วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

เคี้ยวหมากเสี่ยงมะเร็งในช่องปากนะยายนะ


พญ. สมจินต์ จินดาวิจักษณ์


แม้ว่าปัจจุบันวัฒนธรรมการ "เคี้ยวหมากเคี้ยวพลู" ของผู้เฒ่าผู้แก่จะมีให้เห็นน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อน เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังมีคุณตาคุณยายบางบ้านที่ยังต้องมี "เชี่ยนหมาก" ไว้ข้างกายตลอดเวลา ซึ่งถือว่าเป็นภาพความทรงจำในวัยเด็กของใครหลายคน ที่มักจะนั่งเล่นอยู่ข้างๆ ยามที่คุณตาคุณยายท่านกำลังเคี้ยวหมากจนปากแดง บางคนก็เคยทำหมากให้ท่านกิน แต่ก็หารู้ไม่ว่าสิ่งที่คุณกำลังทำมันเป็นการหยิบยื่นโรคภัยให้กับคุณตาคุณยายอย่างไม่รู้ตัว

กับเรื่องนี้ "พญ. สมจินต์ จินดาวิจักษณ์" หัวหน้ากลุ่มงาน โสต ศอ นาสิก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวให้ความรู้ว่า โดยทั่วไป "มะเร็งช่องปาก" จะเป็นมะเร็งของเยื่อบุในช่องปาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชนิด squamous cell carcinoma โดยมะเร็งชนิดนี้จะมีกลไกในการเกิดโรคจากการได้รับสารก่อมะเร็งเป็นเวลานานๆ และมักพบในกลุ่มคนช่วงอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตามการเกิดมะเร็งในตำแหน่งของช่องปากก็มีโอกาสพบได้เกือบทุกเพศทุกวัย แต่จะเป็นมะเร็งชนิดอื่น เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

"การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา รวมถึงการเคี้ยวหมากของผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปากมากถึง 15 เท่า นอกจากนี้หากผู้สูงอายุและสมาชิกในบ้านมีสุขภาพช่องปากที่ไม่ดีอยู่แล้วเช่น การมีฟันแหลมคมหรือการใส่ฟันปลอมที่มีขนาดไม่พอดีกับช่องปาก อาจส่งผลให้เกิดเป็นแผลอักเสบเรื้อรัง และกลายเป็นมะเร็งในช่องปากได้ นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยทางการแพทย์หลายชิ้นพบว่า ในผลหมากมีสารก่อมะเร็ง หากมีการเคี้ยวหมากร่วมกับยาเส้นที่เป็นสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกับบุหรี่เป็นเวลานาน ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในช่องปากได้มากถึง 9.9 เท่าของผู้ที่ไม่เคี้ยวหมากหรือสูบบุหรี่"

สำหรับอาการโดยทั่วไปของโรคนี้ ในระยะเริ่มต้น คุณหมอบอกว่า อาจจะแผลในช่องปากปากที่รักษาไม่หายยาวนานกว่า 3 สัปดาห์ โดยสังเกตได้ง่ายๆ ว่าจะมีรอยฝ้าขาวหรือฝ้าแดง ตุ่ม ก้อน ที่รักษาไม่หาย จากนั้นตุ่มและก้อนจะโตขึ้นเรื่อยๆ มีเลือดปนน้ำลาย ทำให้การกลืนอาหารหรือเคี้ยวอาหารลำบาก เนื่องจากอาจมีฟันโยกหรือหลุด บางรายไม่สามารถใส่ฟันปลอมได้เหมือนเดิมจากการที่มีรอยของโรค บางกรณีที่ร้ายแรงจะมีก้อนบริเวณลำคออีกด้วย

"หากบ้านไหนมีผู้สูงอายุหรือสมาชิกคนอื่นๆ ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคมะเร็งในช่องปาก ควรหมั่นสังเกตและสำรวจภายในช่องปากเพื่อตรวจหามะเร็งช่องปากด้วยตนเอง โดยอ้าปากที่หน้ากระจกและใช้ไฟฉายส่อง เพื่อตรวจดูบริเวณด้านข้างลิ้น กระพุ้งแก้ม พื้นปาก เหงือกบนล่าง ริมฝีปาก หากมีแผลที่รักษาไม่หายเกิน 3 สัปดาห์ควรต้องได้รับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเร่งด่วน โดยการวินิจฉัยของแพทย์ จะใช้หลักฐานจากการซักประวัติผู้ป่วยว่ามีปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ จากนั้นก็ตรวจร่างกาย ว่ามีรอยโรคหรือไม่ และเมื่อแพทย์ตรวจพบรอยโรคที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งจะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา" พญ. สมจินต์อธิบายเมื่อตรวจพบความเสี่ยงต่อโรคฯ


ทั้งนี้ หลังจากที่แพทย์ได้ทำการตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาแล้วว่าเป็นมะเร็ง แพทย์ก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อทำการประเมินระดับอาการของโรค โดยการตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และวางแผนการรักษา ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้มีการศึกษามาแล้ว โดยใช้การรักษาหลักๆ คือ การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้เคมีบำบัด ผู้ป่วยที่เป็นในระยะเริ่มแรกจะใช้วิธีการรักษาโดยการผ่าตัด หรือการฉายรังสีอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หากเป็นในระยะลุกลาม จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาหลายวิธีร่วมกัน เช่น การผ่าตัด และการฉายรังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัดในภายหลัง

อย่างไรก็ดี พญ. สมจินต์ แนะนำว่า การหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการเคี้ยวหมาก โดยหันมาดูแลเอาใจใส่สุขภาพในช่องปากของตัวเอง นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีเบต้าแคโรทีน ประเภทผักผลไม้ที่มีสีเหลืองหรือแดง เช่น มะเขือเทศ แครอท และฟักทองก็สามารถลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งในช่องปากได้ รวมถึงการปฎิบัติตัวที่ดีหมั่นออกกำลังกายและคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง หากพบอาการผิดปกติรีบไปปรึกษาแพทย์ก่อนที่มะเร็งจะลุกลามไปสู่อวัยวะอื่นๆ ที่ใกล้เคียงได้



ที่มา
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000134988

วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

โภชนบำบัดสำหรับมะเร็งกระเพาะอาหาร

โภชนบำบัดสำหรับมะเร็งกระเพาะอาหาร

มะเร็งกระเพาะอาหารสามารถเกิดขึ้นที่ส่วนใดของกระเพาะอาหารก็ได้ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นเซลล์ชนิด adenocarcinoma ปัจจัยเสี่ยงเกิดจาก การสูบบุหรี่ การติดเชื้อ Helicobacter pyroli การมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง เพศชายจะเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า การป่วยเป็นโรคโลหิตจางชนิด Pernicious anemia Hereditary nonpolyposis (HNPCC หรือ lynch syndrome) , familial adenomatous polyposis (FAP) และโรคอ้วน เหล่านี้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

อาการของโรคบางครั้งผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด หรือมีอาการท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียนก็ได้ การวินิจฉัยอาจทำการส่องกล้องหรือกลืนแป้งเพื่อดูชิ้นเนื้อที่เป็นอยู่ การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อร้าย การกระจายไปอวัยวะอื่นๆ หรือไม่ และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย ในหลายกรณี คณะแพทย์ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ระบบทางเดินอาหาร ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์โรคมะเร็ง และแพทย์รังสีรักษา ต้องปรึกษากันเพื่อวางแผนการรักษาที่ดีที่สุด ที่สำคัญอีกอย่าง คือ หลังจากการผ่าตัดกระเพาะอาหารผู้ป่วยมักจะเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า dumping syndrome ซึ่งอาหารก็จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมาก

โภชนบำบัด
ข้าวแป้ง
ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารคงต้องหันมาให้ความสำคัญต่อการควบคุมคาร์โบไฮเดรตร่วมด้วย เนื่องจากพบว่า หากคาร์โบไฮเดรตมากไปอาจทำให้เกิดผลเสียต่อโรคมะเร็งที่เป็นอยู่ได้ พลังงานจากอาหารหมู่นี้ยังคงได้รับเท่าเดิม คือ 55-60% ของพลังงานทั้งหมด แต่การได้รับนั้นควรกระจายให้มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตเท่ากันทุกมื้ออาหาร ยกเว้นในกรณีที่เพิ่งผ่าตัดกระเพาะออกไปบางส่วน ควรแบ่งมื้ออาหารและลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้น้อยเท่าที่ทำได้ เพื่อลดอาการไม่สบายท้องรวมไปถึงคลื่นไส้อาเจียน ควรรับประทานอาหารที่หลากหลาย หากเบื่ออาหารประเภทข้าวอาจเปลี่ยนเป็นขนมปัง หรือก๋วยเตี๋ยวราดหน้าบ้างก็ได้

เนื้อสัตว์
การรับประทานเนื้อสัตว์มากอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะในเนื้อสัตว์ที่ติดมันมาก หรือในกรณีที่มีการปนเปื้อนของสารเคมี เช่น ในเนื้อหมูอาจจะมีไขมันอยู่เยอะ และมีการปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดง ดังนั้น ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำจากแหล่งหรือร้านที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีการปนเปื้อนสารเคมี โดยควรได้รับโปรตีนวันละ 15% ของปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องการแต่ละวัน แหล่งโปรตีนที่ดีที่สุด คือ ไข่ไก่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่มีกรดอะมิโนครบทุกชนิด

ไขมัน
ไขมันยังคงเป็นสิ่งที่ควรจำกัด และดูแลเป็นพิเศษ ควรงดเว้นของทอด กะทิ และอาหารอื่นๆ ที่มีส่วนประกอบไขมันสูง การปรุงประกอบอาหารโดยใช้น้ำมันมะกอกจะสามารถส่งผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็งได้ ดังมีรายงานของการรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งจะใช้น้ำมันมะกอกปรุงอาหาร พบว่าอัตราเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหารลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ถึงมีข้อมูลว่าน้ำมันมะกอกให้ผลดีต่อผู้ป่วย แต่ไม่ได้หมายถึงการรับประทานไขมันมากๆ และจะส่งผลดีต่อร่างกายดังนั้นควรลดการรับประทานไขมันเท่าที่เป็นไปได้

