วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

ซูเปอร์ฟู้ดต้านมะเร็งจริงหรือ


ซูเปอร์ฟู้ดต้านมะเร็งจริงหรือ



ผลวิจัยใหม่นี้อาจทำให้หลายคนต้องร้อง อ้าวดังๆ เมื่อผักผลไม้อย่างบลูเบอร์รี่ และบร็อกโคลี ที่เคยเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นอาหารต้านมะเร็งช่วยให้สุขภาพดี และเรียกกันว่า ซูเปอร์ฟู้ด เพราะป้องกันโมเลกุลออกซิเจน หรืออนุมูลอิสระเข้าไปทำลายเซลล์ แต่ล่าสุด ดร.เจมส์ วัตสัน เจ้าของรางวัลโนเบล วัย 84 ปี หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์อเมริกันที่ช่วยค้นพบโครงสร้างดีเอ็นเอ กล่าวว่า ซูเปอร์ฟู้ดและอาหารเสริมต้านมะเร็งที่นิยมกันมาก นอกจากไม่ได้ช่วยป้องกันแล้ว ยังอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเสียด้วยซ้ำ


ดร.วัตสัน ซึ่งเขียนบทความลงวารสาร รอยัล โซไซตี้ ในอังกฤษ กล่าวว่า การหาหนทางรักษาโรคมะเร็งหลายชนิดจะยังอยู่อีกไกล หากนักวิทยาศาสตร์ไม่ทบทวนบทบาทของอนุมูลอิสระ วิตามินเม็ดและอาหารอย่างบลูเบอร์รี่และบร็อกโคลี เนื่องจากอนุมูลอิสระไม่เพียงช่วยควบคุมเซลล์ที่ป่วย แต่ยังเป็นตัวช่วยให้การบำบัดมะเร็ง อาทิ รังสีบำบัด มีประสิทธิภาพอีกด้วย เมื่อเป็นดังนี้ แอนตี้ออกซิแดนส์ หรือสารต้านอนุมูลอิสระ จึงอาจเป็นสาเหตุให้มะเร็งขยายตัวมากกว่าช่วยป้องกัน



นักวิทยาศาสตร์ท่านนี้ กล่าวว่า ข้อมูลเมื่อเร็วๆ นี้บ่งว่า มะเร็งระยะที่ไม่สามารถรักษาได้อาจเกิดขึ้นจากผู้ป่วยมีสารต้านอนุมูลอิสระมากเกินไป จึงถึงเวลาที่จะต้องตั้งคำถามจริงจังว่า สารต้านอนุมูลอิสระเป็นสาเหตุมากกว่าป้องกันหรือไม่ นอกจากนี้ ผลการศึกษาหลายชิ้นก็พบว่า ตัวต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามิเอ ซี อี และธาตุซีลีเนียม ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหารหรือยืดอายุ กลับกันดูเหมือนทำให้คนที่รับประทานอายุสั้นลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินอี



ดร.วัตสัน ที่ระบุว่าทฤษฎีของเขาเป็นงานสำคัญยิ่งนับจากการค้นพบดีเอ็นเอร่วมกับเพื่อนนักวิจัยชาวอังกฤษเมื่อปี 2496 กล่าวย้ำว่า บลูเบอร์รี่อาจรสชาติดี แต่ไม่ช่วยป้องกันมะเร็ง



ด้าน ศ.นิค โจนส์ จากสถาบันวิจัยมะเร็งอังกฤษ
เห็นด้วยกับผลการศึกษาที่พบว่า สารต้านอนุมูลอิสระไม่ช่วยป้องกันมะเร็งในคนสุขภาพดี และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายนี้อีกเล็กน้อย ร่างกายควรได้รับวิตามินและแร่ธาตุผ่านการรับประทานอย่างถูกหลักโภชนาการและสมดุลมากกว่า


ที่มา
http://variety.teenee.com/foodforbrain/49695.html

แพทย์จีนแนะกินอาหารให้เป็นยาช่วยต้านมะเร็ง

แพทย์จีนแนะกินอาหารให้เป็นยาช่วยต้านมะเร็ง

ตามตำรายาโบราณของจีน มีข้อมูลสำคัญที่กล่าวถึงการจำแนกรูปแบบอาหารจีนออกเป็น 4 คุณลักษณะ คือ หนาว ร้อน อุ่น เย็น และมีรสชาติ 5 ชนิด คือ เปรี้ยว ขม หวาน เผ็ดร้อน เค็ม ตามทฤษฎีของแพทย์แผนโบราณจีนถือว่า อาหารรสเปรี้ยว ช่วยกระตุ้นน้ำ ดับกระหาย ระงับเหงื่อ อาหารรสหวานมีสรรพคุณสำคัญด้านการบำรุง อาหารรสขมช่วยระบายท้อง แก้ร้อนใน อาหารที่มีลักษณะเย็นเหมาะกับผู้ป่วยธาตุร้อน ส่วนอาหารที่มีลักษณะอุ่นร้อนเหมาะกับผู้ป่วยธาตุเย็น เป็นต้น

แพทย์จีน มาลิน ปิยะชินวรรณ จากสมาคมศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย กล่าวว่า “อาหารเป็นสาเหตุหลักของความเจ็บป่วย รวมถึงความมีอายุวัฒนะและสุขภาพที่ดี การใช้อาหารหรือสมุนไพรเพื่อรักษาโรคมะเร็งนั้น มีความสัมพันธ์กับระบบการปรับความสมดุลภายในร่างกาย เช่น อาหารหรือสมุนไพรประเภทบำรุงกำลังจะมีความสัมพันธ์กับความสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน อาหารหรือสมุนไพรประเภทลดความร้อน ขับเหงื่อ มีความสัมพันธ์กับการปรับอุณหภูมิของร่างกาย อาหารหรือสมุนไพรประเภทช่วยการไหลเวียน การขับน้ำ การระบาย มีความสัมพันธ์กับความดันของระบบไหลเวียน ความสมดุลระหว่างกรดและด่าง เป็นต้น”

“ผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้น เนื่องจากสารพิษซึ่งเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง การรักษา และสภาวะทางจิตใจที่วิตกกังวล ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบย่อยอาหารรวมถึงระบบดูดซึมทำงานน้อยลง นอกจากนี้ เมื่อระบบย่อยถูกรุกรานจากมะเร็ง เช่น ตับ ถุงน้ำดี และตับอ่อน ยิ่งส่งผลต่อความสามารถในการย่อยอาหารของผู้ป่วย จนทำให้ผู้ป่วยขาดสารอาหารในที่สุด

นอกจากนี้ ในกระบวนการที่เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตและแพร่กระจายอยู่นั้น
เซลล์มะเร็งจะแย่งดูดรับสารอาหารและพลังงานจำนวนมากจากร่างกาย เมื่อพลังงานและสารอาหารถูกแย่งออกไปเป็นจำนวนมาก แต่ปริมาณการดูดซึมเข้ากลับลดน้อยลง ร่างกายจึงขาดความสมดุล ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการแสดงออกของโรคที่รุนแรงขึ้น แต่หากใช้วิธีรักษาด้วยอาหารและสมุนไพรแบบจีน ไม่เพียงแต่สามารถชดเชยสารอาหารที่สูญเสียไป ยังสามารถอาศัยสรรพคุณในการเสริมภูมิคุ้มกันของสมุนไพรมาช่วยในการรักษาโรคมะเร็งได้”


ที่มา
http://variety.teenee.com/foodforbrain/49941.html

สารสกัดเห็ด"อวิ๋นจือ" วิจัยทางเลือกสู้มะเร็ง

คนไทยตายเพราะมะเร็งเป็นอันดับหนึ่งนานติดต่อกันกว่า 10 ปีแล้ว
ล่าสุด ศ.คิว วาย หยาง ผอ.มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ วิจัยพบว่า "สาร PSP" ซึ่งสกัดได้จาก "เห็ดอวิ๋นจือ" มีถิ่นฐานอยู่ในเมืองจีน สามารถปรับสมดุลภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการนำไปศึกษาวิจัยเพิ่มเติม โดยแพทย์และเภสัชกร ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคมะเร็งในหลายประเทศ

