วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

“ไฝ”แบบไหน อาจกลายเป็นมะเร็ง

 
 
 
ไฝ หรือขี้แมลงวัน เป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ตามผิวหนังของทุกคน ทุกอายุ ส่วนใหญ่แล้วไม่มีอันตราย

ไฝเกิดจากการรวมกลุ่มกันของเซลล์ผิวหนัง ซึ่งสร้างสารสีดำ(melanin) ทำหน้าที่ปกป้องผิวหนังจากรังสีอัลตราไวโอเลต

จะมีบางภาวะที่เซลล์ผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ กลายเป็นมะเร็งของผิวหนังได้ ทั้งนี้ สาเหตุที่แน่นอนนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการที่ผิวหนังถูกกับสิ่งกระตุ้นต่างๆ เป็นเวลานานๆ เช่น ถูกแสงแดดจัดๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานแรมปี หรือถูกสารเคมี เป็นต้น

ในบางครั้ง ไฝที่เป็นอยู่ปกติ หากถูกถูไถ เช่นตามขอบเสื้อ ขอบกางเกง เป็นเวลานาน อาจมีการกลายเป็นมะเร็งได้

นอกจากนี้ หากพบไฝหรือปานที่เปลี่ยนแปลงขนาดไปจากเดิม โดยเฉพาะบริเวณริมฝีปาก ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ

หากมีไฝที่ไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานเกิน ทั้งนี้ เพราะว่ามะเร็งผิวหนังในระยะแรกสามารถรักษาให้หายได้ แต่หากปล่อยไว้นาน โรคอาจจะกระจายออกไป ทำให้ยากแก่การรักษา

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 141 กันยายน 2555 โดย รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น