วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ระวัง!! อยู่เฉย ๆ เป็นมะเร็งเต้านมไม่รู้ตัว

ระวัง!! อยู่เฉย ๆ เป็นมะเร็งเต้านมไม่รู้ตัว

มะเร็งเต้านม โรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้หญิงมานักต่อนักแล้วนะคะ หลายคนพยายามหาวิธีป้องกันสารพัดรูปแบบ แต่รู้หรือไม่วิธีการที่ง่ายที่สุด ก็คือการออกกำลังกายนั่นเอง หากคุณไม่คิดจะขยับตัวบ้าง มัวแต่นั่งเฉย ๆ ระวังโรคร้ายอาจจะถามหาได้นะคะ

จากรายงานการวิจัยพบว่าผู้หญิงก่อนวัยหมด ประจำเดือนที่ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างการวิ่งช้า ๆ วันละ 4.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือทำกิจกรรมง่าย ๆ ให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว อย่างการเดินไปเดินมา 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สามารถช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้ถึง 9% เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่นั่ง ๆ นอน ๆ ทั้งวันโดยไม่ทำอะไรเลย

นั่นเป็นเพราะว่าการออกกำลังกายจะช่วยลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและอินซูลิน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมลงได้

ได้ฟังอย่างนี้แล้วคุณคงไม่คิดจะนั่งอยู่เฉย ๆ ใช่มั้ยล่ะคะ มาออกกำลังกายกันเถอะสาว ๆ...

แพทย์เตือน "จิตตก" เสี่ยงมะเร็งถามหา

แพทย์เตือน "จิตตก" เสี่ยงมะเร็งถามหา

ความผิดปกติของเซลล์ในร่างกายคนเรานั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา แม้ร่างกายจะมีกระบวนการจัดการความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่ถ้าวันใดเกิดจิตตก เครียด วิตกกังวล ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้กลไกทางภูมิคุ้มกันลดลง เซลล์ที่ผิดปกติก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด โดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้มีการสำรวจอุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองไว้ชัดเจน แต่ข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราชชี้ให้เห็นว่า มีคนไข้ใหม่โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอยู่ราว 200-300 รายต่อปี ประมาณการว่าทั้งประเทศน่าจะมีประมาณ 1,000-1,500 รายต่อปี

สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองยังไม่ทราบแน่ชัด แต่แพทย์สันนิษฐานว่ามีความเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น Epstein-Barr virus ซึ่งได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่า เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

คุณหมอบอกว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีกำเนิดมาจากเซลล์ในต่อมน้ำเหลือง โรคนี้แบ่งได้เป็น 2 ชนิดตามลักษณะของชิ้นเนื้อ ได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin lymphoma (NHL) และชนิด Hodgkin disease (HD) โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งสองชนิดจะมีอาการคล้ายกัน คือ มีต่อมน้ำเหลืองโตเป็นหลัก แต่ NHL อาจมีก้อนโตที่อวัยวะอื่น ๆ พบได้บ่อยกว่า เช่น ที่ลำไส้ ปอด สมอง เป็นต้น

"มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรง (High Grade) ที่มีอาการปรากฏชัดเจน ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตเร็วร่วมกับมีอาการอื่น เช่น มีไข้ น้ำหนักลด และมีเหงื่อออกตอนกลางคืน ในขณะที่มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Low Grade) อาการของต่อมน้ำเหลืองจะโตขึ้นอย่างช้า ๆ และอาจไม่มีอาการอื่นเลย" คุณหมอ บอก

สำหรับในประเทศไทย มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบส่วนใหญ่จะเป็นชนิด NHL ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นชนิดย่อย ๆ อีกหลายชนิด แต่ละชนิดจะใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันบ้าง จึงมีความจำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื้อและตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียด เพื่อให้ทราบถึงชนิดที่แท้จริงของมะเร็ง อันจะนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ อาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ อาการที่เกิดขึ้นจากต่อมน้ำเหลืองโต สามารถเห็นและคลำได้ชัดเจน โดยตำแหน่งที่พบบ่อยได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ และขาหนีบ ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นกับต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ภายในร่างกาย เช่น ช่องทรวงอก ช่องท้อง ความรุนแรงของโรคมีความแตกต่างกัน โดยต่อมน้ำเหลืองที่เป็นมะเร็งจะโตเร็วมาก อาจแตกเป็นแผลและมีเลือดออกได้ และหากไม่ได้รับการรักษาแต่ต้น มะเร็งอาจแพร่กระจายไปสู่ระบบต่าง ๆ ของร่างกาย และมีผลทำให้การทำงานของร่างกายล้มเหลวถึงแก่ชีวิต

คุณหมอย้ำว่า คนเรามีเซลล์ผิดปกติที่พร้อมจะกลายเป็นมะเร็งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยร่างกายมีกระบวนการในการจัดการเซลล์ที่ผิดปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดมีจิตตก อาการเครียด กลไกทางภูมิคุ้มกันที่มีอยู่จะลดลง จนทำให้เซลล์ที่ผิดปกติเพิ่มจำนวนมากขึ้นและกลายเป็นก้อนมะเร็งในที่สุด

ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันโรคมะเร็ง คือ พยายามปรับอารมณ์ไม่ให้เครียด วิตกกังวลจนเกินไป และหมั่นตรวจร่างกายสม่ำเสมอเป็นประจำ เพราะหากพบความผิดปกติแต่เนิ่น ๆ การรักษาจะทำได้ดี แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ การรักษาอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

สำหรับเป้าหมายในการรักษาโรคมะเร็งที่ดีที่สุดก็คือ การรักษาให้หายขาด แต่ถ้ารักษาให้หายขาดไม่ได้ก็พยายามรักษาไม่ให้โรคลุกลามต่อไป

ความเข้าใจผิดที่ว่าคนที่เป็นโรคมะเร็งควรงดอาหารประเภทโปรตีน เนื่องจากโปรตีนมีส่วนทำให้เซลล์มะเร็งให้โตนั้น คุณหมอยืนยันว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะร่างกายมีความจำเป็นต้องได้รับอาหารครบทั้ง 5 หมู่ อีกทั้งร่างกายจำเป็นต้องใช้โปรตีนในการซ่อมแซมความสึกหรอต่าง ๆ ของร่างกาย คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ถ้าเซลล์ปกติจะต้องขาดโปรตีนไปด้วย

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีความซับซ้อนและแบ่งเป็นหลายชนิด รวมทั้งมีอาการหลายลักษณะ ซึ่งต้องใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องแม่นยำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

ที่มา
ไทยโพสต์

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปริศนา “มะเร็งตับอ่อน” คร่าทั้งโนเบลแพทย์ และ “สตีฟ จ็อบส์”


สตีฟ จ็อบส์ (เอเอฟพี)


ราล์ฟ สไตน์มัน (เอเอฟพี)



ปริศนา “มะเร็งตับอ่อน” คร่าทั้งโนเบลแพทย์ และ “สตีฟ จ็อบส์”

แม้ชื่อ “มะเร็งตับอ่อน” เหมือนกัน แต่โรคร้ายที่คร่าชีวิต “ราล์ฟ สไตน์มัน” นักวิทย์โนเบลแพทย์ปีล่าสุด และ “สตีฟ จ็อบส์” กลับแตกต่างกัน สำหรับมะเร็งที่คร่านักวิจัยสหรัฐฯ นั้นร้ายแรงยิ่งกว่ามะเร็งที่พรากชีวิตอัจฉริยะแห่งวงการไอที แต่ถึงอย่างนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจในปริศนาของโรคนี้

ในระยะเวลาห่างกันไม่ถึงสัปดาห์ “ราล์ฟ สไตน์มัน” (Ralph Steinman) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ประจำปี 2011 และ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) อัจฉริยะแห่งวงการไอที ต่างลาโลกด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน (Pancreatic Cancer) โดยสไตน์มันเสียชีวิตเพียง 3 วันก่อนหน้าประกาศผลรางวัลโนเบล ส่วนเจ้าพ่อไอทีจากแอปเปิล (Apple) เสียชีวิตให้หลังได้รับการวินิจฉัย 8 ปี แต่มะเร็งของทั้งสองคนแตกต่างกัน

ทั้งนี้ รายงานจากไซแอนทิฟิกอเมริกันระบุว่า ผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนส่วนใหญ่ประมาณ 53% จะได้รับการวินิจฉัยว่าตัวเองเป็นโรคนี้ก็เมื่อมะเร็งได้ลามไปมากแล้ว ในจำนวนนี้อัตรารอดชีวิตต่ำมาก ซึ่งมีเพียง 1.8% ของผู้ป่วยที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปนานกว่า 5 ปีหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งนี้แล้ว และสำหรับมะเร็งชนิดอัตราผู้รอดชีวิตนาน 5 ปีหลังได้รับการวินิจฉัยมีเพียง 3.3% เท่านั้น

