วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

โฮมิโอพาที(Homeopathy)

สารชีวภาพอื่นๆ

โฮมิโอพาที(Homeopathy)
โฮมิโอพาที : ทางเลือกรักษาโรค

บางท่านคงจะเคยคุ้นหรือได้ยินคำนี้มาบ้างแล้ว แต่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้เรื่องราวความเป็นมาของการบำบัดรักษาในแขนงนี้ เพราะฟังชื่อก็แปลกๆ กว่าการรักษาที่เราเคยได้ยินในทุกวันนี้ ถ้าอย่างนั้นลองมาดูความเป็นมาของการรักษาแบบนี้กันดีกว่า

โฮมีโอพาธี เป็นการมองร่างกาย และจิตใจผู้ป่วยเป็นภาพรวมเดียวกัน แตกต่างจากแพทย์แผนปัจจุบันที่รักษาโรคตามอาการ ดังนั้นก่อนจะบำบัดผู้ป่วย จะต้องมีการสัมภาษณ์ พูดคุยในเรื่องทั่วไป เช่น บุคลิกภาพ ประวัติทางการแพทย์ของครอบครัว อารมณ์ ความรู้สึก เป็นต้น จากนั้นถึงประมวลออกมาเป็นภาพอาการรวม และทำการบำบัดรักษาต่อไป

การบำบัดด้วยโฮมีโอพาธีนับเป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย มีคนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่รู้จักและคุ้นเคยกับการบำบัดด้วยวิธีดังกล่าวการบำบัดด้วยโฮมีโอพาธีเป็นการบำบัดที่กองการแพทย์ทางเลือกนำมาศึกษาอยู่ในลำดับต้นๆ เนื่องจากการบำบัดด้วยวิธีดังกล่าวมีความน่าสนใจในแง่ของการศึกษาหลายๆด้าน ทั้งในแง่ขององค์ความรู้ ความเหมาะสมและศักยภาพในการนำไปพัฒนาต่อของประเทศ ความแพร่หลายและความนิยมในการนำไปใช้ทั่วโลก รวมทั้งกำลังเป็นปัญหาในประเด็นของผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในขณะนี้ด้วยความเหมาะสมหลายประการดังกล่าวในข้างต้น จึงทำให้กองการแพทย์ทางเลือกนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาศึกษา รวบรวมและขยายความเป็นภาษาไทย เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์แก่บุคคลที่มีความสนใจได้อย่างสูงสุด

ประวัติความเป็นมาของโฮมีโอพาธี
คำว่า Homeopathy มีรากศัพท์มาจาก Homeo ซึ่งแปลว่า เหมือนหรือคล้าย และคำว่า patho ซึ่งแปลว่าโรค ศาสตร์แขนงนี้มีมานานกว่า 200 ปี ค้นพบโดย นายแพทย์ Samuel Hahnemann (1755 - 1843) ชาวเยอรมัน จึงทำให้เกิดทฤษฎีที่เรียกว่า law of similars หรือ like cure like คือ สารใดๆ ก็ตาม เช่น พืชสมุนไพร ใบไม้ ดอกไม้ สารอินทรีย์หรืออนินทรีย์ เกลือ แร่ธาตุ หรือผลิตภัณฑ์ ที่ได้จากสัตว์ สามารถเป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้ ดังนั้นจึงได้นำสารเหล่านั้นมาทำการรักษาในโรคลักษณะเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ แล้ว homeopathy จะเป็นสิ่งที่ได้จากธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่เกิดภาวการณ์แพ้ยาหรือสารเคมีใดๆ

ความหมายของโฮมีโอพาธี
การบำบัดรักษาแบบ Homeopathy ถ้าอธิบายกันง่ายๆ ก็คือ การรักษาแนวธรรมชาติบำบัดวิธีหนึ่งที่อยู่ในสาขาแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) เหมือนกับ การฝังเข็ม การกดจุดบำบัดโรค หรือ แม็คโครไบโอติก ซึ่งการรักษา Homeopathy ก็ได้ผ่านการรับรองแล้วจากทั้งในและต่างประเทศ

ทฤษฎีของการบำบัด
การบำบัดแบบโฮมีโอพาธี(ดั้งเดิม) มีทฤษฎีพื้นฐานอยู่ 4 ข้อ ดังนี้

1. ต้องมีการพิสูจน์ฤทธิ์หรือพิษของสารที่จะนำมาใช้เป็นยาแบบโฮมีโอพาธีในคนปกติ ก่อนกล่าวคือ ก่อนที่จะพัฒนาสารแต่ละชนิดขึ้นมาเป็นตำรับยาแบบโฮมีโอพาธีนั้นต้องมีการนำไปทดลองในคนปกติที่มีสุขภาพดีก่อนเพื่อให้ทราบถึงอาการหรือพิษที่แน่ชัดที่อาจเกิดขึ้นจากการรับประทานสารนั้น ๆ เข้าไป ยกเว้นในกรณีที่เราทราบพิษที่แน่ชัดของสารนั้น ๆ อยู่แล้ว