นอกจากมีงานวิจัยหลายชิ้นในสัตว์ทดลอง ยังมีการศึกษาทดลองใช้ในคน หรือการศึกษาทางคลินิกมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี
ได้เปิดเผยข้อมูลและให้การรับรองผลการวิจัยจากหลายสถาบัน ถึงคุณสมบัติสารสกัด PSP ที่ช่วยลดผลข้างเคียงของผู้ป่วยมะเร็งอันเกิดจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดและการฉายรังสี ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และที่สำคัญ เป็นความหวังใหม่ในการต่อสู้กับมะเร็ง เพราะอาจทำให้เซลล์ของโรคร้ายนี้เล็กลง ไปจนถึงยุติการลุกลามได้ในที่สุด

"เห็ดอวิ๋นจือ" ซึ่งมีชื่อคล้ายกับเห็ดหลินจือ แต่เป็นคนละประเภทกันนั้น ศ.ดร.โจเซฟ วู อาจารย์และนักวิจัยภาควิชาชีวเคมีและชีวโมเลกุล แห่งนิวยอร์ก เมดิคัล คอลเลจ สหรัฐ อเมริกา ให้ข้อมูลจากการศึกษาว่าเป็นเห็ดที่มีความพิเศษเฉพาะในการบำรุง เสริมสร้างร่างกาย มีลักษณะเหมือนเกลียวเมฆ จึงเป็นที่มาของชื่อ "Cloud Mushroom"
โดยมีชื่อทางวิทยา ศาสตร์ว่า "Coriolus versicolor" สายพันธุ์ COV-1
จากที่มีอยู่ทั้งหมด 80 กว่าสายพันธุ์ และพัฒนาวิธีสกัดสารด้วยเทคนิคเฉพาะ จนได้สารสำคัญชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า "PSP" (Polysaccharopeptide) เป็นสารที่มีไม่กี่ชนิดในโลก เริ่มแพร่หลายไปในกลุ่มคนทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และนิวซีแลนด์

โดยประสิทธิภาพสาร "PSP" ที่ศ.ดร.โจเซฟ วู ระบุมีอยู่ 3 ประการ คือ 1.เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย 2. ช่วยลดผลข้างเคียงจากการรับเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี ให้ผู้ป่วยมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น และ 3. ทำให้เซลล์มะเร็งเล็กลง และลดความเสี่ยงในการเป็นซ้ำหรือเกิดการแพร่กระจาย

ส่วนผลการวิจัยจาก ศ.ดร.โจเซฟ กุกเลียเอลโม่ หัวหน้าภาควิชาเภสัชกรรมคลินิก ม.แคลิฟอร์ เนีย สหรัฐอเมริกา

บ่งชี้อีกว่า สารสกัด "PSP" จาก "เห็ดอวิ๋นจือ" ใช้ร่วมกับยารักษามะเร็งแผนปัจจุบัน และแผนทางเลือกอื่นๆ ได้อย่างปลอดภัย ถ้าเลือกใช้ถูกกับโรคแล้วมักได้ผลดีมากกว่าผลเสีย
นพ.คุง เซง เหลียง ผอ. The Integrated Clinic Ltd. ฮ่องกง ผู้เชี่ยวชาญในการประยุกต์ใช้การแพทย์แผนจีนผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน
บอกว่า ผลการศึกษาสารสกัดจากเห็ดอวิ๋นจือพบว่าช่วยส่งเสริมการรักษาได้ และตรงกับแนวคิด คือ เสริมภูมิ ลดผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด และเพิ่มพลังงาน
ที่มา
http://variety.teenee.com/foodforbrain/49837.html