ผัก
พืชในกลุ่มผักที่มีสาร Isoflavone มีรายงานทั้งช่วยควบคุมเซลล์มะเร็งและไม่มีผลต่อการควบคุมมะเร็ง แต่อย่างไรก็ตาม สารเหล่านี้ก็ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จึงถือว่าการรับประทานผักกลุ่มกะหล่ำ บร็อคโคลี่ ยังให้ผลดีในการต้านอนุมูลอิสระอยู่ ควรรับประทานผักให้ได้วันละ 5 ทัพพี ขึ้นไป และมีรายงานถึงเห็ดหัวลิง ว่าสามารถให้ผลดีในการลดการเกิดมะเร็งกระเพาะรวมไปถึงแผลในกระเพาะอาหารได้


ผลไม้
ผลไม้สามารถรับประทานได้ทุกชนิด แต่ให้ระมัดระวังในกรณีของการผ่าตัดกระเพาะแล้วเท่านั้น หลังจากนั้นสามารถเลือกรับประทานผลไม้ที่ไม่มีเนื้อหยาบเกินไปได้ตามต้องการ อาทิ มะละกอสุก ส้ม เป็นต้น

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ dumping syndrome (เกิดจากการที่อาหารผ่านกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กเร็วเกินไป ทำให้มีอาการปวดเกร็งช่องท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย และอาจพบอาการน้ำตาลในเลือดต่ำได้) ร่วมด้วย ควรมีการดูแลอาหารพิเศษเพิ่มขึ้น คือ
• ทานอาหารให้ลดปริมาณต่อมื้อให้น้อยลงแต่รับประทานเพิ่มจำนวนมื้อขึ้นแทน
• ไม่ทานอาหารร้อนจัด หรือเย็นจัดจนเกินไป
• ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น พวกเครื่องดื่มธัญพืช
• ไม่ดื่มน้ำร่วมกับมื้ออาหารควรเว้นระยะห่างจากการรับประทานอาหาร 30 นาที
• ควรอยู่ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนขณะรับประทานอาหารเพื่อให้อาหารเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น
• หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดสูง เช่น มะเขือเทศ ส้ม มะนาว เป็นต้น
• ควรรับประทานอาหารที่มี pectin สูง เช่น แอปเปิ้ล พลัม พีช เป็นต้น
• ควรได้รับแคลเซียมและวิตามิน บี 12 เสริมจะสามารถทำให้ฟื้นฟูร่างกายได้เร็วขึ้น


ตัวอย่างการเลือกอาหารสำหรับผู้ป่วย dumping syndrome

ข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว
รับประทาน 6-11 ส่วนต่อวัน
โดย 1 ส่วนเท่ากับขนมปัง 1 แผ่น, ข้าว 1 ทัพพี, พาสต้า 1/2 ถ้วย

การเลือกอาหาร
ขนมปังทุกชนิดที่ไม่มีรสหวาน, ข้าว พาสต้า, แครกเกอร์, ซุป

อาหารที่ควรเลี่ยง
อาหารหวาน, แครกเกอร์, ขนมปัง หวาน, แพนเค้ก, วาฟเฟิล

ผลไม้
รับประทาน 2-4 ส่วนต่อวัน
โดย 1 ส่วน คือ 1 ผลของผลไม้ขนาดกลาง เช่น ส้ม 1 ผล

การเลือกอาหาร
ผลไม้สดที่ไม่หวานจัด, น้ำผลไม้ 100% ไม่หวานจัด ควรรับประทานหลังอาหาร 1 ชั่วโมง

อาหารที่ควรเลี่ยง
ผลไม้กระป๋องในน้ำเชื่อม, น้ำผลไม้ที่เติมน้ำตาล

นม
วันละไม่เกิน 2 ส่วน
โดย 1 ส่วน เท่ากับ 1 แก้ว

การเลือกอาหาร
โยเกิร์ตรสธรรมชาติ, นมพร่องมันเนยจืด

อาหารที่ควรเลี่ยง
มิลค์เชค, โยเกิร์ตรสหวาน


การเลือกอาหาร
เครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลทุกชนิด

อาหารที่ควรเลี่ยง
แอลกอฮอล์, เครื่องดื่มใส่น้ำตาล

หมายเหตุ : กลุ่มผักและเนื้อสัตว์สามารถรับประทานได้ตามปกติและไขมันเลี่ยงให้ได้มากที่สุด
คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร
• รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด เนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา กุ้ง ถ้าจะรับประทานเนื้อสัตว์ที่ย่อยยากควรต้มให้เปื่อยก่อน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีกากมาก เช่น เมล็ดพืช เปลือกผลไม้ ผักเยื่อใยหยาบ เป็นต้น
• เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืนและรับประทานอาหารช้าๆ
• อาหารควรสะอาดสุกใหม่ งดอาหารที่คิดว่าอาจจะปนเปื้อนทำความสะอาดไม่ได้ เช่น หอยทุกชนิด อาหารหมักดอง เนื่องจากน้ำกรดที่ช่วยในการย่อยและทำลายเชื้อโรคมาจากกระเพาะ เมื่อกระเพาะถูกตัดน้ำกรดก็เหลือน้อยลง อาหาร มือ และภาชนะควรล้างให้สะอาดก่อนปรุง อาหารที่ปรุงแล้วปิดให้มิดชิด และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร



ที่มา
http://www.siamca.com/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=41

โภชนบำบัดสำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

โภชนบำบัดสำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

บทนำ
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ มะเร็งที่เกิดที่ต่อมน้ำเหลือง หน้าที่ของต่อมน้ำเหลืองจะเก็บภูมิคุ้มกันไว้ให้กับร่างกายเพื่อปลดปล่อยไปกำจัดเชื้อโรคที่บุกรุกเข้าสู่ร่างกาย โดยทั่วไปแล้วมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกไปเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ แบบ Non-Hodgkin Lymphoma (NHL) และ Hodgkin Lymphoma ซึ่งในคนไทยมักพบชนิด NHL

สาเหตุการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีได้หลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อบางชนิด โรคออโตอิมมูน เช่น พวกภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรค SLE การได้รับยากดภูมิหรือได้รับสารเคมี เป็นต้น โดยอาการของโรคอาจจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้เป็นก้อนคล้ายยางลบ เคลื่อนที่ได้เมื่อเอามือคลึง นอกจากนี้อาจเกิดอาการตามระบบอื่น ได้แก่ ตับโต ม้ามโต เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง เป็นต้น

การรักษามีทั้งการให้เคมีบำบัด หรือการให้แอนติบอดี้ไปทำลายเซลล์มะเร็ง การฉายแสงรวมไปถึงการปลูกถ่ายไขกระดูก การดูแลทางด้านอาหารเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ช่วยในการทำงานของระบบเม็ดเลือดขาวให้ดีขึ้น

โภชนบำบัด
ข้าวแป้ง
อาหารในกลุ่มนี้ไม่ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงมากนัก เพราะพบความสัมพันธ์ของอาหารในกลุ่มที่มีดัชนีน้ำตาลสูงกับการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมากขึ้น ซึ่งอาหารในกลุ่ม ได้แก่ ข้าวขัดสี ขนมปัง เป็นต้น ดังนั้นจึงควรเลือกรับประทานข้าวไม่ขัดสี หลีกเลี่ยงพวกพาสต้า มักกะโรนี และการได้รับน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไป ควรเลือกน้ำตาลไม่ขัดขาว

เนื้อสัตว์
การได้รับเนื้อสัตว์พวกเนื้อวัว เนื้อสะโพกหมู ยังไม่แนะนำสำหรับผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพราะมีการพบความสัมพันธ์ของการได้รับเนื้อสัตว์ดังกล่าวกับการเกิดมะเร็ง ดังนั้น เนื้อสัตว์ที่รับประทานได้แนะนำควรเป็นเนื้อปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาทะเล ควรงดการรับประทานพวกชีส รวมไปถึงลดปริมาณการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมด้วย เนื่องจากมีรายงานถึงความสัมพันธ์ของการได้รับพวก dairy product สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งได้

ไขมัน
ไม่พบข้อบ่งชี้ถึงการรับประทานไขมันกับการเกิดโรคดังกล่าวแน่ชัด อย่างไรตาม การได้รับอาหารที่มีแคลลอรีสูงเกินไปสามารถส่งเสริมให้เกิดโรคมะเร็งได้มากขึ้น ดังนั้น แม้ว่าแหล่งอาหารที่มีพลังงานมากที่สุดคือไขมัน แต่ก็ควรบริโภคไขมันอย่างความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงแหล่งไขมันที่จะทำให้เพิ่มพลังงานมากจนเกินความต้องการ

ผัก
พบว่าผักในตระกูลของกะหล่ำ บร็อคโคลี มีฤทธิ์ช่วยในการควบคุมเซลล์มะเร็ง และมีการแนะนำว่าการรับประทานผักให้มากกว่าวันละ 5 ทัพพี สามารถช่วยเรื่องมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ ไม่มีรายงานถึงการได้รับอาหารเสริมแบบเป็นเม็ด เช่น วิตามิน เบต้าแคโรทีน ในการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่มีรายงานถึงสาร alkaloid ในมันฝรั่งมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งได้


ผลไม้
ผลไม้สามารถรับประทานได้ทุกชนิด แต่ให้งดเว้นผลไม้ที่มีรสหวานจัดหรือมีค่าดัชนีน้ำตาลมาก เพราะจะเกิดผลเสียต่อผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ควรจะรับประทานผลไม้แต่เพียงพอดี เพราะหากได้รับผลไม้มากเกินความจำเป็นก็ส่งผลให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกิน ทำให้เพิ่มปัจจัยกับเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้

ที่มา
http://www.siamca.com/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=42

