วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

มะเร็งลำใส้ใหญ่ และ ลำใส้ตรง

มะเร็งลำใส้ใหญ่ และ ลำใส้ตรง
มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง เป็นมะเร็งที่พบมากทั้งหญิงและชายในอันดับต้นๆ ในประเทศไทย


สาเหตุ
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่พบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในโครโมโซมของเซลล์เยื่อบุลำไส้ ซึ่งเกิดจากสาเหตุส่งเสริมต่างๆ กัน คือ
1. มีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ส่วนมากเป็นมาแต่กำเนิด เมื่ออายุมากขึ้นจะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้
2. ประวัติมะเร็ง ถ้าผู้ป่วยเคยมีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ มดลูก เต้านม หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง จะมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงได้ มากกว่าคนปกติ
3. การอักเสบเรื้อรังของลำไส้ใหญ่ โดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งได้
4. อาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่มีสีแดงและมีไขมันสูง
5. ท้องผูก ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ทำให้ของเสียหรือสารก่อมะเร็งค้างอยู่ในลำไส้เป็นเวลานาน

อาการที่แสดง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการแสดงความผิดปกติของการขับถ่ายอุจจาระ คือ มักจะมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกปนเลือดเก่า ๆ ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระมีขนาดเล็กหรือบางลง ซีด อ่อนเพลีย บางรายอาจจะมาด้วยอาการลำไส้อุดตัน น้ำหนักลดลงมากผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ และปวดเบ่งบริเวณทวารหนัก


การวินิจฉัย
สามารถตรวจวินิจฉัยได้ด้วยขั้นตอนการตรวจ ดังนี้ การตรวจหาเลือดในอุจจาระ การตรวจทวารหนัก การตรวจเอกซเรย์ลำไส้ด้วยสารทึบแสง และการส่องกล้องตรวจลำไส้และตัดชิ้นเนื้อไปพิสูจน์


การตรวจค้นหา

มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงในระยะแรก
ถึงแม้ว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงจะพบมากเป็นอันดับต้น ๆ ของมะเร็งก็ตาม แต่ก็สามารถทำการตรวจค้นหาได้ตั้งแต่ในระยะแรกซึ่งจะมีผลการรักษาที่ดีมาก ประชาชนจึงควรมารับการตรวจค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ด้วยการตรวจหาเลือดในอุจจาระในผู้ที่มีอายุ ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นประจำทุกปี สำหรับผู้ที่มีประวัติญาติใกล้ชิด เช่น บิดา มารดา พี่ น้อง เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง หรือเคยเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงในลำไส้ ควรรับการส่องกล้อง ตรวจลำไส้เป็นประจำทุก 1 - 10 ปี


การรักษา
วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสภาวะร่างกายของผู้ป่วย โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยในระยะแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัด การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงมี 3 วิธี คือ

การผ่าตัด
ซึ่งเป็นวิธีการรักษาหลัก โดยการตัดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งรวมทั้งเลาำะต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงออกจากนั้นนำลำไส้ส่วนที่ดีมาต่อกัน ส่วนมะเร็งลำไส้ตรงที่อยู่ใกล้ ทวารหนักอาจจำเป็นต้องตัดทวารหนักออก และทำทวารเทียมในบริเวณหน้าท้องของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระผ่านทางหน้าท้องและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

การให้ยาเคมีบำบัด
ผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งลุกลามสู่อวัยวะข้างเคียง หรือมีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลือง จำเป็นต้องได้รับเคมีบำบัดหลังจากการผ่าตัด เพื่อลดโอกาสของการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง

การฉายรังสีรักษา
ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ตรงและทวารหนักบางรายอาจจะให้การรักษาด้วยรังสีรักษาก่อนหรือหลังการผ่าตัด


การติดตามผลการรักษา
การติดตามผลการรักษานอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้ว แนะนำให้เจาะเลือดเพื่อหาระดับสารบ่งชี้มะเร็งในเลือด คือ carcinoembryonic antigen (CEA) การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ รวมถึงการถ่ายภาพรังสีปอดและตรวจตับด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง(อัลตร้าซาวน์) อย่างสม่ำเสมอ



วิธีการป้องกัน
1. ควรรับประทานอาหารครบทุกหมู่ และควบคุมระบบขับถ่ายให้ถูกต้อง
2. รับประทานผัก ผลไม้เป็นประจำ
3. หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ส่วนที่ไหม้เกรียมจากการปิ้ง ย่าง ทอด รมควัน
4. ลดอาหารประเภทไขมันสูง
5. ผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป ควรได้รับการตรวจหาเลือดในอุจจาระทุกปีหรือส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทุก 10 ปี 6. ผู้ที่มีบิดา มารดา ญาติพี่น้อง เคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง หรือผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ ควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ทุก 1 - 10 ปี

มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงในระยะแรกสามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นการตรวจเพื่อค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงจึงเป็นสิ่งสำคัญซึ่งสามารถทำได้ง่าย รวมทั้งปฏิบัติตัวเพื่อเป็นการป้องกันโรค หากพบความผิดปกติของระบบขับถ่ายควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป

ที่มา
http://amataoryza.igetweb.com/index.php?mo=3&art=122922

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น