วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

มะเร็งตับ

มะเร็งตับ

มะเร็งตับ มะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้ชายและอันดับ 3 ในผู้หญิงรองจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมตามลำดับ สามารถแบ่งชนิดของมะเร็งตับได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่

Hepatocellular carcinoma หรือมะเร็งของเซลล์ตับ
เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด มากกว่าร้องละ 70-80 ของมะเร็งตับ
Cholangiocarcinoma หรือมะเร็งท่อน้ำดี
เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ท่อน้ำดี พบได้บ่อยในผู้ป่วยแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีพยาธิใบไม้ในตับ นิ่วในถุงน้ำดี พบประมาณร้อยละ 10-20% ของมะเร็งตับ
Angiosarcomas หรือ hemangiosarcomas หรือมะเร็งเส้นเลือดในตับ
เกิดจากเซลล์หลอดเลือดในตับ พบมากในผู้ป่วยที่สัมผัสสารเคมีจำพวก vinyl chloride หรือ thorium dioxide ที่ใช้ในงานพลาสติก เป็นมะเร็งชนิดที่พบน้อย
Hepatoblastoma หรือมะเร็งของเซลล์ตับตัวอ่อน
เป็นมะเร็งพบในเด็กเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งการเกิดของโรคมะเร็งตับ ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

มะเร็งปฐมภูมิ
เป็นชนิดที่เกิดกับตับโดยตรงมักเกิดในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับมาก่อน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคตับแข็ง มีประวัติเป็นโรคตับอักเสบหรือเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ

มะเร็งทุติยภูมิ
เป็นมะเร็งที่ลุลามมาจากมะเร็งที่อวัยวะอื่น เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด เป็นต้นมะเร็งที่เกิดในอวัยวะอื่นเมื่อถึงความรุนแรงระดับหนึ่งก็จะมีการกระจายมาตามหลอดเลือดหรือหลอดน้ำเหลือง แล้วมาเจริญเติบโตอยู่ในตับ

หมายเหตุ ในที่นี้จะกล่าวถึงมะเร็งตับปฐมภูมิชนิดที่เป็นมะเร็งเซลล์ตับเป็นหลัก เพราะพบได้บ่อยกว่ามะเร็งตับปฐมภูมิชนิดอื่นๆ ดังนั้นคำว่ามะเร็งตับในที่นี้จึงหมายถึง “มะเร็งเซลล์ตับ”

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดมะเร็งตับ
- ผู้ที่เคยเป็นโรคตับอักเสบอันเนื่องมาจากไวรัสตับอักเสบชนิด บี และ ซี พบว่าหากเป็นเรื้อรังจะพบว่ามีอัตราการเกิดมะเร็งตับสูง
- ผู้ป่วยภาวะตับแข็ง ซึ่งอาจเกิดจากไวรัส หรือสาเหตุอื่นๆ โดยเฉพาะการดื่มแอลกอฮอล์ทุกวัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายปี
- การรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของสาร Aflatoxin ซึ่งเป็นสารที่ผลิตจากเชื้อราชนิดหนึ่ง มีมากในอาหารพวก ถั่ว แป้งสาลี ข้าวโพด ข้าว พริกแห้ง ที่เก็บเอาไว้เป็นระยะเวลานานๆ และนำมารับประทานโดยไม่ผ่านความร้อน
- ผู้ป่วยที่เป็นพยาธิใบไม้ในตับ ทำให้เกิดการอุดตันที่ท่อน้ำดีภายในตับ หรือมีการเพิ่มของเนื้อเยื่อพังผืดในท่อน้ำดีจากพยาธิใบไม้ในตับ มักเป็นสาเหตุสำคัญเกิดมะเร็งท่อน้ำดี
- การได้รับสาร vinyl chloride เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งเส้นเลือดในตับ

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่พบได้ แต่ไม่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงชัดเจนมาก เช่น โรคเบาหวานที่มีไขมันสะสมในตับมาก การสูบบุหรี่ เป็นต้น