ส่วนกรณีของจ็อบส์ที่มีชีวิตอยู่ต่อนานถึง 8 ปีหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งนี้ ไซแอนทิฟิกอเมริกันรายงานคำอธิบายจาก ลีโอนาร์ด ซอลท์ซ (Leonard Saltz) จากศูนย์บริการมะเร็งทางเดินอาหารของศูนย์มะเร็งเมโมเรียล สโลน-เคทเทอริง (Memorial Sloan-Kettering Cancer Center) สหรัฐฯ ว่าจ็อบส์เป็นมะเร็งชนิดที่ไม่พบบ่อยที่เรียกว่า "มะเร็งนิวโรเอ็นโดไครน์” (neuroendocrine cancer) ซึ่งเกิดจากเซลล์ของต่อมไร้ท่อ โดยเนื้อร้ายจะเติบโตขึ้นช้าๆ และรักษาได้ง่ายกว่ามะเร็งชนิดอื่น

“การมีชีวิตหลายปีหรือแม้แต่เป็นสิบปีขึ้นไปในกรณีเป็นมะเร็งเอ็นโดไครน์นั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลก สำหรับมะเร็งชนิดนี้ที่จ็อบส์เป็นนั้นประเมินได้ว่ามีชีวิตอยู่ต่อได้เป็นปี แต่ในกรณีมะเร็งตับอ่อนทั่วไปนั้นจะอยู่ได้เป็นเดือนเท่านั้น เมื่อคุณเป็นมะเร็งตับอ่อนชนิดนิวโรเอ็นโดไครน์นั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างจากมะเร็งตับอ่อนอย่างมาก” ซอลท์ซกล่าว

กรณีของจ็อบส์นั้นมีชีวิตอยู่ต่อหลายปีตามลักษณะของมะเร็งที่เขาเป็น แต่ในกรณีของสไตน์มันผู้ค้นพบระบบภูมิคุ้มกันจำเพาะ (Adaptive Immune) จนนำไปสู่รางวัลโนเบลอันทรงเกียรตินั้นเป็นมะเร็งตับอ่อนชนิดที่มีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปีหลังได้รับการวินิจฉัย โดย ซาราห์ ชเลซิงเกอร์ (Sarah Schlesinger) ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาและสรีรศาสตร์ระดับเซลล์จากมหาวิทยาลัยรอคกีเฟลเลอร์ (Rockefeller University) สหรัฐฯ ซึ่งทำงานร่วมกับสไตน์มันกล่าวว่า สไตน์เป็นมะเร็งตับอ่อนที่พบได้ทั่วไปและเลวร้ายกว่าอย่างมาก

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามอย่างหนักในการพัฒนาการบำบัดและวินิจฉัยโรคมะเร็งร้ายทั้ง 2 ชนิดให้ดีขึ้น และพยายามหาคำตอบให้ได้ว่า เหตุใดผู้ป่วยคนหนึ่งอาจมีชีวิตอยู่ต่อได้นานถึง 8 ปี ขณะที่ผู้ป่วยอีกคนมีชีวิตได้เพียง 8 เดือนเท่านั้น อย่างไรก็ดี ตามรายงานวารสารไซแอนทิฟิกอเมริกันระบุว่า มะเร็งตับอ่อนเป็นโรคที่พบน้อย เฉพาะในสหรัฐฯ ได้รับการวินิจฉัยว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเพียงปีละ 44,000 ราย โดยราว 95% จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งชนิดเดียวกับสไตน์มัน และมีสัดส่วนอีกน้อยนิดที่เป็นมะเร็งชนิดเดียวกับจ็อบส์

ซอลท์ซยังชี้ลงไปอีกว่า ในส่วนของตับอ่อนยังประกอบด้วยอวัยวะ 2 ชนิด ซึ่งมีเนื้อเยื่อที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้ในตับอ่อนนั้นมีมะเร็ง 2 ชนิดที่แตกต่างกันมาก โดยมะเร็งตับอ่อนชนิดที่เป็นกันมากเรียกว่า “อะดีโนคาร์ซิโนมัส” (adenocarcinomas) ซึ่งเกิดในบริเวณเนื้อเยื่อต่อมมีท่อของตับอ่อน และเป็นบริเวณส่วนใหญ่ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตเอนไซม์ย่อยอาหาร ซึ่งจะส่งไปยังระบบทางเดินอาหารผ่านท่อพิเศษ อีกส่วนคือเนื้อเยื่อต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนสู่กระแสเลือด ซึ่งมะเร็งของจ็อบส์เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อประเภทนี้