โภชนบำบัดสำหรับมะเร็งต่อมลูกหมาก

โภชนบำบัดสำหรับมะเร็งต่อมลูกหมาก

บทนำ
มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ต่อมลูกหมากที่ผิดปกติทำให้ต่อมลูกหมากโตขึ้น อาจพบได้ในชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป แต่พบมากขึ้นในคนที่อายุเลย 60 ปี สาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมากที่แท้จริงยังไม่มีใครทราบ แต่ก็คาดว่าอาหารอาจมีส่วนให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะอาหารพวกที่มีไขมันสัตว์ นอกจากนั้น ยังอาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์อีกด้วย

พบว่าประเทศที่มีประชากรบริโภคอาหารที่มีไขมันและโปรตีนจากเนื้อสัตว์สูง มักมีโรคนี้เกิดขึ้นมาก เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป เป็นต้น ในระยะแรกที่มะเร็งเริ่มเกิดมักไม่มีอาการใด ๆ ต่อเมื่อมะเร็งเจริญเติบโตขึ้นใหญ่ขึ้น ไปกดและเบียดท่อปัสสาวะส่วนต้น ทำให้เกิดการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ ในระยะนี้ผู้ป่วยเริ่มจะมีการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ต่อมาเริ่มปัสสาวะลำบากขึ้น ต้องเบ่งมากขึ้น บางคนปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือด หรืออาจมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ บางคนอาจมีอาการเจ็บปวดเมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิในขณะร่วมเพศ การรักษาต่อมลูกหมากมีทั้งการผ่าตัด การฉายรังสี และบางกรณีอาจมีการให้ยาต้านฮอร์โมนเพศชายร่วมด้วย

โภชนบำบัด
ข้าวแป้ง
ยังต้องรับประทานอาหารกลุ่มนี้เป็นหลัก ความต้องการต่อวันอยู่ที่ 55-60% หรือวันละ 8-12 ทัพพี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ป่วย แนะนำเป็นพวกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจะดีที่สุด เช่น พวกข้าว ขนมปังที่มีส่วนผสมของธัญพืช หากใครอยากรับประทานพวกก๋วยเตี๋ยวก็ได้ แต่ให้เป็นก๋วยเตี่ยวน้ำดีกว่า พยายามงดก๋วยเตี๋ยวแห้งเพราะพวกนี้จะมีการใส่น้ำมันกระเทียมเจียวมากกว่าก๋วยเตี๋ยวน้ำ

เนื้อสัตว์
ในผู้ป่วยมะเร็งระบบสืบพันธุ์เพศชาย เนื้อสัตว์ควรให้ความระวังเป็นพิเศษ ไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์ติดมันทุกชนิด ควรงดเว้นเนื้อหมู แนะนำเป็นปลาจะเป็นแหล่งโปรตีนที่ปราศจากไขมันที่ค่อนข้างปลอดภัยกว่า อีกทั้งเนื้อปลาเป็นแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ป่วย มีรายงานวิจัยบางรายงานที่ศึกษาบทบาทของไขมันโอเมก้า 3 ต่อการยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง และช่วยในการเพิ่มน้ำหนักตัว แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรระวังเรื่องน้ำหนักตัวด้วย เพราะเมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ไขมันบริเวณหน้าท้องจะส่งสาร inflammatory cytokine ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งระบบต่างๆตามมาอีก
สำหรับโปรตีนจากแหล่งอื่น นมควรงดเว้นก่อนเนื่องจากในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากค่อนข้างจะต้องระวังไขมัน โดยเฉพาะกรดไขมันอิ่มตัวเป็นอย่างมาก แนะนำเป็นโปรตีนจากถั่วเหลือง จะช่วยส่งผลดีต่อผู้ป่วย เพราะในถั่วเหลืองมีสารช่วยปรับระดับสมดุลฮอร์โมนของร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากต้องระมัดระวังไม่ให้มีฮอร์โมนเอนโดรเจน (androgen) มากเกินไปในร่างกาย

ไขมัน
อาหารประเภทไขมันที่เป็นกรดไขมันอิ่มตัวทุกชนิดควรงดเว้นอย่างเข้มงวด เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ เป็นต้น รวมไปถึงไขมันที่เกิดจากการปิ้งย่างของเนื้อสัตว์ ซึ่งจะเต็มไปด้วยสารก่อมะเร็ง สรุปแล้วไขมันไม่ควรได้รับเกินวันละ 3-5 ช้อนชา และไม่ต้องกังวลถึงการขาดไขมัน เพราะหากยังรับประทานเนื้อสัตว์ ในเนื้อสัตว์มักจะมีไขมันแฝงมาอยู่แล้ว
ผัก
“ผักพืช” สามารถให้ผลดีกับผู้ป่วยได้โดยเฉพาะมะเขือเทศ โดยควรใช้มะเขือเทศที่ผ่านความร้อนแล้วจะให้ผลดีที่สุด เพราะมะเขือเทศที่ไม่ผ่านความร้อนการดูดซึมสารไลโคพิน (lycopene) ซึ่งเป็นสารที่ให้ผลควบคุมมะเร็งต่อมลูกหมากจะดูดซึมได้น้อย นอกจากนี้พืชในตระกูลกะหล่ำ ผักที่มีสีส้ม สีแดง ซึ่งจะมีสารเบต้าแคโรทีน และไอโซฟลาโวน (Isoflavone) และในกลุ่มพืชในเขียวเข้มที่มีสารโพลีฟีนอล (polyphenol) ล้วนแล้วแต่ให้ผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากทั้งสิ้น ในขณะที่สารแคลเซียม สังกะสี ในปริมาณสูงจะส่งผลให้มะเร็งเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ดังนั้นอาจต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานผักคะน้าและเมล็ดงาในปริมาณมาก
หากผู้ป่วยรับประทานอาหารมังสวิรัติและมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำร่วมด้วย ควรเสริมอาหารหมวดโปรตีนจากพืชมากขึ้น เช่น พวกพืชตระกูลถั่ว รวมไปถึงเห็ดชนิดต่างๆ เพราะในเห็ดจะมีสารโพลีแซคคาไรด์ (polysaccharide) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นเม็ดเลือดขาว

ผลไม้
ให้เน้นชนิดที่ไม่หวานจัดจนเกินไป พวกทุเรียน สับปะรด ลำไย ควรหลีกเลี่ยง สำหรับผลไม้ในกลุ่มที่มีสีแดงสด เช่น แตงโม มะละกอสุก แอปเปิ้ล ล้วนแล้วแต่ให้ผลดีต่อผู้ป่วย สามารถช่วยลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ ผลไม้บางชนิดที่อุดมไปด้วยวิตามินอี เช่น อะโวคาโด้ ก็สามารถได้รับประทานบ้างแต่ไม่ควรมากจนเกินไป เนื่องจากต้องระวังไขมันด้วย แม้จะเป็นไขมันที่มาจากพืชก็ตาม เพราะไขมันจากแหล่งใดก็ตามสามารถส่งผลให้น้ำหนักตัวเกินได้ และเมื่อน้ำหนักตัวเกินก็จะส่งผลเสียดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว



ที่มา
http://www.siamca.com/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=43

โภชนบำบัดสำหรับมะเร็งตับ

โภชนบำบัดสำหรับมะเร็งตับ

มะเร็งตับมักจะตรวจเจอในระยะที่เป็นมากแล้ว สาเหตุการเกิดมีหลายสาเหตุ โดยทั่วไปปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี การได้รับสารเคมีบางชนิด หรือการได้รับสารอัลฟาท๊อกซิน (Aflatoxin) จากเชื้อราที่พบในถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งการรักษามีทั้งการให้เคมีบำบัด การฉายแสงและผ่าตัด อย่างไรก็ดี ต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาว่าสภาวะร่างกายของผู้ป่วยเหมาะสมกับการรักษาแบบใด ผู้ป่วยควรพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพราะมะเร็งตับสามารถแพร่กระจายได้ง่าย

ตับเป็นอวัยวะสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสารอาหาร สารเคมี ยาและสารต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย และยังมีหน้าที่สำคัญในการผลิตน้ำดีเพื่อใช้ในการย่อยไขมัน ดังนั้น การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับจำเป็นต้องได้รับความใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ เพราะอาการของโรคอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ อาการที่พบบ่อย คือ ท้องอืด เนื่องจากตับเป็นอวัยวะในการผลิตน้ำดีเพื่อทำการช่วยย่อยไขมัน และตับอยู่ใกล้ชิดกับบริเวณลำไส้จึงอาจส่งผลกระทบต่อระบบการย่อยอาหารได้ง่าย นอกจากอาการทางระบบย่อยอาหารแล้ว ยังอาจส่งผลต่อการรับรสอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสมองและระบบประสาท ดังนั้นอาหารจึงเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่อย่างมีความสุข

โภชนบำบัด
ข้าวแป้ง
สารอาหารชนิดนี้สามารถรับประทานได้ตามปกติ โดยควรได้รับคาร์โบไฮเดรต 55-60% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน หรืออาจจะเพิ่มได้บ้างในผู้ป่วยที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีภาวะดื้อต่ออินซุลินแทรกซ้อน แต่ควรเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่าย ไม่ควรบริโภคธัญพืชในปริมาณที่มากเกินไป เพราะอาจส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารทำงานมากขึ้นและเกิดอาการแน่นท้องมากขึ้นได้
หากผู้ป่วยรับคาร์โบไฮเดรตประเภทข้าวหากได้น้อยมาก อาจจะให้ผู้ป่วยได้รับในรูปแบบของน้ำหวานเพิ่ม เพื่อที่จะป้องกันการเกิดภาวะทุพโภชนาการทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว แล้วร่างกายดึงโปรตีนมาใช้ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งหากเกิดภาวะดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย และอาจเกิดโรคแทรกซ้อน

