วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

เคี้ยวหมากเสี่ยงมะเร็งในช่องปากนะยายนะ


พญ. สมจินต์ จินดาวิจักษณ์


แม้ว่าปัจจุบันวัฒนธรรมการ "เคี้ยวหมากเคี้ยวพลู" ของผู้เฒ่าผู้แก่จะมีให้เห็นน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อน เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังมีคุณตาคุณยายบางบ้านที่ยังต้องมี "เชี่ยนหมาก" ไว้ข้างกายตลอดเวลา ซึ่งถือว่าเป็นภาพความทรงจำในวัยเด็กของใครหลายคน ที่มักจะนั่งเล่นอยู่ข้างๆ ยามที่คุณตาคุณยายท่านกำลังเคี้ยวหมากจนปากแดง บางคนก็เคยทำหมากให้ท่านกิน แต่ก็หารู้ไม่ว่าสิ่งที่คุณกำลังทำมันเป็นการหยิบยื่นโรคภัยให้กับคุณตาคุณยายอย่างไม่รู้ตัว

กับเรื่องนี้ "พญ. สมจินต์ จินดาวิจักษณ์" หัวหน้ากลุ่มงาน โสต ศอ นาสิก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวให้ความรู้ว่า โดยทั่วไป "มะเร็งช่องปาก" จะเป็นมะเร็งของเยื่อบุในช่องปาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชนิด squamous cell carcinoma โดยมะเร็งชนิดนี้จะมีกลไกในการเกิดโรคจากการได้รับสารก่อมะเร็งเป็นเวลานานๆ และมักพบในกลุ่มคนช่วงอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตามการเกิดมะเร็งในตำแหน่งของช่องปากก็มีโอกาสพบได้เกือบทุกเพศทุกวัย แต่จะเป็นมะเร็งชนิดอื่น เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

"การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา รวมถึงการเคี้ยวหมากของผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปากมากถึง 15 เท่า นอกจากนี้หากผู้สูงอายุและสมาชิกในบ้านมีสุขภาพช่องปากที่ไม่ดีอยู่แล้วเช่น การมีฟันแหลมคมหรือการใส่ฟันปลอมที่มีขนาดไม่พอดีกับช่องปาก อาจส่งผลให้เกิดเป็นแผลอักเสบเรื้อรัง และกลายเป็นมะเร็งในช่องปากได้ นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยทางการแพทย์หลายชิ้นพบว่า ในผลหมากมีสารก่อมะเร็ง หากมีการเคี้ยวหมากร่วมกับยาเส้นที่เป็นสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกับบุหรี่เป็นเวลานาน ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในช่องปากได้มากถึง 9.9 เท่าของผู้ที่ไม่เคี้ยวหมากหรือสูบบุหรี่"

สำหรับอาการโดยทั่วไปของโรคนี้ ในระยะเริ่มต้น คุณหมอบอกว่า อาจจะแผลในช่องปากปากที่รักษาไม่หายยาวนานกว่า 3 สัปดาห์ โดยสังเกตได้ง่ายๆ ว่าจะมีรอยฝ้าขาวหรือฝ้าแดง ตุ่ม ก้อน ที่รักษาไม่หาย จากนั้นตุ่มและก้อนจะโตขึ้นเรื่อยๆ มีเลือดปนน้ำลาย ทำให้การกลืนอาหารหรือเคี้ยวอาหารลำบาก เนื่องจากอาจมีฟันโยกหรือหลุด บางรายไม่สามารถใส่ฟันปลอมได้เหมือนเดิมจากการที่มีรอยของโรค บางกรณีที่ร้ายแรงจะมีก้อนบริเวณลำคออีกด้วย

"หากบ้านไหนมีผู้สูงอายุหรือสมาชิกคนอื่นๆ ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคมะเร็งในช่องปาก ควรหมั่นสังเกตและสำรวจภายในช่องปากเพื่อตรวจหามะเร็งช่องปากด้วยตนเอง โดยอ้าปากที่หน้ากระจกและใช้ไฟฉายส่อง เพื่อตรวจดูบริเวณด้านข้างลิ้น กระพุ้งแก้ม พื้นปาก เหงือกบนล่าง ริมฝีปาก หากมีแผลที่รักษาไม่หายเกิน 3 สัปดาห์ควรต้องได้รับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเร่งด่วน โดยการวินิจฉัยของแพทย์ จะใช้หลักฐานจากการซักประวัติผู้ป่วยว่ามีปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ จากนั้นก็ตรวจร่างกาย ว่ามีรอยโรคหรือไม่ และเมื่อแพทย์ตรวจพบรอยโรคที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งจะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา" พญ. สมจินต์อธิบายเมื่อตรวจพบความเสี่ยงต่อโรคฯ


ทั้งนี้ หลังจากที่แพทย์ได้ทำการตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาแล้วว่าเป็นมะเร็ง แพทย์ก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อทำการประเมินระดับอาการของโรค โดยการตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และวางแผนการรักษา ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้มีการศึกษามาแล้ว โดยใช้การรักษาหลักๆ คือ การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้เคมีบำบัด ผู้ป่วยที่เป็นในระยะเริ่มแรกจะใช้วิธีการรักษาโดยการผ่าตัด หรือการฉายรังสีอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หากเป็นในระยะลุกลาม จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาหลายวิธีร่วมกัน เช่น การผ่าตัด และการฉายรังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัดในภายหลัง

อย่างไรก็ดี พญ. สมจินต์ แนะนำว่า การหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการเคี้ยวหมาก โดยหันมาดูแลเอาใจใส่สุขภาพในช่องปากของตัวเอง นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีเบต้าแคโรทีน ประเภทผักผลไม้ที่มีสีเหลืองหรือแดง เช่น มะเขือเทศ แครอท และฟักทองก็สามารถลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งในช่องปากได้ รวมถึงการปฎิบัติตัวที่ดีหมั่นออกกำลังกายและคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง หากพบอาการผิดปกติรีบไปปรึกษาแพทย์ก่อนที่มะเร็งจะลุกลามไปสู่อวัยวะอื่นๆ ที่ใกล้เคียงได้



ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000134988

1 ความคิดเห็น: