วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

"ฟักข้าว" ต้านมะเร็ง-ชะลอแก่



ความชรามาแน่ๆ แต่เราสามารถชะลอให้มาช้าๆ ได้ด้วยผักผลไม้ที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ไม่ต้องไปบินไปหาผลเบอร์รีถึงเมืองนอกเมืองนา เพราะผักพื้นบ้านของไทยเรามีอยู่มากมายที่ช่วยต้านโรคและต้านความชราได้ และที่กำลังเป็นน้องใหม่มาแรงของวงการตอนนี้คือ "ฟักข้าว" หรือ "แก๊กฟรุต" นั่นเอง

ในปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากฟักข้าวจำหน่ายในท้องตลาด หรือรู้จักกันในนาม "แก๊กฟรุต" (GAC fruit) ซึ่ง น.ส.จันทร์แรม แสนคำ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ฟักข้าวเป็นผักพื้นบ้านของไทยอยู่ในตระกูลเดียวกับมะระ เป็นไม้เลื้อยที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านทางภาคเหนือและอีสานนิยมนำส่วนยอดและผลอ่อนของฟักข้าวมาปรุงอาหารรับประทานกันในรูปแบบต่างๆ แต่ไม่นิยมรับประทานผลสุก จึงมักมีผลแก่เหลือเป็นจำนวนมาก

"มีรายงานการวิจัยในต่างประเทศหลายฉบับระบุว่าผลฟักข้าวมีสารไลโคพีน (Lycopene) สูงกว่าในมะเขือเทศ 70-100 เท่า ซึ่งสารนี้ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก และมีแคโรทีน (carotene) มากกว่าแครอท 10 เท่า และมีรายงานด้วยว่าชาวเวียดนามนิยมบริโภคฟักข้าวมากที่สุด โดยนำส่วนของเยื่อหุ้มเมล็ดในผลแก่มาผสมกับข้าวสารแล้วนำไปหุงรับประทาน สามารถช่วยบำรุงสายตา แก้ปัญหาการมองไม่เห็นในช่วงกลางคืนได้ แต่ในฟักข้าวนั้นยังมีสารอื่นๆ อีหลายชนิดที่มีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระได้เช่นกัน" น.ส.จันทร์แรม กล่าว

ทั้งนี้ น.ส.จันทร์แรม ได้ร่วมกับฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ทำการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากฟักข้าวในการต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุทำให้เซลล์เสื่อมสภาพและเกิดโรคต่างๆ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนภายใต้โครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ของ วว. โดยนำผลสุกของฟักข้าวมาแยกเป็นส่วนเนื้อ เปลือก และเยื่อหุ้มเมล็ด แล้วแยกสกัดด้วยน้ำและเอทานอลที่ความเข้มข้นต่างๆ

จากนั้นตรวจสอบสารทางเคมีด้วยวิธีทินเลเยอร์โครมาโทกราฟี (TLC) พบว่ามีเบต้าแคโรทีน แอลฟาโทโคฟีรอล (รูปแบบหนึ่งของวิตามินอีในธรรมชาติ) และโทโคฟีรอลในรูปแบบอื่นๆ อีกจำนวนมาก อยู่ในส่วนที่สกัดด้วยเอทานอล 95% ทั้งสามส่วน และเมื่อนำไปทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยเทคนิคโฟโตเคมิลูมิเนสเซนส์ (PCL) พบว่าสารสกัดจากเปลือกที่สกัดด้วยเอทานอล 95% มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุดสำหรับกลุ่มสารที่ละลายไขมัน และสารสกัดจากเยื่อหุ้มเมล็ดที่สกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุดสำหรับกลุ่มสารที่ละลายในน้ำ

จากผลการวิจัยข้างต้นนั้นสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากฟักข้าวได้ โดยหลังจากนี้ทีมนักวิจัยจะดำเนินการทดสอบความเป็นพิษ ศึกษาฤทธิ์ต้านการทำลายดีเอ็นเอ ศึกษาฤทธิ์การก่อการกลายพันธุ์ของสารสกัดจากผลฟักข้าว เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการที่ครบถ้วนและครอบคลุมทั้งสองด้าน

อย่างไรก็ดี ดร.ประไพภัทร คลังทรัพย์ นักวิชาการฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. ซึ่งร่วมในการวิจัยครั้งนี้ด้วย เปิดเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า มีการบริโภคฟักข้าวเป็นผักพื้นบ้านกันมานานแล้ว จึงไม่น่าห่วงว่าจะมีอันตรายใดๆ หากนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ แต่ต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงวิธีการสกัดหรือแปรรูปฟักข้าวที่เหมาะสมและคุ้มค่าต่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรม รวมถึงการเก็บรักษาสารสำคัญให้คงตัวอยู่ในผลิตภัณฑ์ได้นานพอควร ซึ่งคาดว่าภายในปีหน้าน่าจะมีผลิตภัณฑ์จากฟักข้าวในกลุ่มของอาหารออกมาเป็นต้นแบบ และหากมีการต่อยอดเชิงพาณิชย์ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลสุกของฟักข้าวที่ไม่มีใครนำไปรับประทานได้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยฤทธิ์ของสารสกัดจากฟักข้าวในการต้านอนุมูลอิสระนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพชะลอความชราจากสารต้านอนุมูลอิสระในผักพื้นบ้าน ผักไฮโดรโปนิกส์ และพืชตระกูลถั่ว ของ วว. ที่มีกำหนดระยะเวลาโครงการไว้ในระหว่างปี 2552-2555





แนะนำ
- อ่านข่าวและบทความเกี่ยวการชะลอความชราได้ที่นี่


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น