โปรตีน
ช่วงแรกของการเกิดโรคผู้ป่วยควรได้รับโปรตีนเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพื่อให้ร่างกายมีโปรตีนเพียงพอที่จะไปซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งโปรตีนที่นักโภชนบำบัดแนะนำ ได้แก่ โปรตีนจากเนื้อปลา ไข่ไก่ เป็นต้น

ในผู้ป่วยมะเร็งตับหากมีอาการบวมน้ำที่มีสาเหตุมาจากการมีโปรตีนอัลบูมิน (albumin) ต่ำ ควรได้รับการเสริมอาหารประเภทโปรตีนโดยเฉพาะไข่ลวกที่เอาเฉพาะส่วนไข่ขาวมาใช้ เพราะในไข่ขาวจะมีโปรตีนอัลบูมินอยู่สูง คุณสมบัติของโปรตีนนี้จะช่วยอุ้มน้ำ ดังนั้นจึงสามารถทำให้อาการบวมน้ำดีขึ้นได้ อาจรับประทานไข่ขาวลวกวันละ 2 ฟอง เพื่อเพิ่มอัลบูมินแก่ร่างกาย

ในบางกรณีผู้ป่วยมีภาวะ Hepatic encephalopathy ร่วมด้วย คือ มีอาการทางระบบประสาทที่เป็นสาเหตุมาจากตับ ได้แก่ มึนงง เบลอ การควบคุมตนเองผิดปกติอาจถึงขั้นชักได้ การรับประทานโปรตีนจะได้รับในปริมาณมากไม่ได้ ควรต้องได้รับการดูแลและควบคุมเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโปรตีนที่ประกอบไปด้วยกรดอะมิโนชนิดวงแหวน ได้แก่ phenylalanine ซึ่งพบมากในเนื้อสัตว์ เป็นต้น ดังนั้นเนื้อสัตว์หรืออาหารที่เป็นแหล่งของโปรตีนอื่น ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนักกำหนดอาหารอย่างใกล้ชิด เพราะหากได้รับสารอาหารโปรตีนไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่อย่างไรก็ตามมิใช่ว่าผู้เป็นมะเร็งตับจะมีอาการดังกล่าวทุกราย ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับคำวินิจฉัยที่ถูกต้องเพื่อการดูแลตนเองที่ถูกต้อง


ไขมัน
ผู้ป่วยควรระวังการบริโภคไขมันเป็นพิเศษเพราะเมื่อมะเร็งเกิดขึ้นที่ตับทำให้การสร้างน้ำดีอาจจะมีน้อยลงหากรับประทานไขมันในปริมาณสูงเข้าไป ไขมันจะย่อยยากหรือไม่สามารถย่อยได้ ทำให้เกิดภาวะถ่ายเป็นหยดไขมัน (steatorrhea) แน่นท้อง ท้องอืด จากการที่มีไขมันคั่งค้าง จุลินทรีย์ในลำไส้จะเปลี่ยนไขมันเป็นแก๊ส ทำให้เกิดแก๊สในทางเดินอาหาร จึงเป็นสาเหตุของอาการท้องอืด แน่นท้อง ในบางกรณีแพทย์และนักกำหนดอาหารมักจะกำหนดไขมันสายปานกลาง หรือ MCT (medium chain triglyceride) ให้ผู้ป่วยทดแทนไขมันปกติ เพราะไขมันชนิดนี้ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงที่ตับก่อน โดยแพทย์หรือนักกำหนดอาหารจะเป็นผู้สั่งให้รับประทานในรูปแบบอาหารทางการแพทย์

ผัก
ผักใบเขียวทุกชนิดสามารถรับประทานได้ แต่หากมีอาการท้องอืดมาก ควรเลือกผักที่ไม่มีเส้นใยมากนัก และหลีกเลี่ยงผักที่ให้กลิ่นฉุน เช่น ต้นหอม คึ่นไช่ คะน้า เป็นต้น เพราะอาหารประเภทดังกล่าวจะประกอบไปด้วยสารกำมะถัน ก่อให้เกิดแก๊สในลำไส้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องอืดมากขึ้นกว่าเดิม

ผลไม้
ควรเลือกรับประทานผลไม้ที่ไม่มีเนื้อแข็งหรือมีเส้นใยมากจนเกิน เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล การรับประทานผลไม้ถ้าหากรับประทานในรูปแบบสดลำบากอาจจะได้รับในรูปแบบน้ำผลไม้ แต่ไม่ควรดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้ก่อนรับประทานอาหารในมื้อปกติ เพราะจะทำให้ท้องอืดเสียก่อน และทำให้ได้พลังงานน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน

ผู้ป่วยมะเร็งตับบางครั้งอาจมีการย่อยอาหารยาก แน่นท้อง ท้องอืดได้ง่าย ทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารในปริมาณเท่ากับคนปกติ ดังนั้นในการกำหนดอาหารให้ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว ควรกระจายมื้ออาหารจากปกติ 3 มื้อ เป็น 5-6 มื้อ เช่น จากเดิมรับประทานอาหาร 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น ก็เพิ่มเป็น เช้า ว่างเช้า กลางวัน ว่างบ่าย เย็น ก่อนนอน

นอกจากผู้ป่วยมะเร็งตับต้องได้รับอาหารให้พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย แล้วยังต้องปราศจากสิ่งปนเปื้อน เพราะหากได้รับสิ่งปนเปื้อนจะทำให้ตับต้องทำงานในการกำจัดสารพิษมากขึ้น อีกทั้งผู้ป่วยมะเร็งตับจะมีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะร่างกายเกิดขึ้นบ่อย ดังนั้นควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด และได้รับคำแนะนำทางด้านโภชนาการจากนักกำหนดอาหารเพื่อการดูแลตนเองที่ถูกต้อง

ที่มา
http://www.siamca.com/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=44

โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในสตรี โดยสาเหตุที่เกิดมีหลากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม อาหารที่มีไขมันสูง ฮอร์โมน ความอ้วนและกัมมันตภาพรังสี เป็นต้น โดยสตรีควรทำการตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือนเพื่อสำรวจความผิดปกติ ในปัจจุบันทางการแพทย์เชื่อว่ามะเร็งเต้านมไม่ใช่โรคเฉพาะที่ แต่เป็นโรคทั้งระบบของร่างกาย ดังนั้น การรักษาด้วยการผ่าตัดจึงไม่เพียงพอ อาจต้องได้รับเคมีบำบัด และยาต้านฮอร์โมนร่วมด้วย โดยการผ่าตัดจะมีทั้งแบบผ่าตัดเลาะเต้านมออกทั้งหมด และผ่าตัดบางส่วนในกรณีที่ก้อนเนื้อมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยสามารถเก็บรักษาเต้านมไว้ได้ แต่หลังผ่าตัดอาจต้องรับการฉายแสงเพื่อควบคุมส่วนที่เหลือ

ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่มักจะต้องได้รับการรักษาทั้งเคมีบำบัดและการฉายรังสี ดังนั้นผลข้างเคียงจึงมีมาก นอกจากนี้ ยังพบได้บ่อยที่มะเร็งเต้านมมักจะกลับมาเป็นซ้ำ เช่น เป็นข้างขวารักษาจนไม่พบมะเร็งแล้วแต่ต่อมาพบการกลับมาเป็นข้างซ้ายอีก เพราะฉะนั้นหากดูแลตนเองไม่ดีทั้งเรื่องของอาหารและการปฏิบัติตัว ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดมาเป็นซ้ำอีกได้สูง การดูแลน้ำหนักตัวถือเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม เนื่องจากเซลล์ไขมันสามารถส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจนได้

โภชนบำบัด
ข้าวแป้ง
รับประทานข้าวแป้งโดยได้รับคาร์โบไฮเดรต 50-55% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการทั้งหมดต่อวัน ควรรับประทานข้าวแป้งเป็นอาหารหลักทั้ง 3 มื้อ ในผู้ที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยควรได้รับข้าวอย่างน้อยมื้อละ 2-3 ทัพพี พบว่าการได้รับธัญพืช โดยเฉพาะธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น ช่วยให้ร่างกายได้รับโฟเลทซึ่งสามารถให้ผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็งได้

เนื้อสัตว์
เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูงควรหลีกเลี่ยง อีกทั้งเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการปิ้งย่างจนเกิดเขม่าควันควรหลีกเลี่ยง รวมไปถึงเนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง ควรหลีกเลี่ยง นอกจากนี้การรับประทานเต้าหู้หรือน้ำนมถั่วเหลืองวันละ 1 แก้วสามารถให้ผลดีต่อการป้องกันการเกิดมะเร็งและลดอัตราการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่รับประทานในปริมาณมากเกิน เพราะการได้รับถั่วเหลืองในปริมาณมากเกิน ก็สามารถส่งผลให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตขึ้นจากฤทธิ์ที่คล้ายคลึงกับฮอร์โมนเพศหญิงของถั่วเหลืองได้

ไขมัน
ควรได้รับไขมันวันละ 30% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน และไม่รับประทานไขมันอิ่มตัว รวมไปถึงอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันแฝง เช่น เบเกอร์รี่ ไอศกรีม เนื่องจากจะเสี่ยงต่อการได้รับพลังงานมากเกินทำให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุส่งเสริมการเกิดโรคมะเร็งได้ สำหรับไขมันชนิดไม่อิ่มตัว โอเมก้า-3 จะมีผลในการลดการเสี่ยงการเกิดมะเร็ง แต่บางงานวิจัยก็ไม่มีผล ดังนั้นการรับประทานไขมันจึงควรรับประทานแต่พอดี

ผัก
ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมหากได้รับผักเป็นปริมาณมาก จะดีกว่าการได้รับผลไม้ในปริมาณมาก เพราะในผลไม้จะมีน้ำตาลสูงทำให้เกิดไขมันสะสมได้ โดยหากรับประทานพวกผักใบเขียวจะไม่จำกัดจำนวนในการรับประทาน แต่ในผู้ป่วยบางกลุ่มที่ได้รับยาต้านฮอร์โมนกลุ่ม Tamoxifen ควรได้รับแครอทและดอกกะหล่ำเพิ่มบ้าง เพื่อลดอาการร้อนๆ หนาวๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างได้รับยา