ส่วนมากผู้ที่เป็นมะเร็งตับอ่อนมักจะเสียชีวิต เพราะมักจะตรวจพบในระยะท้ายๆ แล้ว อีกทั้งต่างจากมะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ มะเร็งชนิดนี้จะไม่แสดงอาการของโรคในระยะแรกมากนัก ซึ่งซอลท์ซกล่าวว่า เขาค่อนข้างลังเลว่าอาการต่อไปนี้เป็นข้อบงชี้ของโรค ที่มีทั้งอาการปวดท้องส่วนบน น้ำหนักลด ไม่อยากอาหารและการอุดตันของลิ่มเลือด เพราะอาการเหล่านี้ค่อนข้างเป็นอาการทั่วไปที่ทุกคนสามารถเป็นได้ แต่หลายกรณีพบว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนหลังมีบางอาการยืดเยื้อหรือพบตัวบ่งชี้ที่ร้ายแรงอย่าง “โรคดีซ่าน”

มีหลายกลุ่มที่พยายามหาวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับอ่อน ด้วยความหวังว่าจะพบโรคแต่เนิ่นๆ ซึ่งในส่วนของ ฟิลิป อาร์เลน (Philip Arlen) ประธานและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทนีโอจีนิกซ์ออนโคโลจี (Neogenix Oncology, Inc.) บริษัทเอกชนของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังหาทั้งวิธีวินิจฉัยและบำบัดมะเร็งตับอ่อน กล่าวว่าขณะนี้มีแรงกดดันมหาศาลให้มีพัฒนาการตรวจในเลือด ทั้งนี้ พบเครื่องหมายทางพันธุกรรม (genetic markers) คู่หนึ่งที่ปรากฏในมะเร็งตับอ่อน แต่ไม่พบในเนื้อเยื่อปกติ ซึ่งอดีตนักวิจัยจากสถาบันมะเร็งสหรัฐฯ (National Cancer Institute) ผู้นี้กล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทคือการพัฒนาชุดทดสอบคล้ายที่ใช้ทดสอบมะเร็งต่อมลูกหมาก

รายงานการวิจัยในไซน์แอนทิฟิกอเมริกันยังระบุว่า มีข้อบ่งชี้หลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่ามะเร็งตับอ่อนนั้นไม่ใช่โรคที่จู่โจมอย่างกะทันหัน ซึ่งหลังศึกษาการเพิ่มจำนวนการกลายพันธุ์ระดับยีนในเนื้อร้ายมะเร็งตับอ่อน นักวิจัยสรุปว่า โรคนี้ใช้เวลาในการสร้างเนื้อร้ายที่เป็นปัญหาประมาณ 7 ปี และใช้เวลาเกือบ 10 ปีในการเริ่มลุกลามสู่อวัยวะอื่น ด้วยความรู้นี้และการค้นหาอาการเริ่มต้นของโรค อาร์เลนมีความหวังว่าในที่สุดจะมีการพัฒนาวิธีคัดกรองโรคที่ไม่รุกล้ำร่างกายผู้ป่วย

ปกติเมื่อมะเร็งตับอ่อนถูกตรวจพบแต่เนิ่นๆ จะถูกผ่าตัดออกไป แต่ถึงอย่างนั้นซอลท์ซจากศูนย์มะเร็งเมโมเรียล สโลน-เคทเทอริงกล่าวว่าโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาหลังจาก 1-2 ปียังมีอยู่สูงมาก และการผ่าตัดก็มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะว่าตับอ่อนนั้นฝังอยู่ลึกในช่องท้อง และยังแวดล้อมและเชื่อมต่อกับอวัยวะสำคัญหลายอวัยวะ และหากมะเร็งลุกลามไปแล้วอย่างกรณีของสไตน์นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลปีล่าสุด โดยทั่วไปก็จะรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด ซึ่งไม่ค่อยได้ผลสำหรับมะเร็งตับอ่อนทั่วไป เช่น ยาบางตัวอย่าง “เจมซิทาบีน” (gemcitabine) ซึ่งเป็นหนึ่งในยาที่สไตน์ได้รับนั้นไม่ส่งผลทางการรักษาในบางคน แต่ช่วยยืดอายุบางคนออกไปได้อีก 2-3 ปี ซึ่งบ่งชี้ถึงความแตกต่างระดับโมเลกุลในเนื้อร้ายของแต่ละคน

