฝอยส่วนปลายโดยเฉพาะบริเวณชั้นผิวหนัง มีการเจริญมากขึ้นส่งผลให้ผิวพรรณดีและลดปัญหาผมร่วงได้ สารสกัดเห็ดหลิงจือยังทำให้หลับสบาย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่นอนไม่หลับ

ปัจจุบันในท้องตลาดมีเห็ดหลิงจือหลายรูปแบบ เช่น ชนิดที่ฝานเป็นแผ่นให้นำมาต้มน้ำดื่ม และชนิดเม็ด แต่ชนิดที่ไม่ควรซื้อบริโภคคือ ชนิดเม็ด หรือเป็นแคปซูล เพราะเป็นรูปแบบที่กินเข้าไปแล้วไม่เกิดคุณประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะร่างกายไม่สามารถที่จะดูดซึมสารสำคัญในรูปแบบนี้ได้

การบริโภคหากเทียบตามขนาดในตำรายาจีน ต้องใช้เห็ดหลิงจือแห้งน้ำหนัก 3 ถึง 5 กรัม หรือเทียบเท่าสารสกัดเห็ดหลิงจือ 600 ถึง 800 มิลลิกรัม ต่อวัน โดยรับประทานก่อนนอนเพื่อทำให้นอนหลับสบายขึ้น

ผลิตภัณฑ์จากกระเทียม
กระเทียมเป็นสมุนไพรและเครื่องเทศที่ใช้มาแต่โบราณ เป็นพืชในวงศ์ Alliaceae มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Allium sativum Linn. ใช้ขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ กัดเสมหะ และใช้ภายนอกแก้โรคกลากเกลื้อน กระเทียมมีสาระสำคัญอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะสารที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ สารกลุ่มนี้ได้แก่ อัลลิอิน (alliin) ซึ่งจะถูกสลายด้วยเอนไซม์ อัลลิอินไลเอส (alliin lyase) ได้สาร อัลลิซิน (allicin) และจะถูกเปลี่ยนเป็น อะโยอีน (ajoene) ซึ่งกระบวนการสลายตัวเหล่านี้จะเกิดเมื่อกลีบกระเทียมถูกทำลายไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม
กระเทียมมีสรรพคุณหลายด้าน เช่น ช่วยลดระดับไขมันในเลือด โดยเฉพราะระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ช่วยป้องกันการเกิดภาวะไขมันอุดตันในหลอดเลือด (atherosclerosis) และป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ซึ่งส่งผลต่อการป้องกันการเกิดลิ่มเลือด (thrombus) อันเป็นสาเหตุของภาวะหลอดเลือดอุดตันและกระเทียมยังช่วยลดความดันโลหิต และป้องกันการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ ซึ่งมีฤทธิ์เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจ และหลอดเลือดทั้งสิ้น นอกจากนี้อัลลิซินในกระเทียมมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ และมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด

สำหรับผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง ใช้กระเทียมผง 600 ถึง 900 มิลลิกรัม ต่อวัน เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน เมื่อใช้ไปราว 1 เดือน แล้วจะลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดในร่างกายได้ เป็นการช่วยใหการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดมีอยู่หลายชนิดและมีราคาสูง หากต้องการประหยัดก็ต้องหันมากินกระเทียมสดแทน แต่ก็ต้องทนกับกลิ่น และรสอันร้อนแรงของกระเทียมสักเล็กน้อย ในการกินกระเทียมสดนั้นให้กินในมื้ออาหารทุกมื้อ มื้อละ 5 ถึง 6 กลีบ โดยกินระหว่างกินอาหารอื่น เพราะถ้ากินกระเทียมอย่างเดียวจะทำให้เกิดความระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้