รู้ทันมะเร็งเต้านม ตัด - เติมเต้านมใหม่อย่างไรให้ไม่ทำร้ายจิตใจผู้หญิง


รู้ทันมะเร็งเต้านม ตัด - เติมเต้านมใหม่อย่างไรให้ไม่ทำร้ายจิตใจผู้หญิง

หากมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าคงไม่มีผู้หญิงคนใดอยากใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยเต้านมเพียงข้างเดียวทำให้การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันนอกจากมุ่งเน้นการรักษาให้หายจากโรคแล้ว ยังคำนึงถึงเรื่องของจิตใจผู้ป่วยมากขึ้นจึงได้พัฒนาการผ่าตัดแบบคงความสวยงามของเต้านมไว้ ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องช้ำใจกับร่องรอยของโรคมะเร็งจากการสูญเสียเต้านม ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญอันเป็นสัญญลักษณ์ของผู้หญิง วันนี้ เราจึงมีบทความดี ๆ จากโรงพยาบาลเวชธานี เกี่ยวกับการรักษามะเร็งเต้านมมาฝากกันค่ะ
      
        โดย ผศ.พญ.เยาวนุช คงด่านผู้อำนวยการ Breast Center โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงแนวทางในการรักษามะเร็งเต้านมโดยทั่วไปว่าการรักษามะเร็งเต้านมจะประกอบด้วย5วิธีได้แก่1.การผ่าตัด 2.การฉายแสง 3.การให้ยาเคมีบัด4.การให้ยาต้านฮอร์โมน 5.การรักษาด้วยยาที่เป้าหมายมะเร็ง
      
        "หากจะรักษามะเร็งให้หาย การผ่าตัดเป็นด่านแรกที่สำคัญ มีคำพูดที่ว่าการรักษามะเร็งเต้านมถ้า NO SURGERY NO CURE หากหวังว่าจะหายจากมะเร็งต้องสามารถตัดมะเร็งออกได้หมด สำหรับการผ่าตัดจะประกอบด้วยการผ่าตัดเต้านมและผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้เพื่อดูว่ามีมะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ และยังเป็นการควบคุมโรคด้วย เดิมการเลาะต่อมน้ำเหลืองจะทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดออกมาตรวจ การทำวิธีนี้มีผลให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่ทำให้แขนข้างเดียวกันบวมได้ง่าย ทำให้มีการพัฒนาวิธีการหาต่อมน้ำเหลือง ด้วยการฉีดสารไปที่ตำแหน่งของมะเร็งและทำการผ่าตัดติดตามทางเดินน้ำเหลืองว่าไปต่อมน้ำเหลืองไหนเป็นต่อมแรก นำต่อมนี้มาตรวจเพียงต่อมเดียว หากไม่มีมะเร็ง ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะเลอะต่อมน้ำเหลืองที่เหลือ วิธีนี้เรียกว่าการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล ทำให้ลดข้อแทรกซ้อนเรื่องการเกิดแขนบวมได้มาก"
      
        ส่วนการผ่าตัดเต้านมในปัจจุบันมี 2แบบ คือการผ่าตัดแบบเก็บเต้านม และการตัดเต้านม การจะเลือกผ่าตัดด้วยวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วย
      
       แบบแรก เป็นการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้
เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่พบก้อนในเต้านมอยู่ตำแหน่งเดียวไม่พบการกระจายของก้อนบริเวณเต้านมแต่วิธีนี้ต้องมีการฉายแสงร่วมด้วยจึงจะให้ผลเทียบเท่ากับการตัดเต้านม
      
       แบบที่สอง เป็นการผ่าตัดแบบตัดเต้านมออกทั้งหมด
ถ้าทำในผู้ป่วยที่อายุยังไม่มากอาจมีผลกระทบด้านจิตใจได้
      