ผลไม้
เลือกรับประทานผลไม้ที่ไม่มีรสหวานจัด และควรเลือกรับประทานผลไม้ที่มีเส้นใยสูง เช่น ฝรั่ง ชมพู่ ผลไม้ที่มีสีแดงสดและมีสีออกแดงหรือสีส้ม ที่สามารถรับประทานได้ทั้งเปลือกเพราะให้สาร flavonoid ลดการเกิดมะเร็งได้

ที่มา
http://www.siamca.com/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=45

อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอด

โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอด

มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยอีกชนิดหนึ่งในประเทศไทย สาเหตุยังไม่แน่ชัดแต่พบว่าการสูบบุหรี่ การทำงานใกล้เหมืองแร่ที่มีเส้นใยแอสเบสตอส การสูดดมควันจากการเผาไหม้ หรือโรคปอดโดยเฉพาะวัณโรค ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดทั้งสิ้น โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการไอ เสมหะมีเลือดปน หายใจเหนื่อยอ่อนเพลีย น้ำหนักลด

การรักษามีได้หลายวิธีมีทั้งการได้รับเคมีบำบัด ฉายแสง และการทำ Photodynamic therapy โดยการฉีดสารเคมีเข้าเส้นเลือด สารนั้นจะอยู่ที่เซลล์มะเร็งแล้วใช้เลเซอร์ฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยเซลล์มะเร็งปอดจะแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ชนิดแรก คือ Non small cell cancer เซลล์มะเร็งชนิดนี้จะพบได้บ่อยเซลล์จะโตช้า ชนิดที่สอง Small cell carcinoma พบน้อยแต่เซลล์ชนิดนี้จะแพร่กระจายได้เร็ว
ปอดเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องในการหายใจ ถือเป็นส่วนสำคัญมากของร่างกาย การหายใจแต่ละครั้งต้องใช้พลังงานในการหายใจ ซึ่งพลังงานเหล่านั้นก็มาจากอาหารนั่นเอง หากได้รับพลังงานไม่เหมาะสมทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะอ่อนล้า และทำให้ร่างกายอ่อนแอ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง ดังนั้น หลักโภชนาการที่ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าไปเสริมการรักษาได้

โภชนบำบัด
ข้าวแป้ง
ควรได้รับพลังงานจากข้าวแป้งเป็นหลัก ในกรณีที่เบื่ออาหารประเภทข้าวแป้ง สามารถเลือกใช้ขนมปังทดแทนได้ หากได้รับพวกข้าวไม่ขัดสีจะเป็นประโยชน์แก่ร่างกายอย่างมาก อาจคิดเป็นสัดส่วนโดยรับประทานคาร์โบไฮเดรต 60% ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน หากมีภาวะการหายใจลำบากร่วมด้วย ควรดูแลท่าทางในการรับประทานให้เหมาะสม คือ อยู่ในท่านั่งห้อยขา หลังตรง สบายๆ เพื่อให้อาหารเข้าสู่กระเพาะได้ง่าย อีกทั้งควรเตรียมลักษณะของคาร์โบไฮเดรตที่ไม่มีเนื้อสัมผัสหยาบเกินไป อาทิ ข้าวต้ม หรือน้ำหวานผสมให้ดื่ม หากผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ปกติแล้ว ก็สามารถรับประทานอาหารหมู่ข้าวแป้งได้เกือบทุกประเภท

เนื้อสัตว์
สามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้ทุกชนิด ยังไม่พบข้อห้ามในการจำกัดเนื้อสัตว์ในกลุ่มมะเร็งดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดีไขมันคงเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง ดังนั้นควรงดเนื้อสัตว์ที่มีไขมันมาก เช่น สะโพกไก่ หมู หรือปลาที่ไม่เกล็ดบางชนิด เช่นปลาสวาย วิตามินดีที่มีในเนื้อสัตว์พวกปลาเล็กปลาน้อย รวมไปถึงในน้ำนม สามารถทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดหลังการผ่าตัดสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ควรเลือกนมชนิดพร่องหรือขาดมันเนยเป็นหลัก

ไขมัน
ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มาจากน้ำมันทอดซ้ำ และการใช้น้ำมันในการปรุงประกอบที่มากเกินไป ควรรับประทานไขมันแต่เพียงพอดี ประมาณ 5 ช้อนชา ต่อวัน น้ำมันที่ใช้ปรุงประกอบอาหารควรจะเลือกใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำมันมะกอก และน้ำมันรำข้าว

ผัก
รับประทานผักได้ทุกชนิด โดยเฉพาะผักในตระกูล คะน้า กะหล่ำปลี และบร็อคโคลี ซึ่งมีงานวิจัยว่าเป็นผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็งปอด และหากได้รับสารเบต้าแคโรทีนในปริมาณที่พอเหมาะ สามารถช่วยควบคุมเซลล์มะเร็งปอดได้ แนะนำการรับประทานแครอทวันละ 2-3 หัวขนาดกลาง ไม่แนะนำการรับประทานเบต้าแคโรทีนในรูปแบบสังเคราะห์ทางเคมีเป็นเม็ดหรือแคปซูล แต่อย่างไรก็ดีการรับประทานผักควรเลือกซื้อผักปลอดสารพิษเป็นหลัก

ผลไม้
ผลไม้ที่มีสีส้ม แดง จะให้สารฟลาโวนอยด์ flavonoid ซึ่งสารชนิดนี้มีผลในการต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งผลไม้ยังเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นสารอาหารที่ผู้ป่วยมะเร็งปอดต้องการอีกด้วย


ที่มา
http://www.siamca.com/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=46

อาหารสำหรับคนป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก

บทนำ
มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับหนึ่งของสตรีไทย สาเหตุมักมาจากการติดเชื้อ Human papilloma virus หรือหูดหงอนไก่ ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นก็จะพัฒนาก่อการกลายพันธุ์ของเซลล์ให้เกิดเป็นเซลล์มะเร็งขึ้นมาได้ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งสตรีควรได้รับการตรวจเพื่อสืบค้นหามะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี เมื่ออายุ 30 ปี ขึ้นไป ซึ่งหากพบว่าเป็นในระยะเริ่มแรกก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการรักษาจะมีทั้งการผ่าตัด ฉายแสง และการฝังแร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา

ผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับการผ่าตัด ฉายแสง รวมไปถึงเคมีบำบัดมักจะส่งผลให้การบริโภคอาหารเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการมากขึ้น ซึ่งหากเกิดอย่างต่อเนื่องและไม่ได้รับการดูแลรักษาแล้ว จะทำให้เกิดภาวะซีด เม็ดเลือดต่ำ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และมีผลต่อภาวะทางอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วย ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มมากขึ้น การดำเนินของโรคแย่ลง อาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลผู้ป่วย หากส่งเสริมโภชนาการที่ดีและถูกต้องจะทำให้อาการข้างเคียงจากการรักษาลดน้อยลง และช่วยยืดอายุของผู้ป่วยได้ยาวนานขึ้น รวมถึงป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีกด้วย

โภชนบำบัด
ข้าวแป้ง
ผู้ป่วยสามารถรับประทานข้าวแป้งได้ตามปกติ ควรได้รับคาร์โบไฮเดรต 55% ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน โดยแบ่งรับประทานให้ครบทุกมื้อ อาจเน้นไปที่ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืช ขนมปัง บางมื้อที่เบื่อรับประทานข้าวอาจเปลี่ยนเป็นขนมปัง โดยขนมปัง 1 แผ่นจะให้พลังงานเทียบเท่ากับข้าว 1 ทัพพี หรืออาจเปลี่ยนเป็นก๋วยเตี๋ยว หรือวุ้นเส้นก็สามารถเลือกทดแทนข้าวได้เช่นเดียวกัน

เนื้อสัตว์
กลุ่มเนื้อสัตว์เป็นกลุ่มที่ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเนื้อสัตว์มักมีไขมันมากเกินไป และมักจะอยู่ในรูปของไขมันแฝง ควรจะเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป โดยใน 1 วัน ควรได้รับโปรตีนประมาณ 1.5 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น ผู้ป่วยหนัก 50 กิโลกรัมควรได้รับโปรตีน 75 กรัม ต่อวัน เป็นต้น
กลุ่มเนื้อสัตว์ที่รับประทานได้ คือ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ ได้แก่ เนื้อปลา, สันในไก่, อกไก่ เป็นต้น
กลุ่มเนื้อสัตว์ที่ควรหลีกเลี่ยง คือ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง ได้แก่ หมูบด, เนื้อสะโพก, ไส้กรอก เป็นต้น

ไขมัน
ควรลดการบริโภคไขมันให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่คงไม่ถึงกับต้องงดรับประทานไขมันทุกชนิดไปเลย ควรได้รับไขมัน 15-20% ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน งดเว้นน้ำมันทอดซ้ำเนื่องจากอาหารเหล่านี้จะมี Polyaromatic hydrocarbon (PAH) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและอนุมูลอิสระจำนวนมาก

ผลไม้
ควรเลือกชนิดมีเส้นใยสูง เช่น พวกแอปเปิ้ล ฝรั่ง มะละกอ เป็นต้น และควรเลือกรับประทานผลไม้ที่มีสีสดเพื่อให้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระที่พอเพียง แต่อาจพบได้ในบางกรณีที่รับประทานผลไม้แล้วเกิดอาการท้องอืด ถ่ายลำบาก ซึ่งหากผู้ป่วยรับประทานผลไม้แล้วรู้สึกเช่นนี้ แสดงว่าผู้ป่วยดื่มน้ำน้อยเกินไปทำให้ใยอาหารดูดซึมสารหล่อลื่นในลำไส้แทน ดังนั้นเมื่อรับประทานเส้นใยสูงก็ควรดื่มน้ำให้มากขึ้นด้วย