ผลิตภัณฑ์จากแป๊ะก้วย
แป๊ะก้วย จัดอยู่ในวงศ์ Ginkgoaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ginkgo biloba L. คนจีนได้นำแป๊ะก้วยมาใช้เป็นยากว่า 4,000 ปีแล้ว ส่วนใบมาเป็นยาแก้หืด และยาแก้ไอ และส่วนเนื้อในเมล็ดปรุงเป็นอาหารทั้งคาว หวาน ในการศึกษาทางเคมีพบว่า สารสกัดในใบแป๊ะก้วยมีสารสำคัญในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 24 กลุ่มไดเทอร์ปีน (diterpene) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.8 กลุ่มเซสควิเทอร์ปีน (sesquiterpene) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.6 สารเหล่านี้จะมีฤทธิ์ต่อระบบไหลเวียนโลหิตของร่างกาย ได้แก่ กิงโกไลด์ (gingkgolide) ซึ่งเป็นสารกลุ่มไดเทอร์ปีน จะช่วยยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด และละลายลิ่มเลือด สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ทำให้หลอดเลือดยืดหยุ่นดีขึ้น จึงเหมาะกับผู้สูงอายุ เพราะในผู้สูงอายุหลอดเลือดจะเสื่อมสภาพ และเริ่มแข็งตัวเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง และเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดในสมองแตก นอกจากนี้แป๊ะก้วยยังช่วยทำให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตไปสู่สมองดียิ่งขึ้น ทั้งยังมีผลต่อความจำ ทำให้มีการนำสารสกัดจากใบแป๊ะก้วยมาใช้กับผู้ป่วยที่เป็นอัลไซเมอร์ (Alzheimer) ซึ่งพบว่าช่วยให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มี อาการดีขึ้น

ผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมีมากมาย สิ่งที่ต้องสังเกตก่อนเลือกซื้อคือปริมาณสาระสำคัญที่ระบุในฉลาก ต้องระบุว่ามีสารสกัดจากใบแป๊ะก้วยที่มีปริมาณฟลาโวนอยด์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 24 ปริมาณการใช้จะใช้สารสกัด 40 ถึง 80 มิลลิกรัมต่อวัน

ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปลา
น้ำมันปลา (fish oil) เป็นกรดไขมันจากสัตว์จำพวกปลาจากทะเล และสัตว์ทะเลชนิดอื่น ๆ ที่เรียกว่า โอเมกา-3 (omega-3-polyunsaturated fatty acids) จุดเริ่มต้นแห่งการนำน้ำมันปลามาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เกิดจากการศึกษาชาวเอสกิโมกลุ่มหนึ่งที่ดำรงชีวิตโดยกินวาฬ และแมวน้ำเป็นอาหาร ซึ่งอาหารจากทะเลจะมีปริมาณไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าอาหารจากแหล่งอื่น และมีปริมาณไขมันไม่อิ่มตัวอยู่สูง อีกทั้งปริมาณไขมันไม่อิ่มตัวนั้น ส่วนใหญ่เป็นชนิด โอเมกา-3 พบว่าภาวะไขมันในหลอดเลือดของชาวเอสกิโมกลุ่มนี้ดีมาก คือ มีไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอล low density lipoprotein (LDL) very low density lipoprotein (VLDL) ต่ำกว่าชนชาติในภาคพื้นทวีปอื่น ๆ ที่มีการบริโภคอาหารจากทะเลน้อยกว่า

จากการศึกษาทางคลินิก พบว่าการใช้น้ำมันปลาในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจขาดเลือด โดยให้รับประทานน้ำมันปลา 0.9 กรัมต่อวัน นาน 2 ปี พบว่าอัตราการตายลดลงร้อยละ 25 แต่อาการปวดหัวใจไม่ได้ลดลง นักวิจัยจึงลงความเห็นสรุปว่าผลของน้ำมันปลาช่วยลดการเกิดการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจลง ทำให้อัตราการตายลดลง แม้ว่าการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับการป้องกัน และบำบัดโรคหัวใจของน้ำมันปลาจะยังน้อยอยู่ แต่ทุกครั้งของการศึกษาจะพบผลทางคลินิกที่น่าพึงพอใจ นอกจากนี้ยังพบว่าช่วยให้ผนังหลอดเลือดมีสภาพดีขึ้นอีกด้วย นอกจากน้ำมันปลาแล้ว ยังมีไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-6 ซึ่งมักพบในพืช และสัตว์บก ซึ่งมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาคล้าย ๆ กับ โอเมกา-3


เอกสารอ้างอิง

๑. http://www.vcharkarn.com
๒. ndoae.doae.go.th/Q_product/Q_product_001.htm
๓. www.hbwellness.info/?p=688
๔. www.alternativecomplete.com/gano.php
๕. mail.vcharkarn.com/varticle/38344

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น