       การผ่าตัดแบบเก็บเต้านม ในผู้ป่วยบางคนมีข้อจำกัดเช่น เต้านมเล็กเกิน การตัดเนื้อเต้านมออกบางส่วนทำให้เต้านมเกิดการผิดรูปได้ หรือในผู้ป่วยที่มีเต้านมขนาดใหญ่ห้อยย้อยมาก ๆ การทำผ่าตัดแบบเก็บเต้านมอาจทำให้การฉายแสงได้ไม่สม่ำเสมอ หรือรายที่มีข้อจำกัดเช่นมะเร็งอยู่บริเวณหัวนม มะเร็งขนาดใหญ่มาก แต่เดิมเป็นข้อจำกัดในการทำผ่าตัดแบบเก็บเต้านม แต่ปัจจุบันข้อจำกัดเหล่านี้สามารถจัดการได้ด้วยเทคนิคการผ่าตัดแบบ Onco-plastic เป็นการนำเทคนิคการผ่าตัดแบบเสริมความงามมาร่วมกับเทคนิคผ่าตัดมะเร็งมาใช้ โดยอาจจะทำการแก้ไขเต้านมด้านตรงข้ามให้มีความสวยงามมากขึ้นเหมือน ๆ กันทั้งสองข้าง เช่นเทคนิกการย้ายไขมันจากบริเวณใกล้เคียง การผ่าตัดลดขนาด การยกระดับหัวนมเป็นต้น
      
       กำจัดมะเร็งควบเสริมเต้าในคราวเดียวกัน
      
       เป็นพัฒนาการด้านการผ่าตัดมะเร็งและเสริมเต้านมหลังเอามะเร็งออก เดิมการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยรอประมาณ 2 ปี เพื่อให้แน่ใจว่ามะเร็งไม่กลับมาใหม่แล้วจึงทำการผ่าตัดเสริมเต้านมแต่ปัจจุบันเทคโลยีต่างๆ ก้าวหน้าไปมาก ทำให้แพทย์มีแนวทางใหม่ในการผ่าตัดเสริมเต้านมโดยเป็นการผ่าเสริมเต้านมในคราวเดียวกันกับการผ่าตัดเอามะเร็งออกด้วยเนื้อผู้ป่วยเอง โดยอาจนำเนื้อมาจากท้องน้อย หรือไขมันและกล้ามเนื้อจากหลัง ย้ายมาทำเต้านมใหม่ ในรายที่เนื้อผู้ป่วยเองไม่เพียงพอ อาจต้องใช้ถุงซิลิโคนมาช่วยเสริม การผ่าตัดเสริมเต้านมจะทำหลังการตัดเต้านมมากกว่า 2 ปี ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานกับภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันเมื่อทำการผ่าตัดในคราวเดียวกันกับการตัดนมทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกข์ใจ ทำการผ่าตัดเพียงรอบเดียว และผลในเรื่องความสวยงามก็จะดีกว่าด้วย
      
        สำหรับเทคนิคในการผ่าตัดพร้อมเสริมเต้านมทันทีนั้น ผศ.พญ.เยาวนุช เผยว่า การย้ายไขมันและกล้ามเนื้อที่ท้องหรือแผ่นหลังของผู้ป่วยเองมาปลูกถ่ายทดแทนส่วนที่ถูกตัดออกไปซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันดังนี้
      
       ผ่าตัดแล้วเสริมเต้าด้วยไขมันหน้าท้อง
      
       การผ่าตัดในลักษณะนี้จะเป็นการผ่าตัดใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 4 - 5 ชม.โดยการนำเอากล้ามเนื้อและไขมันหน้าท้องมาเสริมเต้านมในส่วนที่ตัดออกไปข้อดีคือนอกจากรักษามะเร็งเต้านมแล้วยังถือโอกาสกำจัดไขมันส่วนเกินที่หน้าท้องไปพร้อมกัน และยังได้เต้านมที่สวยงามกลับคืนมาหลังการผ่าตัดเพียงครั้งเดียวแต่มีข้อที่พึงระวังคือต้องใช้เวลาในการพักฟื้นอย่างน้อย 5-7 วัน
      
       การฉีดไขมัน
      
        นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่เคยทำการผ่าตัดเต้านมมาก่อนแล้วมีลักษณะเต้านมที่ผิดรูปร่าง ยังสามารถใช้เทคนิคด้วยการใช้เข็มขนาดเล็กดูดไขมันจากร่างกายส่วนอื่น มาทำการปั่นแยกเฉพาะเซลล์ไขมันและฉีดเข้าไปบริเวณที่แก้ไข ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมีแผลผ่าตัดเพื่อแก้ไข มีเพียงรอยรูเข็มเล็ก ๆ เท่านั้น
      
       เทรนด์ใหม่ใช้กล้ามเนื้อหลังเสริมเต้าให้สวยเท่ากันทั้งคู่
      
        สมัยก่อนวิธีนี้มีข้อจำกัดในการเลาะกล้ามเนื้อหลังทำให้ได้กล้ามเนื้อปริมาณไม่เพียงพอต่อการเสริมเต้า ต่อมาศัลยแพทย์มีความชำนาญและมีเทคนิคในการนำกล้ามเนื้อบริเวณหลังมาใช้เสริมเต้านมได้เพียงพอสำหรับ 2 เต้าเพื่อให้ได้เต้านมที่สวยงามเหมือนกันทั้งคู่
      
        โดยศัลยแพทย์จะเริ่มต้นจากประเมินปริมาณและการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณหลังซึ่งการประเมินนี้จะสามารถประมาณขนาดของเต้านมที่เสริมสร้างใหม่ได้ในผู้ป่วยที่บริเวณหลังผอมบางจะมีกล้ามเนื้อเพียงพอในการสร้างเต้านมขนาดเล็กเท่านั้นถ้ามีไขมันและกล้ามเนื้อบริเวณหลังหนาประมาณ 2 ซม.จะเพียงพอต่อการสร้างเต้านมขนาดกลางได้แต่ถ้าผู้ป่วยมีหลังหนาและมีเนื้อมากจะสามารถสร้างเต้านมขนาดใหญ่ได้
                   
       การประเมินจำนวนเนื้อเยื่อบริเวณหลัง
      
        พญ.เยาวนุช กล่าวถึงข้อดีของเทคนิคการใช้ไขมันและกล้ามเนื้อหลังว่านอกจากจะใช้เสริมเต้าได้เหมือนกันแล้ว ยังใช้เวลาในการพักรักษาตัวน้อยกว่าแบบที่ใช้ไขมันและกล้ามเนื้อหน้าท้องคือใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 3 - 4 วันเท่านั้น เนื่องจากกล้ามเนื้อแผ่นหลังมีการสมานและมีเลือดหล่อเลี้ยงได้ดีกว่าแต่วิธีนี้ก็มีข้อจำกัดสำหรับคนที่เป็นนักกีฬาหรือทำงานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหลังจะทำให้ไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่เหมือนก่อนการผ่าตัด
      
        ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเสริมเต้านมหลังได้รับการรักษามะเร็งเต้านมล้วนมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นเพราะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับการถูกตอกย้ำถึงโรคมะเร็งด้วยการเห็นเต้านมที่สูญเสียไปและยังช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งมีกำลังใจที่ดีขึ้น รวมถึงมีคุณภาพที่ดีขึ้น กลับมาใช้ชีวิตอย่างมั่นใจได้อีกครั้ง
      
        ผศ.พญ.เยาวนุช เน้นว่า อย่างไรก็ตามการรักษามะเร็งเต้านมนอกจากการผ่าตัดกำจัดก้อนมะเร็งออกแล้ว แพทย์มักจะให้การรักษาร่วมกับวิธีอื่นด้วยเพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็งลงให้มากที่สุด เนื่องจากโดยทั่วไปมักพบการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมสูงในช่วง 2 - 3 ปีแรกของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจึงควรรับการตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำหลังผ่านการรักษาโรคมะเร็งไปแล้ว

ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9560000010061