ผัก
สามารถรับประทานผักเส้นใยสูงได้เกือบทุกชนิด โดยคนเราต้องการอาหารเส้นใยมากถึงวันละ 20 กรัม เส้นใยมีประโยชน์ในการไปจับกับสารก่อมะเร็ง carcinogen แล้วขับออกทางอุจจาระได้ ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีภาวะท้องอืดร่วมด้วยอาจต้องลดการรับประทานผักลง


ที่มา
http://www.siamca.com/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=47

อาหารสำหรับคนป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

บทนำ
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เปลี่ยนแปลง และเจริญเติบโตผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมได้ สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าผู้สูงอายุและผู้มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งจะมีอัตราเสี่ยงมากกว่าคนปกติ หรือผู้ที่มีภาวะโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง และผู้ที่รับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น อาการโดยส่วนใหญ่ของมะเร็งลำไส้จะมีท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระมีเลือดสด อุจจาระมีขนาดเล็กลง มีอาการจุกเสียดแน่นบ่อยครั้ง อ่อนเพลียและน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ การรักษามีทั้งการเคมีบำบัด ฉายรังสี และการผ่าตัด พิจารณาเป็นกรณีไปโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
เนื่องจากลำไส้เป็นอวัยวะสำคัญในระบบทางเดินอาหาร ดังนั้นต้องดูแลเรื่องอาหารเป็นพิเศษ การรักษาที่ถูกต้องร่วมกับโภชนบำบัดที่ถูกหลัก สามารถลดการแพร่กระจายและอาการทรมานจากมะเร็งได้

โภชนบำบัด
ข้าวแป้ง
ยังคงต้องสารอาหารชนิดนี้เป็นหลัก ได้แก่ พวกข้าว แป้ง ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น ควรเลือกชนิดที่เป็นพวกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเป็นหลัก พวกที่มีใยอาหารมาก อาทิ ข้าวกล้อง ยิ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วย เนื่องจากกลุ่มใยอาหารจะทำหน้าที่ในการดูดซับสารก่อมะเร็งและน้ำดีแล้วขับออกจากร่างกาย ดังนั้นการได้รับใยอาหารที่พอเหมาะ จะช่วยลดโอกาสการรับสารก่อมะเร็ง (carcinogen) ของร่างกายได้ (ควรได้รับใยอาหารไม่ต่ำกว่าวันละ 25 กรัมต่อวัน)
สำหรับผู้ที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้อาจเกิดอาการ Dumping s’ Syndrome มีอาการแน่นไม่สบายท้อง ไม่ควรรับคาร์โบไฮเดรตครั้งละมาก ๆ ควรรับประทานทีละน้อย และจัดท่านั่งรับประทานแบบกึ่งนั่งกึ่งนอนเพื่อลดอาการดังกล่าว

โปรตีน
ผู้ป่วยควรได้รับโปรตีนวันละ 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาหารในกลุ่มที่ให้โปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ และถั่วต่างๆ พบว่าไข่และเนื้อสัตว์เป็นแหล่งของโปรตีนที่ให้กรดอะมิโนครบถ้วนที่สุด ส่วนถั่วอาจจะให้กรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายต้องการไม่ครบ มักจะขาดกรดอะมิโนจำเป็นชื่อว่า methionine ดังนั้น หากไม่รับประทานเนื้อสัตว์เลยแล้วรับประทานแต่ธัญพืชแทน ควรรับประทานถั่วเหลืองร่วมด้วย เนื่องจากถั่วเหลืองให้กรดอะมิโนจำเป็นครบทุกชนิด แต่หากยังรับประทานเนื้อสัตว์อยู่ ควรเลือกชนิดที่ไม่ติดมันเป็นหลัก หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เพราะอาหารแปรรูปเหล่านี้มักใส่สารไนไตรท์ ไนเตรต รวมไปถึงไขมันจำนวนมาก ทำให้กระตุ้นการเกิดมะเร็งมากขึ้น

ไขมัน
โดยทั่วไปแล้วอาหารประเภทไขมันควรระวังไม่รับประทานมากแม้ในคนปกติ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ยิ่งจำเป็นต้องดูแลเรื่องของไขมัน ควรเลือกใช้ไขมันที่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว พบว่าไขมันในกลุ่มโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ให้ผลดีในผู้ป่วยมะเร็ง กรดไขมันดังกล่าวพบในพวกของน้ำมันปลา ซึ่งการรับประทานเนื้อปลาทะเลจะได้รับไขมันประเภทดังกล่าวอยู่แล้ว ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินเสริม เพราะหากรับประทานน้ำมันสกัดยิ่งทำให้ร่างกายได้รับน้ำมันเกินความจำเป็น อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี แต่ในคนปกติสามารถรับประทานได้
อย่างไรก็ดี ยังมีไขมันอีกประเภทที่ควรระมัดระวัง คือ ไขมันที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่ว่าจะเป็นการปิ้งย่างหรือการทอดน้ำมันซ้ำ ล้วนแต่ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งได้ และเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะสัมผัสกับลำไส้โดยตรง เสี่ยงต่อการทำให้โรคเป็นมากขึ้น หรือในคนปกติก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นมะเร็งได้

ผักและผลไม้
การได้รับเส้นใยอาหารจากผักและผลไม้มากเป็นสิ่งที่ดี ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคดำเนินมากแล้ว ควรลดปริมาณลงตามความเหมาะสม เนื่องจากบางภาวะที่ระบบย่อยอาหารของผู้ป่วยเริ่มแปรปรวน การได้รับใยอาหารมากอาจส่งผลให้เกิดอาการแน่นท้องและท้องอืดได้ ควรให้ผู้ป่วยรับใยอาหารทีละน้อยแล้วสังเกตอาการ ผักบางชนิดยิ่งทำให้ท้องอืด โดยเฉพาะผักที่มีกลิ่นฉุนเพราะมีสารพวกกำมะถันอยู่มาก เช่น ต้นหอม หัวหอมใหญ่ ดังนั้น หากมีอาการท้องอืดอยู่แล้วควรหลีกเลี่ยง
นอกจากนี้ ยังมีรายงานการวิจัยหลายงานวิจัยที่พบอาหาร มีผลดีต่อการป้องกันและต่อต้านมะเร็งลำไส้ โดยเฉพาะพืชตระกูลกะหล่ำ เพราะมีสาร Isothiocyanate ซึ่งให้ผลดีในการควบคุมมะเร็ง การรับประทานควรล้างให้สะอาด เพราะแม้ผักชนิดนี้จะมีสารพฤษเคมีที่เป็นประโยชน์มากก็จริง แต่ก็เป็นแหล่งตกค้างของสารฆ่าแมลงมากเช่นกัน
กรณีการผ่าตัดลำไส้ออกบางส่วน ทำให้ระบบย่อยอาหารได้รับความเสียหายบ้างในช่วงแรก ควรรับประทานอาหารเหลวที่มีพลังงานสูง เพื่อให้ร่างกายดูดซึมไปใช้ได้ง่ายขึ้น ไม่ควรรับประทานผักและผลไม้มากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดลมในช่องท้องได้
สำหรับผลไม้สามารถรับประทานได้ทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ที่มีเส้นใยสูง เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล ยกเว้นกรณีเพิ่งได้รับการผ่าตัดควรเลือกชนิดที่ย่อยง่าย เช่น มะละกอสุก ส้ม แก้วมังกร เป็นต้น และหลังจากการรับประทานผลไม้เส้นใยสูงแล้ว ควรเพิ่มการดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อป้องกันการอุดตันของลำไส้จากเส้นใยอาหาร


อื่นๆ
พบว่าการได้รับแคลเซียมเสริมจะสามารถป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งในลำไส้ได้ นอกจากนั้นยังมีรายงานของการเสริมโฟเลทก็สามารถช่วยลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ด้วย ซึ่งสารอาหารทั้งสองชนิดพบมากในนม ดังนั้นการดื่มนมช่วยเสริมสร้างสารดังกล่าวได้ แต่ควรเลือกชนิดพร่องมันเนย

ที่มา
http://www.siamca.com/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=49

อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว

มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือ Leukemia หมายถึง ภาวะที่ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดชนิดใดชนิดหนึ่งมากกว่าปกติหลายเท่า ยังผลให้เซลล์เม็ดเลือดชนิดอื่นๆ ถูกสร้างลดน้อยลง สาเหตุการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ การได้รับสารเคมีบางชนิด หรือการติดเชื้อไวรัส เป็นต้น อาการที่บ่งบอกว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว คือ เลือดจาง ซีด หน้ามืด เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย เลือดออกง่ายบริเวณผิวหนัง เหงือกเป็นจ้ำ ตามตัวอาจพบต่อมน้ำเหลืองโต ติดเชื้อง่าย เป็นไข้บ่อยๆ และอาจพบก้อนในท้องเนื่องจากตับ ม้ามโต ด้วย

มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบ่งเป็นสองชนิดคือ Acute leukemia จะเกิดขึ้นเฉียบพลัน เกิดรอยจ้ำขึ้นตามตัว เม็ดเลือดแดงต่ำ ภายในระยะเวลา 1 เดือน ชนิดที่สอง Chronic leukemia เกิดจากเซลล์ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดขาวโครงสร้างผิดปกติ ทำให้อายุของเม็ดเลือดขาวยืนนานกว่าปกติ แต่เม็ดเลือดขาวในชนิดนี้ยังพอทำงานได้บ้าง ผู้ป่วยมักจะมีอาการซีดร่วมด้วย แต่ก็ไม่รุนแรงเท่าชนิดแรก การรักษามีทั้งใช้เคมีบำบัด รังสีรักษาและการใช้การปลูกถ่ายไขกระดูก

เนื่องจากโรคมะเร็งชนิดนี้เกี่ยวข้องกับเม็ดเลือดทำให้การได้รับอาหารไม่ดี อาจส่งผลต่อการสร้างเม็ดเลือดที่แย่ลงและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

