วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

โภชนบำบัดสำหรับมะเร็งต่อมลูกหมาก

โภชนบำบัดสำหรับมะเร็งต่อมลูกหมาก

บทนำ
มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ต่อมลูกหมากที่ผิดปกติทำให้ต่อมลูกหมากโตขึ้น อาจพบได้ในชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป แต่พบมากขึ้นในคนที่อายุเลย 60 ปี สาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมากที่แท้จริงยังไม่มีใครทราบ แต่ก็คาดว่าอาหารอาจมีส่วนให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะอาหารพวกที่มีไขมันสัตว์ นอกจากนั้น ยังอาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์อีกด้วย

พบว่าประเทศที่มีประชากรบริโภคอาหารที่มีไขมันและโปรตีนจากเนื้อสัตว์สูง มักมีโรคนี้เกิดขึ้นมาก เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป เป็นต้น ในระยะแรกที่มะเร็งเริ่มเกิดมักไม่มีอาการใด ๆ ต่อเมื่อมะเร็งเจริญเติบโตขึ้นใหญ่ขึ้น ไปกดและเบียดท่อปัสสาวะส่วนต้น ทำให้เกิดการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ ในระยะนี้ผู้ป่วยเริ่มจะมีการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ต่อมาเริ่มปัสสาวะลำบากขึ้น ต้องเบ่งมากขึ้น บางคนปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือด หรืออาจมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ บางคนอาจมีอาการเจ็บปวดเมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิในขณะร่วมเพศ การรักษาต่อมลูกหมากมีทั้งการผ่าตัด การฉายรังสี และบางกรณีอาจมีการให้ยาต้านฮอร์โมนเพศชายร่วมด้วย

โภชนบำบัด
ข้าวแป้ง
ยังต้องรับประทานอาหารกลุ่มนี้เป็นหลัก ความต้องการต่อวันอยู่ที่ 55-60% หรือวันละ 8-12 ทัพพี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ป่วย แนะนำเป็นพวกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจะดีที่สุด เช่น พวกข้าว ขนมปังที่มีส่วนผสมของธัญพืช หากใครอยากรับประทานพวกก๋วยเตี๋ยวก็ได้ แต่ให้เป็นก๋วยเตี่ยวน้ำดีกว่า พยายามงดก๋วยเตี๋ยวแห้งเพราะพวกนี้จะมีการใส่น้ำมันกระเทียมเจียวมากกว่าก๋วยเตี๋ยวน้ำ

เนื้อสัตว์
ในผู้ป่วยมะเร็งระบบสืบพันธุ์เพศชาย เนื้อสัตว์ควรให้ความระวังเป็นพิเศษ ไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์ติดมันทุกชนิด ควรงดเว้นเนื้อหมู แนะนำเป็นปลาจะเป็นแหล่งโปรตีนที่ปราศจากไขมันที่ค่อนข้างปลอดภัยกว่า อีกทั้งเนื้อปลาเป็นแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ป่วย มีรายงานวิจัยบางรายงานที่ศึกษาบทบาทของไขมันโอเมก้า 3 ต่อการยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง และช่วยในการเพิ่มน้ำหนักตัว แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรระวังเรื่องน้ำหนักตัวด้วย เพราะเมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ไขมันบริเวณหน้าท้องจะส่งสาร inflammatory cytokine ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งระบบต่างๆตามมาอีก
สำหรับโปรตีนจากแหล่งอื่น นมควรงดเว้นก่อนเนื่องจากในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากค่อนข้างจะต้องระวังไขมัน โดยเฉพาะกรดไขมันอิ่มตัวเป็นอย่างมาก แนะนำเป็นโปรตีนจากถั่วเหลือง จะช่วยส่งผลดีต่อผู้ป่วย เพราะในถั่วเหลืองมีสารช่วยปรับระดับสมดุลฮอร์โมนของร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากต้องระมัดระวังไม่ให้มีฮอร์โมนเอนโดรเจน (androgen) มากเกินไปในร่างกาย

ไขมัน
อาหารประเภทไขมันที่เป็นกรดไขมันอิ่มตัวทุกชนิดควรงดเว้นอย่างเข้มงวด เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ เป็นต้น รวมไปถึงไขมันที่เกิดจากการปิ้งย่างของเนื้อสัตว์ ซึ่งจะเต็มไปด้วยสารก่อมะเร็ง สรุปแล้วไขมันไม่ควรได้รับเกินวันละ 3-5 ช้อนชา และไม่ต้องกังวลถึงการขาดไขมัน เพราะหากยังรับประทานเนื้อสัตว์ ในเนื้อสัตว์มักจะมีไขมันแฝงมาอยู่แล้ว
ผัก
“ผักพืช” สามารถให้ผลดีกับผู้ป่วยได้โดยเฉพาะมะเขือเทศ โดยควรใช้มะเขือเทศที่ผ่านความร้อนแล้วจะให้ผลดีที่สุด เพราะมะเขือเทศที่ไม่ผ่านความร้อนการดูดซึมสารไลโคพิน (lycopene) ซึ่งเป็นสารที่ให้ผลควบคุมมะเร็งต่อมลูกหมากจะดูดซึมได้น้อย นอกจากนี้พืชในตระกูลกะหล่ำ ผักที่มีสีส้ม สีแดง ซึ่งจะมีสารเบต้าแคโรทีน และไอโซฟลาโวน (Isoflavone) และในกลุ่มพืชในเขียวเข้มที่มีสารโพลีฟีนอล (polyphenol) ล้วนแล้วแต่ให้ผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากทั้งสิ้น ในขณะที่สารแคลเซียม สังกะสี ในปริมาณสูงจะส่งผลให้มะเร็งเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ดังนั้นอาจต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานผักคะน้าและเมล็ดงาในปริมาณมาก
หากผู้ป่วยรับประทานอาหารมังสวิรัติและมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำร่วมด้วย ควรเสริมอาหารหมวดโปรตีนจากพืชมากขึ้น เช่น พวกพืชตระกูลถั่ว รวมไปถึงเห็ดชนิดต่างๆ เพราะในเห็ดจะมีสารโพลีแซคคาไรด์ (polysaccharide) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นเม็ดเลือดขาว

ผลไม้
ให้เน้นชนิดที่ไม่หวานจัดจนเกินไป พวกทุเรียน สับปะรด ลำไย ควรหลีกเลี่ยง สำหรับผลไม้ในกลุ่มที่มีสีแดงสด เช่น แตงโม มะละกอสุก แอปเปิ้ล ล้วนแล้วแต่ให้ผลดีต่อผู้ป่วย สามารถช่วยลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ ผลไม้บางชนิดที่อุดมไปด้วยวิตามินอี เช่น อะโวคาโด้ ก็สามารถได้รับประทานบ้างแต่ไม่ควรมากจนเกินไป เนื่องจากต้องระวังไขมันด้วย แม้จะเป็นไขมันที่มาจากพืชก็ตาม เพราะไขมันจากแหล่งใดก็ตามสามารถส่งผลให้น้ำหนักตัวเกินได้ และเมื่อน้ำหนักตัวเกินก็จะส่งผลเสียดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว



ที่มา
http://www.siamca.com/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=43

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น