วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

แมคโครไบโอติคส์ ( Macrobiotics )

โภชนาบำบัด(สูตรอาหารต่างๆ)
แมคโครไบโอติคส์ ( Macrobiotics )


1. แมคโครไบโอติคส์ ( Macrobiotics )
ชีวิตสดใส ไม่เจ็บไม่ป่วย … ด้วยวิถีแมคโครไบโอติกส์
แมคโครไบโอติกส์ เน้นวิถีชีวิตตามธรรมชาติ อาหารควรปลูกด้วยวิธีดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า "เกษตรอินทรีย์ หรือ Organic food เมื่อได้อาหารเหล่านี้มาแล้วหากต้องปรุง ก็ควรปรุงแต่งแต่น้อย ด้วยวิธีการง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ปรุงรสโดยไม่จำเป็น เน้นรสชาติของอาหารตามธรรมชาติ เช่นหวานจากผักสด เค็มจากเกลือทะเล เปรี้ยวจากผักดอง หรือผลไม้รสเปรี้ยวต่าง ๆ เผ็ดร้อนด้วยรสของพืชผักสมุนไพร

ความหมายของแมคโครไบโอติกส์
ความหมายของคำว่า "แมคโคร" คือ ความยิ่งใหญ่ ยืนยาว "ไบโอ" คือ ชีวิต ดังนั้น แมคโครไบโอติคส์ คือวิถีชีวิตที่ยิ่งใหญ่ งดงาม มีอายุยืนยาว ซึ่งต้องมีการบริโภคอาหารและการปฏิบัติตัวในการดำรงชีวิต ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ การบริโภคอาหาร หลักสำคัญ คือ บริโภคอาหารที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด ไม่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่มีการปรุงแต่งด้วยสารเคมีต่างๆ เป็นอาหารที่หาได้ในท้องถิ่น และบริโภคอย่างสมดุล

หลักการบริโภคอาหารแมคโครไบโอติคส์
หลักของการกินแบบแมโครไบโอติกส์นั้น คือ ความพอเหมาะพอดี หมายถึงให้กินตามที่ร่างกายต้องการอย่างแท้จริง ทั้งชนิดและปริมาณของอาหาร และต้องเป็นอาหารที่มาจากธรรมชาติ ใช้วัตถุดิบที่สด สะอาด ปราศจากสารพิษต่างๆ มีการปรุงแต่งรสชาติแต่พอดี ไม่มากจนกลบรสชาติแท้จริงของอาหาร โดยใช้เครื่องปรุงรสจากธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการแต่งรส แต่งสี หรือแต่งกลิ่นโดยเด็ดขาด เมื่อร่างกายได้รับแต่อาหารที่มีคุณภาพดีและเหมาะสมกับตัวเองในปริมาณที่เพียงพอ ไม่มากหรือน้อยเกินไป ประกอบกับมีการออกกำลังที่พอเหมาะ และมีจิตใจที่สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ ย่อมถึงซึ่งสุขภาพที่ดีและมีอายุยืนยาว อันเป็นสุดยอดความปรารถนาของคนทั่วไป

อาหารแนวแมคโครไบโอติกส์ จะมีการกำหนดสัดส่วนโดยเฉลี่ยของอาหารแต่ละประเภทในแต่ละมื้อ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละคนและในแต่ละท้องถิ่นตามความเหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ โดยทั่วๆไปแล้วจะมีสัดส่วนมาตรฐานดังนี้

- เมล็ดธัญพืชไม่ผ่านการขัดสี 50-60%
- น้ำซุป 5-10%
- ผักต่างๆ 25-30%
- ถั่วเมล็ดแห้งและสาหร่ายทะเล 5-10%
- อาหารเสริมพวกปลา ผลไม้ ของว่างสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
- อาหารอื่น ๆ เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส

สัดส่วนนี้เป็นเพียงแนวทางกว้างๆ สำหรับเป็นหลัก ในการปฏิบัติต้องนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาวะโดยรวมของตนเองดังที่กล่าวไว้แล้ว กลุ่มที่ต้องพิจารณาให้ดีคือ เด็กทารก เด็กกำลังเจริญเติบโต สตรีมีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ซึ่งบุคคลเหล่านี้สามารถเลือกกินให้กว้างๆได้ ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่สูตรมาตรฐานเท่านั้น สามารถจะเสริมด้วยเนื้อปลาหรือเนื้อสัตว์ชนิดอื่นได้บ่อยกว่าคนทั่วไป มิเช่นนั้นอาจเกิดปัญหาสุขภาพจากการขาดสารอาหารบางชนิดได้

สำหรับการปรุงอาหารแมคโครไบโอติกส์นั้น จะใช้ความร้อนจากแก๊สหรือถ่านไม้ โดยพยายามหลีกเลี่ยงอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือไมโครเวฟในการปรุงอาหาร เนื่องจากมีความเชื่อว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะทำลายพลังชีวิตของอาหาร นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ปรุงอาหารอย่างถูกสุขอนามัย และที่สำคัญคือ ปรุงด้วยความรักและจิตใจที่แจ่มใส

หากใครได้ศึกษาวิธีการปรุงและการจัดอาหารแบบแมคโครไบโอติกส์อย่างเข้าใจถ่องแท้แล้ว จะพบว่า อาหารที่ดีต่อสุขภาพก็สามารถอร่อยได้ และอร่อยอย่างมีคุณค่าเสียด้วย อาหารแมคโครไบโอติกส์ไม่ใช่อาหารที่มีรสชาดจืดชืดน่าเบื่อ แต่หากเป็นอาหารที่มีความสมดุลในสัดส่วน มีความหลากหลายในส่วนผสม มีรสกลมกล่อมจากเครื่องปรุงตามธรรมชาติ และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่จะถ่ายทอดไปเป็นพลังกายที่แข็งแกร่งและพลังใจที่เข้มแข็งให้เราใช้ในการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพต่อไป

การเคี้ยวอาหาร เคี้ยวให้ละเอียด 30-50 ครั้งก่อนกลืน ขณะกินอาหารต้องมีอารมณ์สงบ ไม่กังวลและนึกถึงที่มาของอาหาร เช่น ดิน แสงแดด อาหาร น้ำ ชาวนา ฯลฯ กินอาหารที่ปลูกในท้องถิ่น กินเมื่อหิว และกินเพียง 2 มื้อต่อวัน ไม่กินอาหารหลังตื่นนอนใหม่หรือก่อนเข้านอน จำกัดอาหารจากสัตว์ ไข่ นม และน้ำตาล การปฏิบัติตัว หลักปฏิบัติตัวในการดำรงชีวิตประจำวัน

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- สร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- อยู่ในที่ ๆ มีอากาศถ่ายเท และแสงแดดส่องถึง
- ใช้เสื้อผ้าเครื่องสำอางที่ทำมาจากธรรมชาติ

ข้อเสนอแนะ
อาหารแมคโครไบโอติคส์ แบบที่ยังบริโภคปลาได้บ้าง เหมาะสำหรับผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุปกติสำหรับเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ยังไม่ควรมีวิถีชีวิตแบบแมคโครไบโอติคส์ เพราะเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารหลายอย่าง บุคคลกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ควรได้รับอาหาหรโปรตีนคุณภาพดี เช่น นม ไข่ เนื้อสัตว์เป็นประจำและมีพืชผักพอสมควร

เอกสารอ้างอิง
๑. www.backtohome.org/autopagev4/show_page.php?t...
๒. http://ommyphuket.wordpress.com/
๓. www.thaihealth.or.th/node/6178

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น