โภชนบำบัด
ข้าวแป้ง
รับประทานได้ตามปกติโดยควรรับประทานอย่างน้อยมื้อละ 2-3 ทัพพี แต่ถ้าหากได้รับรังสีรักษาหรือเคมีบำบัดแล้วเกิดอาการไม่อยากอาหาร สามารถให้ขนมปังหรือแครกเกอร์(ขนมปังกรอบ) แทนข้าวได้ หรืออาจจะลดส่วนข้าวลงแล้วเพิ่มน้ำผลไม้ให้ผู้ป่วยแทน แต่น้ำผลไม้ที่เลือกใช้ควรผ่านการพลาสเจอไรซ์เป็นอย่างดีเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น น้ำส้ม พลาสเจอร์ไรซ์บรรจุกล่อง น้ำผักผลไม้รวมชนิดกล่อง เป็นต้น

เนื้อสัตว์
ควรได้รับโปรตีน 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยเน้นโปรตีนจากเนื้อสัตว์คุณภาพดีไม่ติดมันมากจนเกินไป สามารถรับประทานได้ทุกชนิด หากรับประทานเป็นไก่ก็ควรเลือกเฉพาะเนื้อหน้าอกไม่เอาหนัง และควรรับประทานไข่ไก่สัปดาห์ละ 2-3 ฟอง หรือดื่มนมพร่องมันเนย

ไขมัน
ยังสามารถรับประทานได้ แต่ไม่แนะนำให้รับประทานมาก และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีการใช้น้ำมันทอดซ้ำๆ

ผัก
ผักใบเขียวต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง และควรได้รับผักที่ปรุงสุกแล้ว เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้ สัดส่วนของผักจะไม่จำกัดปริมาณสามารถรับประทานได้ตามต้องการ ผักที่มีสี เช่น มะเขือเทศ แครอท สามารถลดการก่อตัวของเซลล์มะเร็งได้

ผลไม้
สามารถรับประทานได้ทุกชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่เป็นแหล่งของวิตามินซี เช่น ฝรั่ง ส้ม เป็นต้น นอกจากผลไม้รูปแบบสดยังสามารถรับประทานผลไม้รูปแบบน้ำผลไม้ได้อีกด้วย ข้อควรระวังผลไม้ควรล้างให้สะอาด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค เพราะผู้ป่วยโรคนี้มักจะติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติ ผลไม้ประเภทแอปเปิ้ลควรรับประทานเป็นประจำ เพราะมีสาร flavonoid ลดการเกิดมะเร็งได้ และยังมีงานวิจัยถึงการได้รับผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ร่วมกับผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงจะสามารถลดการเกิดความรุนแรงของลูคิเมียได้

ที่มา
http://www.siamca.com/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=48

สู้ไม่ถอยกับมะเร็งปอด( มะเร็งปอด)

สู้ไม่ถอยกับมะเร็งปอด( มะเร็งปอด)
โดย สมพร หมู่มิ่ง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า"มะเร็ง" คือโรคร้ายที่ทุกคนกลัว ไม่อยากประสบพบเจอ และไม่อยาก.........แม้แต่จะนึกถึง ทุกวันนี้แทบทุกคนมีผู้คนรอบข้างป่วยด้วยโรคนี้แทบทั้งสิ้น แม้การแพทย์แผนปัจจุบันจะสามารถควบคุมรักษา และเยียวยาผู้ป่วยได้ดีขึ้น แต่ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งก็กลับเพิ่มมากขึ้นไปด้วยเช่นกัน

ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่จะผ่านพ้นการรักษาด้วยรูปแบบต่างๆ บางครั้งต้องทรมานแสนสาหัส เจ็บเจียนตาย แต่เมื่อหายแล้วก็ไม่อยากกลับมาเป็นซ้ำอีก ทุกคนรู้ดีว่า มะเร็ง มักไม่ให้โอกาสกับคนที่กลับมาเป็นซ้ำสอง

ดิฉันเป็นอดีตข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาด้านบัญชีจากมหาวิทยาลัยแถวหน้าของประเทศ เป็นผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่ผ่านการเป็นมะเร็งปอด แม้จะดูเป็นโรคที่รักษายาก ไม่รู้อนาคตข้างหน้า แต่ดิฉันก็พร้อมยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

เมื่อ 5 ปีก่อน ร่างกายก็ปกติแทบทุกอย่าง แต่พอดีบ้านดิฉันอยู่ใกล้โรงพยาบาล เลยลองไปตรวจร่างกายดู เมื่อเอ็กซเรย์ปอดพบว่าเป็นจุด ก็เลยไปตรวจละเอียดจึงพบว่าเป็นก้อนเล็กๆ ที่ปอดด้านขวา หลังจากนั้นก็ได้ทราบว่าเป็นเนื้อร้าย จึงเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยการตัดชายปอดออกไปส่วนหนึ่งราว 20% ทำคีโมอีก 4 ครั้ง และฉายแสงอีกหลายครั้ง ด้วยวัยประมาณ 72 ในตอนนั้น ก็แทบไม่น่าเชื่อว่า ดิฉันจะผ่านพ้นช่วงวิกฤตสุขภาพจนได้มานั่งเล่าประสบการณ์ให้ทุกคนฟังได้อย่างวันนี้

หลังจากรักษาได้พยายามบำรุงร่างกายให้กลับมาเป็นปกติดังเดิม ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ปลา และเข้าครัวปรุงอาหารด้วยตัวเอง เพื่อให้มั่นใจว่าใหม่ สด สะอาด และทำมาเองโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้ ส่วนอาหารประเภทเนื้อสัตว์อื่น เช่น เนื้อหมู อาหารทะเล ก็รับประทานบ้างแต่ไม่มากนัก

นอกจากนั้นเพื่อเสริมความแข็งแรงและฟื้นฟูร่างกาย ดิฉันได้เลือกใช้ยาน้ำเทียนเซียน หลังจากมีแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐบาลชื่อดังแห่งหนึ่งได้แนะนำ ทำให้ดิฉันใช้มาตลอดเป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้ว ดิฉันว่ายาจีนช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรงดีมาก ชนิดที่ว่าสำหรับดิฉันแล้ว บางทีไม่ได้ทานอาหารอย่างอื่นก็อยู่ได้ มีแรง บางครั้งที่มีปัญหาทานอาหารอะไรไม่ได้เลย ก็ได้ยาน้ำเทียนเซียนนี่แหละช่วยได้มาก

ตอนนี้ด้วยวัยเกือบ 80 ปี แม้บางวันอาจมีเรื่องเครียดหรือเหงาบ้างตามประสาผู้สูงอายุ แต่ดิฉันเชื่อว่าต้องพยายามหาอะไรทำให้ไม่เครียด และต้องทำหน้าที่ในบทบาทของตัวเองให้ดีที่สุด ต้องรู้ตัวว่าทำอะไรอยู่และต้องเตรียมตัวสำหรับวันข้างหน้า

ที่จริงแล้วคนเราไม่อยากคิดเรื่องความตาย สำหรับดิฉันเมื่อสูงวัยแล้ว คิดว่าควรเตรียมพร้อมสำหรับวันข้างหน้าอย่างไรมากกว่า ตอนนี้ก็คิดจะทำหนังสือรวบรวมเมนูอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง อาหารตามกรุ๊ปเลือด แต่ก็คงต้องใช้เวลาและมีผู้ช่วย คงจะทำไปเรื่อยๆ แบบสบายๆ คือมีเวลาแค่ไหนเราก็ทำแค่นั้น ดิฉันไม่อยากพูดว่าหนังสือนี้อาจจะทำไว้เพื่อแจกในงานศพเรา แต่ทุกคนต้องมีวันนั้น ถ้าเราเตรียมพร้อม เรามีหนังสือแบบนี้ไว้แจก เชื่อว่าจะช่วยให้ความรู้และช่วยเหลือคนอื่นได้อีกมาก

เวลากว่า 5 ปีที่ผ่านไปจากการรักษารอบแรก แม้ผลการตรวจล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ จะมีก้อนเนื้อขนาดเล็กเกิดขึ้นมาบริเวณเดิมอีกครั้ง แต่ดิฉันก็พร้อมรับมือต่อสู้กับโรค

คราวนี้ผ่าตัดอีกรอบ แผลเล็กนิดเดียว เท่าเมล็ดน้อยหน่า รอบนี้ผ่าไปแล้วเกิดผลข้างเคียงคือหายใจไม่ออก ปอดตีบ ติดเชื้อ ต้องเข้าไปอยู่ในไอซียู 5 วัน ผ่านพ้นความตายมาแบบเฉียดฉิว เพราะหยุดหายใจไปแล้ว น้ำหนักก็ลดไปเยอะ แต่ก็ทานยาน้ำเทียนเซียนก็ช่วยฟื้นฟูได้เยอะ

ทุกวันนี้ดิฉันหายเป็นปกติกลับมาอยู่บ้าน พร้อมกับทำกิจวัตรประจำวันเป็นปกติ อาจจะดูข่าว ฟังวิทยุ ดิฉันให้ความสนใจกับข่าวสารบ้านเมือง และเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ ติดตามอ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับ โดยเฉพาะบทความด้านสุขภาพที่มีประโยชน์

ถ้าหากจะให้แนะนำถึงข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง อยากบอกว่าตัวดิฉันมีหลักที่คิดเอง อาจจะถูกหรือไม่ก็ได้ ต้องใช้วิจารณญาณและความเหมาะสมของแต่ละบุคคล โดยดิฉันเชื่อว่าการรับประทานอาหารควรให้ถูกหลัก ควรกินอยู่แต่พอดีแค่ให้เรามีชีวิตอยู่ได้ เพราะหากเราอ้วนท้วนมะเร็งก็อ้วนไปด้วย

ในอดีตดิฉันเคยอ้วนท้วนสมบูรณ์มาก ไม่เคยคิดเลยว่าจะป่วยเป็นอะไรได้ แต่ด้วยการรับประทานอาหารและความเป็นอยู่เช่นนั้น อาจทำให้ภูมิต้านทานต่ำ จนพบเจอก้อนเนื้อร้ายขนาดถึง 3 เซนติเมตร ต้องผ่านการรักษามากมาย

