วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว

มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือ Leukemia หมายถึง ภาวะที่ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดชนิดใดชนิดหนึ่งมากกว่าปกติหลายเท่า ยังผลให้เซลล์เม็ดเลือดชนิดอื่นๆ ถูกสร้างลดน้อยลง สาเหตุการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ การได้รับสารเคมีบางชนิด หรือการติดเชื้อไวรัส เป็นต้น อาการที่บ่งบอกว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว คือ เลือดจาง ซีด หน้ามืด เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย เลือดออกง่ายบริเวณผิวหนัง เหงือกเป็นจ้ำ ตามตัวอาจพบต่อมน้ำเหลืองโต ติดเชื้อง่าย เป็นไข้บ่อยๆ และอาจพบก้อนในท้องเนื่องจากตับ ม้ามโต ด้วย

มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบ่งเป็นสองชนิดคือ Acute leukemia จะเกิดขึ้นเฉียบพลัน เกิดรอยจ้ำขึ้นตามตัว เม็ดเลือดแดงต่ำ ภายในระยะเวลา 1 เดือน ชนิดที่สอง Chronic leukemia เกิดจากเซลล์ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดขาวโครงสร้างผิดปกติ ทำให้อายุของเม็ดเลือดขาวยืนนานกว่าปกติ แต่เม็ดเลือดขาวในชนิดนี้ยังพอทำงานได้บ้าง ผู้ป่วยมักจะมีอาการซีดร่วมด้วย แต่ก็ไม่รุนแรงเท่าชนิดแรก การรักษามีทั้งใช้เคมีบำบัด รังสีรักษาและการใช้การปลูกถ่ายไขกระดูก

เนื่องจากโรคมะเร็งชนิดนี้เกี่ยวข้องกับเม็ดเลือดทำให้การได้รับอาหารไม่ดี อาจส่งผลต่อการสร้างเม็ดเลือดที่แย่ลงและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

โภชนบำบัด
ข้าวแป้ง
รับประทานได้ตามปกติโดยควรรับประทานอย่างน้อยมื้อละ 2-3 ทัพพี แต่ถ้าหากได้รับรังสีรักษาหรือเคมีบำบัดแล้วเกิดอาการไม่อยากอาหาร สามารถให้ขนมปังหรือแครกเกอร์(ขนมปังกรอบ) แทนข้าวได้ หรืออาจจะลดส่วนข้าวลงแล้วเพิ่มน้ำผลไม้ให้ผู้ป่วยแทน แต่น้ำผลไม้ที่เลือกใช้ควรผ่านการพลาสเจอไรซ์เป็นอย่างดีเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น น้ำส้ม พลาสเจอร์ไรซ์บรรจุกล่อง น้ำผักผลไม้รวมชนิดกล่อง เป็นต้น

เนื้อสัตว์
ควรได้รับโปรตีน 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยเน้นโปรตีนจากเนื้อสัตว์คุณภาพดีไม่ติดมันมากจนเกินไป สามารถรับประทานได้ทุกชนิด หากรับประทานเป็นไก่ก็ควรเลือกเฉพาะเนื้อหน้าอกไม่เอาหนัง และควรรับประทานไข่ไก่สัปดาห์ละ 2-3 ฟอง หรือดื่มนมพร่องมันเนย

ไขมัน
ยังสามารถรับประทานได้ แต่ไม่แนะนำให้รับประทานมาก และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีการใช้น้ำมันทอดซ้ำๆ

ผัก
ผักใบเขียวต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง และควรได้รับผักที่ปรุงสุกแล้ว เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้ สัดส่วนของผักจะไม่จำกัดปริมาณสามารถรับประทานได้ตามต้องการ ผักที่มีสี เช่น มะเขือเทศ แครอท สามารถลดการก่อตัวของเซลล์มะเร็งได้

ผลไม้
สามารถรับประทานได้ทุกชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่เป็นแหล่งของวิตามินซี เช่น ฝรั่ง ส้ม เป็นต้น นอกจากผลไม้รูปแบบสดยังสามารถรับประทานผลไม้รูปแบบน้ำผลไม้ได้อีกด้วย ข้อควรระวังผลไม้ควรล้างให้สะอาด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค เพราะผู้ป่วยโรคนี้มักจะติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติ ผลไม้ประเภทแอปเปิ้ลควรรับประทานเป็นประจำ เพราะมีสาร flavonoid ลดการเกิดมะเร็งได้ และยังมีงานวิจัยถึงการได้รับผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ร่วมกับผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงจะสามารถลดการเกิดความรุนแรงของลูคิเมียได้

ที่มา
http://www.siamca.com/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=48

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น