แม้ว่ามีสัญญาณเชิงบวกจากการบำบัดทางเคมี ซึ่งสไตน์มันก็มีผลการรักษาที่ดีขึ้น แต่เพื่อนร่วมงานของเขาเผยว่า สไตน์มันก็ยังคงใช้ชีวิตเหมือนมีมีดดาบจ่อคอหอยอยู่ เพราะเขาไม่รู้ว่ามะเร็งร้ายจะกลับมาอีกเมื่อไร ดังนั้น เขาจึงหันไปสนใจในสิ่งที่เขารู้ นั่นคือ “ระบบภูมิคุ้มกัน” ซึ่งเรารู้ซึ้งว่าสิ่งสำคัญในการรักษาคือการเร่งระบบภูมิคุ้มกันให้รวดเร็วเพียงพอที่จะต่อสู้กับเนื้อร้าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ การทำให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถต่อสู้กับมะเร็งได้นั้นเป็นเป้าหมายของนักวิจัยหลายๆ คนมานานแล้ว แต่ตอนนี้มีทำได้ในมะเร็งผิวหนังบางชนิดเท่านั้น

ชเลซิงเกอร์กล่าวว่าหลังจากข่าวสไตน์มันเป็นมะเร็งตับอ่อนแพร่ออกไป ข้อเสนอวิธีบำบัดโรคก็หลั่งไหลมามากมาย และเขาได้ลองการบำบัดที่มีผู้เสนอมาทั้งหมด 8 วิธี โดยยาที่เขาใช้รักษานั้นผ่านการศึกษาระดับคลีนิคและการทดลองในคนแล้ว ในจำนวนวิธีการบำบัดทั้งหมดนั้นมียา 2 ชนิดที่พัฒนาขึ้นจากองค์ความรู้เกี่ยวกับ “เซลล์เดนไดรติก” (dendritic cell) ที่เขาค้นพบ โดยเซลล์ดังกล่าวทำหน้าที่สำคัญในการปลดปล่อย “ทีเซลล์” (T-Cells) ที่จะเข้าโจมตีเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งคาดหวังว่าสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอและโปรตีนจากมะเร็งร้ายจะช่วยให้เซลล์เดนไดรติกกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้เข้าโจมตีมะเร็งต่อไป

ซอลท์ซกล่าวว่าไม่แนะนำการปลูกถ่ายตับใหม่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน ถึงแม้ว่าการที่ตับทำงานล้มเหลวจะเป็นสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้เสียชีวิต เพราะตับอยู่ใกล้ตับอ่อนมากและมะเร็งมักแพร่กระจายมายังอวัยวะส่วนนี้ แต่การรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายตับนั้นยังไม่ใช่วิธีการรักษามาตรฐานและยังขาดหลักฐานสนับสนุนว่าวิธีนี้ได้ผล และถึงแม้ตับใหม่จะป้องกันตับทำงานล้มเหลว แต่ก็ต้องได้รับสารกดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันร่างกายปฏิเสธอวัยวะ อันจะเป็นการลดความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับเซลล์มะเร็งที่ยังเหลืออยู่ และเขาก็ไม่รู้ด้วยว่า วิธีรักษานี้ทำให้จ็อบส์อายุยืนขึ้นหรือสั้นลง

ส่วนกรณีของสไตน์มันซึ่งมีการบำบัดรักษาที่หลากหลาย จนทำให้เขามีชีวิตอยู่นานกว่าปกติของโรคอยู่หลายปีนั้น ทางชเลซิงเกอร์เองก็ตอบไม่ได้ว่าวิธีใดกันแน่ที่ช่วยยืดอายุเพื่อนร่วมงานของเธอ แต่โดยส่วนตัวแล้วเธอเชื่อว่าเป็นผลจากการรักษาร่วมกันหลายๆ วิธี แต่สำหรับสไตน์มันแล้วเขาศรัทธาในเซลล์เดนไดรติกอย่างมาก และเชื่อว่าเซลล์ดังกล่าวมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เขามีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น และเพื่อเข้าใจการทำงานภายในของมะเร็งตับอ่อนนั้นจำเป็นต้องมีการศึกษาพื้นฐานในมนุษย์ให้มากกว่านี้

ด้านซอลท์ซชี้ว่าในปัจจุบันมีความพยายามที่จะเข้าใจความแตกต่างระดับโมเลกุลและพันธุกรรมในมะเร็งแต่ละชนิดให้มากขึ้น เพื่อเข้ารูปแบบการเจริญเติบโตของเนื้อร้ายและการตอบสนองต่อการรักษา ซึ่งอาจจะนำไปสู่การบำบัดรักษาที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่จะตัดสินได้ว่า เหตุใดผู้ป่วยคนหนึ่งมีชีวิตต่อได้ถึง 7 ปี ขณะที่อีกคนอยู่ได้แค่ 7 เดือนนั้น ขึ้นอยู่กับชีววิทยาของมะเร็งเหล่านี้


ที่มา
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000129013