2. การเลือกและการจ่ายยาต้องเป็นไปตามกฎของความเหมือน (Law of Similars) กฎของความเหมือน (Law of Similars) เป็นหัวใจพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในการบำบัด ผู้ป่วย กล่าวคือ การบำบัดแบบโฮมีโอพาธีนั้นเป็นการนำเอาพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุใด ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการนั้น ๆ ในคนธรรมดามารักษาอาการดังกล่าวแก่คนป่วย (like cures like or simila similibus curantur) หรืออาจกล่าวง่าย ๆ แบบภาษาไทยว่า “หนามยอกให้เอาหนามบ่ง”

3. การให้ยาเพื่อการบำบัดต้องเป็นยาตำรับเดี่ยว (Single Remedy)
ตำรับเดี่ยว (Single Remedy) หมายถึง การบำบัดผู้ป่วยนั้นห้ามให้ยาหลาย ๆ ตำรับ พร้อม ๆ กันเนื่องจากการให้ยาหลาย ๆ ตำรับพร้อมกันอาจก่อโรคหรืออาการใหม่ ๆ ขึ้นได้และเป็นการยากที่จะบอกว่าตำรับยาที่เราให้นั้นตำรับไหนถูกต้องกันแน่ ดังนั้นในการบำบัดแต่ละครั้งจะให้ยาเพียงตำรับเดียวเท่านั้นแต่อาจมีการให้ซ้ำ (หลายขนาด) อีกได้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของตำรับและอาการของโรค ทั้งนี้การเลือกตำรับยามาใช้ต้องเลือกให้มีความคล้ายกับภาพของอาการมากที่สุด

4. การให้และการเตรียมยาต้องเป็นไปตามกฎขนาดน้อย (Law of Minimum Dose) ในช่วงปีแรกของการค้นพบการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีของฮาห์เนมานน์นั้น เนื่องจากวัตถุดิบที่นำมาเตรียมเป็นยาแบบโฮมีโอพาธีนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นสารพิษ ดังนั้นการนำมาใช้จึงต้องมีการทำละลายให้เจือจางเพื่อลดความเป็นพิษของสารลง ปีค.ศ.1798 เป็นครั้งแรกที่ฮาห์เนมานน์เริ่มทำละลายให้สารที่นำมาใช้เจือจางลง จนกระทั่งปีค.ศ.1813 ฮาห์เนมานน์พิมพ์หนังสือเรื่อง “Spirit of Homeopath” ซึ่งเป็นการอธิบายแนวคิดเรื่องของสุขภาพ การรักษาและฤทธิ์ของยาตามหลักการของโฮมีโอพาธี จากนั้นจึงมีการพัฒนาวิธีการทำละลายยาให้เจือจางเรื่อยมาและกลายเป็นกฎขนาดน้อยดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือ ต้องมีการนำวัตถุดิบที่จะมาเตรียมเป็นยามาทำเป็นสารตั้งต้น (Mother Tincture)ก่อน และจากนั้นจึงนำสารตั้งต้นนั้นมาทำละลายให้เจือจางโดยเรียกกระบวนการนี้ว่า “การเพิ่มความแรง” (Potentisation/Potentization) นั่นคือยิ่งทำให้เจือจางมากเท่าไหร่ความแรงของยาจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น วิธีการเตรียมยาดังแสดงในรูปที่แสดงด้านล่าง และในการทำให้เจือจางแต่ละครั้งต้องมีการเขย่าร่วมด้วย (ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า shaking vigorously) ซึ่งความเข้มข้นหรือความแรงตามหลักสากลของยาโฮมีโอพาธีจะถูกกำหนดด้วยจำนวนครั้งของการทำให้เจือจาง โดยความแรงที่กำหนดเป็นหลักสากล ที่นิยมใช้มีดังนี้
1. ที่ความแรง 10 (Decimal-potency or D-potency) เท่า เป็น 1:10 เช่น ยาที่ความแรง D1มีสารตั้งต้นอยู่ 1 ส่วน มีตัวทำละลายอยู่ 9 ส่วนและผ่านการเขย่า 10 ครั้ง ยาที่ความแรง D2 เป็นการนำเอายาที่ความแรง D1 มา 1ส่วน ผสมกับตัวทำละลายอีก 9 ส่วนและผ่านการเขย่า 10 ครั้ง เป็นต้น (ดังรูปที่1) ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนได้ความแรงที่ต้องการและจะใช้ตัวเลขที่ความแรงนี้จนกระทั่งถึง D1000
2. ที่ความแรง 100 (Centestimal-potency or C-potency) เท่า เป็น 1:100 หลักการก็จะเหมือนกันกับที่ความแรง 10 เท่า เช่น ที่ความแรง C1 มีสารตั้งต้น 1 ส่วน มีตัวทำละลายอยู่ 99 ส่วนและผ่านการเขย่า 100 ครั้ง เป็นต้น

