วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

มะเร็งทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะสืบพันธุ์ชาย

มะเร็งทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะสืบพันธุ์ชาย

ระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ชาย

ประกอบด้วย
1. ไต กรวยไต และท่อไต
2. กระเพาะปัสสาวะ
3. ต่อมลูกหมาก
4. อวัยวะเพศชาย หรือองคชาติ หรือลึงค์
5. ลูกอัณฑะ
6. ถุงอัณฑะ

มะเร็งที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งของกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก ไต อวัยวะเพศชาย ลูกอัณฑะ ถุงอัณฑะ และท่อไต

สาเหตุที่แท้จริงของมะเร็ง ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็ง พอสรุปได้ดังนี้ คือ

1. อายุ มะเร็งของไต กระเพาะปัสสาวะ มักพบในคนอายุมาก 50-70 ปี มะเร็ง ขององคชาติ พบในคนวัยกลางคนและมะเร็งอัณฑะพบในวัยหนุ่มฉกรรจ์

2.มะเร็งของไตและกรวยไต เกิดร่วมกับการอักเสบเรื้อรังและนิ่วในไต จากการ กินยาแก้ปวดประเภทฟินาซีตินมากเกินไป

3. มะเร็งของกระเพาะปัสสาวะเกิดบ่อยในคนที่สูบบุหรี่จัด คนที่ทำงานใน โรงงานอุตสาหกรมสีย้อมผ้า คนที่มีการอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นนิ่วในกระเพาะ ปัสสาวะ

4. อาหารที่มีไขมันมาก หรือสาเหตุทางพันธุกรรม อาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็ง ของต่อมลูกหมาก

5. ลูกอัณฑะที่ไม่ลงมาในถุงอัณฑะ มีอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งสูง

6. การเสียดสีเรื้อรัง ทำให้เกิดแผลไม่หายแล้วกลายเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งของ ถุงอัณฑะ

อาการ

1. ปัสสาวะเป็นเลือด ลิ่มเลือด พบในมะเร็งกระเพาะปัสสาวะและมะร็งของไต
2. ปัสสาวะขัด ต้องเบ่ง หรือปัสสาวะออกกระปริบกระปรอย พบในมะเร็ง ของต่อมลูกหมาก
3. มีแผลเรื้อรังชนิดเลือดออกง่ายและกลิ่นเหม็น
4. หนังหุ้มอวัยวะเพศหรือหนังหุ้มลึงค์ไม่เปิด และมีอาการคันภายในหรือมี เม็ดที่คลำได้
5. บริเวณที่มีการเสียดสี มีการอักเสบไม่หาย เช่น มะเร็งถุงอัณฑะ
6. มีก้อนคลำได้ชัดเจนบริเวณสีข้าง (บริเวณไต) หรือบริเวณท้องน้อยเหนือ หัวเหน่า (บริเวณกระเพาะปัสสาวะ)
7. มีก้อนและคลำได้ที่ลูกอัณฑะ กดไม่เจ็บ และก้อนโตเร็ว
8. ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบหรือซอกคอโต พบในรายที่มะเร็งกระจายไป ยังต่อมน้ำเหลืองแล้ว
9. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอมลง ไอ ปวดกระดูก พบในระยะที่มีการกระจาย ของมะเร็งไปแล้ว

การวินิจฉัย

1. โดยการตรวจร่างกาย เอ็กซเรย์ หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์
2. โดยการคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก
3. โดยการส่องกล้องดูภายในกระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมาก
4. โดยการขลิบ หรือ ตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา

การรักษา การรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรค โดยทั่วไปแล้วการรักษาประกอบด้วย

1. การผ่าตัด
- ผ่าตัดอวัยวะที่เป็นมะเร็งออกทั้งอันหรือบางส่วน เช่น ตัดไต อัณฑะข้างที่เป็น หรือตัดอวัยวะเพศออกทั้งหมดหรือบางส่วน
- ผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้องใช้ไฟฟ้า เช่นในมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก
- ตัดอัณฑะออกทั้ง 2 ข้าง หรือรับประทานฮอร์โมนเพศหญิง เช่น ในรายที่ เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
2. เคมีบำบัด
- โดยการรับประทานหรือฉีดเข้าเส้นเลือด ส่วนการใช้ยาเข้าไปในกระเพาะ ปัสสาวะนั้น ใช้ในกรณีที่เป็นมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะ
3. รังสีรักษา
4. วิธีผสมผสาน ทั้งการผ่าตัด เคมีบำบัด และรังสีรักษา

การป้องกัน

1. รักษาความสะอาดอวัยวะเพศ ในกรณีหนังหุ้มลึงค์ไม่เปิด ควรผ่าตัดขลิบ หนัง เพื่อจะได้ทำความสะอาดได้ทั่วถึง เป็นการป้องกันมะเร็งขององคชาติ
2. ลูกอัณฑะที่ไม่ลงในถุงอัณฑะ ควรรีบปรึกษาแพทย์
3. หากมีก้อนเนื้อผิดปกติ หรือแผลเรื้อรังบริเวณอวัยวะเพศ ควรรีบรักษา
4. หลีกเลี่ยงสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็งและมลภาวะที่เจือปนอยู่ในอาหาร น้ำ และอากาศ
5. งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น หรือบริโภคเนื้อสัตว์ที่ ไหม้เกรียม อาหารไขมันสูง
6. บริโภคผักและผลไม้ที่มีกากหรือเส้นใยมาก ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น