อาการและสัญญาณ
- เบื่ออาหาร ท้องอืด จุกเสียด ท้องผูก ปวดแน่นท้องบริเวณด้านขวาหรือบริเวณลิ้นปี่หรืออาจปวดร้าวไปที่หัวไหล่ขวา
- อ่อนเพลีย น้ำหนักลด และมีไข้ต่ำๆ ผื่นคันตามมือเท้าและที่ผิวหนัง
- ปวดหรือเสียดชายโครงด้านขวา อาจปวดร้าวไปที่ไหล่หรือลำตัวซีกขวา
- อาจคลำพบก้อนในท้องใต้ชายโครงขวาหรือลิ้นปี่
- ท้องมวน ท้องโต บวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง
- ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเหลือง


การตรวจคัดกรองประกอบการวินิจฉัย มะเร็งตับ
- ตรวจเลือดดูระดับ AFP (Alpha Feto Protein) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง โปรตีนชนิดนี้จะไม่ถูกพบในคนปกติที่มีอายุมากกว่า 1 ปี (มีพบในเลือดของทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปี)
- การตรวจทำอัลตราซาว์ด เป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ใช้ในการตรวจเบื้องต้น เพื่อดูการเติบโตที่ผิดปกติในตับได้
- การใช้ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computer Tomography Scan) หรือบางครั้งอาจใช้การตรวจด้วยคลื่น แม่เหล็กไฟฟ้า(MRI) ซึ่งจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมมากขึ้น
- การตรวจด้วย PET/CT เป็นการตรวจที่รวมกันระหว่างการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์กับการตรวจพิเศษด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เรียกว่า PET Scan
- การตรวจชิ้นเนื้อของตับ (Biopsy) เป็นการนำชิ้นเนื้อบางส่วนของก้อนเนื้อ ไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อดูลักษณะเซลล์

นอกจากนี้ยังอาจมีการตรวจอวัยวะอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่า ไม่มีการกระจายไปยังอวัยวะที่สำคัญ เช่นการเอกซเรย์ปอด และการสแกนกระดูก (Bone Scan)



การรักษาโรคมะเร็งตับชนิดเฮ็บปาโตม่า (Hepatoma หรือ Hepatocellular carcinoma)

การรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆเข้ามาประกอบ การรักษาโรคมะเร็งตับชนิดเฮ็บปาโตม่าที่มีในปัจจุบันได้แก่

วิธีการผ่าตัด

สามารถผ่าได้ทั้งซีกขวาหรือซ้าย หรือเฉพาะกลีบของตับ (segment) ขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็งมักทำในกรณีที่ตับของคนไข้ยังสามารถทำงานได้ดี
- การผ่าตัดเปลี่ยนตับ ทำในผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งไม่ใหญ่มากและยังไม่มีการกระจายของมะเร็งไปที่อวัยวะอื่น สามารถทำได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็ง มีภาวะการทำงานของตับไม่ดี มีตาเหลือง บวม หรือ มีน้ำในท้อง ซึ่งไม่สามารถให้การรักษาด้วยวิธีการอื่น
- การทำลายมะเร็งเฉพาะที่ด้วยการฉีดแอลกอฮอล์ (alcohol injection) ใช้ในมะเร็งที่มีขนาดเล็กโดยใช้เข็มเล็กๆแทงผ่านทางผิวหนังเข้าไปที่ก้อนและฉีดแอลกอฮอล์เข้าไปบริเวณก้อน
- การทำลายมะเร็งเฉพาะที่ด้วยการใช้ความเย็นหรือความร้อน ทำให้เนื้อเยื่อของมะเร็งและตับโดยรอบถูกทำลายไป วิธีที่นิยมใช้กันมากคือ การใช้คลื่นเสียงหรือคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency) หรือมักเรียก “อาเอฟเอ (RFA หรือ Radiofrequency ablation)” ทำโดยแทงเข็มผ่านผิวหนังไปที่ก้อนมะเร็ง จากนั้นจะปล่อยคลื่นเสียงจากบริเวณส่วนปลายของเข็ม ก่อให้เกิดความร้อนโดยรอบทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อมะเร็งที่ความร้อนไปถึง
- การฉีดยาเคมีบำบัดเข้าหลอดเลือดแดงที่ตับโดยตรง หรือที่เรียกว่า วิธี “ทีโอซีอี (TOCE หรือTranscatheter oily chemoembolization) หรือ ทีเอซีอี (TACE หรือ Trans-arterial chemoembolization) คือวิธีการให้ยาเคมีบำบัดหนึ่งถึงสองชนิดผ่านทางสายสำหรับให้ยา โดยการสวนสายเข้าทางหลอดเลือดแดงเข้าไปยังบริเวณหลอดเลือดที่เลี้ยงก้อนมะเร็ง หลังจากนั้นจะทำการอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งด้วยสารบางชนิด มีผลทำให้ก้อนมะเร็งขาดเลือดไปเลี้ยง วิธีการนี้จะทำได้ ในกรณีที่ หลอดเลือดดำพอร์ทอลของผู้ป่วยยังทำงานได้ดีอยู่