ซึ่งถ้าเป็นการทำให้เจือจางตามหลักการของ Korsakoff-Potency หรือ one glass method คือใช้แก้ว/ภาชนะใบเดียวในการเตรียมยา กล่าวคือ จะใช้แก้วใบเดิมทุกครั้งในการทำละลาย จะใช้อักษรย่อว่า K เช่น 10K 30K เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการทำให้เจือจางแบบ Centestimal Hahnemanni หรือ CH-potency หรือ multiple-glass method กล่าวคือ ในการเตรียมยาแต่ละครั้งจะใช้แก้วใบใหม่ทุกครั้งในการทำละลายครั้งใหม่ จะใช้อักษรย่อว่า CH เช่น 20CH 30CH เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมี ความแรงแบบ LM -(or –Q-) potency ซึ่งเป็นกฎที่ไม่นิยมใช้นักเพราะเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อน มักจะใช้กับการทำละลายที่มีความแรงตั้งแต่ 1:50000 ขึ้นไป




รูป แสดงกระบวนการทำละลายให้เจือจางตามหลักการของโฮมีโอพาธี โดยตัวทำละลายที่ใช้จะเป็นน้ำกลั่น (Distilled water) หรือในบางตำรับอาจมีส่วนผสมของอัลกอฮอล์ร่วมด้วย หรือเป็นอัลกอฮอล์อย่างเดียวก็ได้ และจะมีการควบคุมคุณภาพของน้ำและอัลกอฮอล์ รวมทั้งตัวพา (vehicle) ที่จะนำเข้าสู่ร่างกายด้วย โดยตัวพาจะมีทั้งสถานะ ของแข็ง (เช่น เม็ดน้ำตาลจากนม จากอ้อย) ของเหลว (เช่น น้ำ อัลกอฮอล์ น้ำมันมะกอก น้ำมันอัลมอนด์ กลีเซอรีน) ของกึ่งแข็งกึ่งเหลว (เช่น วาสลีน ขี้ผึ้ง)


โดยสรุปการบำบัดแบบโฮมีโอพาธีจัดเป็นศาสตร์การรักษาและเสริมสร้างสุขภาพแบบองค์รวมที่เน้นเรื่องการปรับสมดุลพลังไหลเวียนภายในร่างกาย ดังนั้นยาที่ให้แก่ร่างกายจึงมิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาโรคหรือฆ่าเชื้อโรค แต่กลับเป็นการใส่พลังงานเข้าไปเพื่อกระตุ้นให้พลังงานที่ผิดปกติอยู่แล้วผิดปกติมากขึ้นจนถึงระดับที่ร่างกายจะเกิดกระบวนการตอบสนองต่อความผิดปกตินั้น ซึ่งแนวคิดแบบนี้ได้มีอิทธิพลต่อระบบการแพทย์แผนปัจจุบันและกลายเป็นแนวคิดของการให้วัคซีนในยุคปัจจุบัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดตั้งแต่ระดับใต้อะตอม (Subatomic) ของเซลล์ (พลังงานเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับกายภาพ) ผลดีที่เกิดขึ้นจากการเตรียมยาแบบโฮมีโอพาธีก็คือ ผลข้างเคียงจากยาต่ำมาก ไม่พบรายงานความเป็นพิษของยาดังกล่าว และยาที่จำหน่ายจึงมีราคาถูกเมื่อเทียบกับราคายาปัจจุบัน



เอกสารอ้างอิง
๑. http://www.balavi.com/content_th/nanasara/Con00021.asp
๒.ttp://www.bangkokhealth.com/healthnews_htdoc/healthnews_detail.asp?Number=18801
๓. http://www.dtam.moph.go.th/alternative/downloads/NokHomeo.pdf
๔. http://www.dtam.moph.go.th/alternative/viewstory.php?id=471
๕. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=60270

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น