การให้ยาเคมีบำบัด (systemic chemotherapy)
เหมือนกับการให้ยาเคมีบำบัดทั่วไป คือ ให้ทางหลอดเลือดดำที่แขน ยาเคมีบำบัดจะเข้าไปในทุกส่วนของร่างกาย สำหรับมะเร็งตับเอง ผลของการรักษาไม่ค่อยจะได้ผลดีเท่าที่ควร เนื่องจากเนื้อเยื่อมะเร็งเฮ็บปาโตม่า มักไม่ค่อยจะตอบสนองต่อยา ยาส่วนใหญ่ยังอยู่ในระยะการวิจัย หรือ ให้เพื่อประทังไปก่อน
การรักษาแบบมุ่งเป้าไปยังยีนหรือโปรตีนที่ก้อนมะเร็งใช้ในการเจริญและแบ่งตัวหรือที่เรียกกันว่า “ทาร์เก็ทเต็ดเทอราปี่ (Targeted Therapy)” โดยยาจะไปมีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเจริญของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งขาดอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยง ยาที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นยาเม็ดรับประทาน ยาประเภทนี้ไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรค แต่จะช่วยไม่ให้โรคกระจายไปเร็ว และช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยได้

การรักษาตามอาการเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด โดยไม่ต้องทำการรักษาเฉพาะตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด เมื่อมะเร็งนั้นเป็นมากไม่สามารถให้การรักษาด้วยวิธีการอื่นแล้ว


การดูแลตนเองหลังการรักษา
- สังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างและหลังได้รับการรักษา เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบประกอบการพิจารณาการรักษาของแพทย์ หากมีความผิดปกติที่รุนแรงควรแจ้งให้แพทย์หรือผู้ดูแลให้ทราบทันที ตัวอย่างอาการผิดปกติได้แก่ มีไข้สูง ปวดท้องอย่างรุนแรงคลื่นไส้อาเจียนมาก ท้องเสียรุนแรง มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ เป็นต้น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ข้าวกล้อง ผักใบเขียวแต่หากมีอาการท้องอืดมาก ควรเลือกผักที่ไม่มีเส้นใยมากนัก เช่น กะหล่ำปลี ผักบุ้งจีน ผักกาดขาว เป็นต้น ผลไม้ หรือน้ำผลไม้
- รับประทานอาหารที่สุกสะอาดปราศจากสิ่งปนเปื้อนและสารพิษ
- ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ ไม่ควรฝืนออกกำลังกายอย่างหนัก หรือเล่นกีฬาที่มีการแข่งขัน
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียนมาก ท้องเสียหรือปวดท้องอย่างรุนแรง มีจุดเลือดออกตามผิวหนังหรือมีเลือดออกจากอวัยวะต่างๆ ให้รีบไปพบแพทย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น