จากวันนั้นดิฉันจึงปรับเปลี่ยนความเป็นอยู่ใหม่ โดยเลือกแนวทางแบบบูรณาการที่ควบคู่ไปทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและยาน้ำเทียนเซียน การดูแลด้านโภชนาการที่ดี และเรื่องสภาพจิตใจ พร้อมให้คำแนะนำกับคนทั่วไปว่า ต้องตรวจร่างกายบ้าง และต้องรักษาเร็ว เพราะโรคนี้จะไม่รู้ตัวจนกว่าอาการจะเกิดขึ้นเยอะมากแล้ว ดิฉันมีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งปกติดีทุกอย่าง พอรู้ว่าป่วยเป็นมะเร็งก็ทรุดหนักเร็วมาก น้ำหนักลดไป 10 กิโลกรัม ผอมติดกระดูกจนเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้

หลังการเสียชีวิตของเพื่อนสนิท จนยากจะทำใจ แต่ดิฉันก็พร้อมที่จะเป็นอีกคนที่ทำประโยชน์ให้สังคม หนังสือที่เตรียมจะทำออกมา หวังเป็นวิทยาทานให้ประโยชน์กับอีกหลายๆ คนในวันข้างหน้า และ ณ วันนี้ดิฉันก็ยังพร้อมที่จะฝ่าฟันโรค ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตด้วยตัวเอง

ที่มา
http://www.siamca.com/index.php?name=person&file=readknowledge&id=133

บอกเล่าข่าวต่อ เพื่อเป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ

ประสบการณ์..

ปรับชีวิตพิชิตมะเร็ง (มะเร็งมดลูก)
โดย ชูศรี กุลวัฒโฑ

มะเร็ง...เปรียบเสมือนเพชฌฆาตเงียบที่น่าสะพรึงกลัวอันดับหนึ่งของมวลมนุษยชาติ เพราะมะเร็งสามารถจะคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกอย่างเงียบงัน โดยปราศจากความเมตตามาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน และยังจะรุกรานต่อไปอีกโดยไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมีผู้ค้นพบนวัตกรรมใหม่บำบัดรักษา และยับยั้งการขยายตัวของโรคมะเร็งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ของร่างกายมนุษย์

ปัจจุบันผู้คนส่วนมากยังมีความเชื่อว่าโรคมะเร็งเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยเป็นมะเร็งแล้วจะต้องนอนรอวันตายอย่างเดียว ขณะเดียวกันปรากฏว่ายังมีผู้ป่วยมะเร็งจำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมพ่ายแพ้ ไม่ท้อแท้สิ้นหวัง ตั้งสติกำลังยืนหยัดกัดฟันสู้กับโรคร้ายทุกวิถีทางอย่างกล้าหาญอดทน

ความร้ายกาจอย่างหนึ่งของโรคมะเร็งคือ ไม่แสดงอาการให้ผู้ป่วยรู้ตัวตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่เกิดโรค ผู้ป่วยส่วนมากกว่าจะรู้ตัวอย่างชัดแจ้ง ก็ปรากฏว่าเจ้าเซลล์เนื้อร้ายนั้นได้ลุกลามแตกกระจายขยายตัวไปจนเป็นต่อร่างกายมากเสียแล้ว บางคนที่โชคร้ายมากเมื่อตรวจพบก็ปรากฏว่าเป็นมะเร็งขั้นสุดท้ายแล้ว

สำหรับดิฉัน ย้อนหลังไปประมาณปี 2006 ได้สังเกตเห็นความผิดปกติของร่างกายคือ มีเลือดออกจากช่องคลอดเล็กน้อยทั้งที่หมดประจำเดือนมาแล้วร่วม 20 ปี เพราะปัจจุบันอายุเกือบ 80 แล้ว (เกิดปี 1934) ไม่มีครอบครัว โดยไม่นิ่งนอนใจ จึงตัดสินใจไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจภายในทันที ผลการตรวจครั้งแรกคุณหมอได้วินิจฉัยว่า ผู้สูงอายุส่วนมากเนื้อเยื่อในมดลูกจะบอบบางอาจเกิดบาดแผลได้ง่าย จึงให้ครีมมาทา เพื่อให้เนื้อเยื่อนั้นแข็งแรงขึ้น ซึ่งก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัดประมาณหนึ่งเดือนยาหมด

แต่ปรากฏว่ามีเลือดออกเหมือนเดิมอาการผิดปกติอื่นไม่มี จึงได้พบคุณหมอท่านเดิมตรวจเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งคุณหมอให้การรักษาเหมือนเดิมและให้กำลังใจว่า ทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้น ดิฉันได้ปฏิบัติตามจนเวลาล่วงเลยไปเกือบ 2 เดือนแล้ว อาการเลือดออกยังคงเดิม จึงเริ่มไม่สบายใจอยากทราบสาเหตุของความผิดปกติโดยเร็ว จึงตัดสินใจไปพบคุณหมออีกท่านหนึ่งที่โรงพยาบาลเดิม ผลการตรวจและรักษาก็เป็นเช่นเดิมอีก จนเวลาได้ผ่านไป 3 เดือนกว่า อาการเลือดออกจากช่องคลอดไม่ดีขึ้นเลย ความวิตกกังวลใจเริ่มมากขึ้น พยายามที่จะหาคำตอบเกี่ยวกับความผิดปกติในร่างกายให้ได้ จึงได้ตัดสินใจไปตรวจครั้งที่ 4 โดยเลือกพบแพทย์หญิงท่านหนึ่งที่โรงพยาบาลเดิม ครั้งนี้มีการตรวจอย่างละเอียดและชัดเจนขึ้นโดยคุณหมอนัดให้ไปทำการขูดมดลูก เพื่อจะนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา และรอฟังผลการตรวจภายหลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์

เมื่อถึงวันนัดฟังผล คุณหมอได้รายงานผลการตรวจให้ทราบว่า พบมะเร็งในมดลูก โดยจะต้องได้รับการตรวจอย่างละเอียดตามขั้นตอนต่อไป เพื่อวางแผนการบำบัดรักษาตามอาการของโรคให้ดีที่สุดโดยเร็ว ข้าพเจ้ารู้สึกตกใจชั่วขณะหนึ่ง ถามตัวเองในใจว่า เราเป็นมะเร็งจริงหรือ? ซึ่งคุณหมอได้เรียกญาติให้ไปรับทราบด้วย และนัดให้ไปติดต่อพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรคเพิ่มเติมโดยละเอียด เพื่อประเมินสุขภาพและหาระยะโรค ตลอดจนวางแผนการบำบัดรักษาที่ดีที่สุดต่อไป...

หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ได้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทำการตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียดถี่ถ้วน และแจ้งให้ทราบว่าจะต้องทำการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออก นำชิ้นเนื้อร้ายไปตรวจสอบทางพยาธิวิทยา เพื่อให้ทราบถึงระยะของโรคและวางแผนการบำบัดรักษา ว่าจะมีการรักษาร่วมอื่นๆ เช่น รังสีรักษา และ/หรือ ใส่แร่ และ/หรือ เคมีบำบัด อย่างไรหรือไม่? โดยให้รอวันผ่าตัดใหญ่ต่อไป

การดำเนินการผ่าตัดเป็นไปด้วยดี ไม่มีการแพ้ยา และ/หรือ อาการแทรกซ้อนใดๆ ผลการตรวจชิ้นเนื้อต่างๆนั้นปรากฏว่า... เป็นมะเร็งที่เยื่อมดลูก ระยะที่ 3!! วิธีการรักษาจะต้องทำการให้รังสีรักษาจำนวน 25 ครั้ง ติดต่อกัน เว้นวันเสาร์และอาทิตย์ และใส่แร่ร่วมด้วย 3 ครั้ง โดยไม่มีการให้เคมีบำบัด นับว่าโชคดีมากที่ไม่ต้องผจญกับความทรมานในการให้คีโม และการไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการรักษา จึงเป็นผลให้แผลจากการผ่าตัดหายเป็นปกติโดยเร็ว ส่วนการรับรังสีและการใส่แร่ก็เป็นไปด้วยดี ไม่มีอาการแทรกซ้อน และ/หรือ เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ ปรากฏเพียงอาการท้องเสียและปัสสาวะลำบากเล็กน้อยเท่านั้น

ช่วงเวลาของการพักฟื้นร่างกาย เพื่อฟื้นฟูสุขภาพกาย-ใจ และสร้างภูมิคุ้มกัน รวมทั้งภูมิต้านทานร่างกายให้ดีขึ้นนั้น อาหารเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งที่จะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ดังนั้นจึงเสาะแสวงหาตำราอาหารต้านมะเร็งมาศึกษามากมาย และพบหนังสือของชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งชื่อ “ต้านมะเร็ง...ด้วยอาหาร” ซึ่งได้ขายควบคู่กับหนังสือ “100เรื่องจริงของผู้ป่วยที่พิชิตโรคมะเร็ง”

หนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าวเปรียบเสมือนดวงประทีปที่มาช่วยส่องแสงให้ผู้ติดอยู่ในอุโมงค์มืด ได้แลเห็นเส้นทางสว่างที่เดินออกจากมุมมืดที่น่ากลัวได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ! การที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะเหตุว่าใน หนังสือ “100 เรื่องจริงของผู้ป่วยที่พิชิตโรคมะเร็ง” นั้นได้มีการเขียนถึงยาสมุนไพรจีน “ยาน้ำเทียนเซียน” ซึ่งนายแพทย์หวาง เจิ้น กั๋ว เป็นผู้ค้นคว้าและวิจัยมาเป็นเวลายาวนาน จนเป็นที่ยอมรับจากสถาบันวิจัยหลายแห่ง ซึ่งเป็นที่นิยมและรู้จักของผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนมาก ประการสำคัญ คือ สามารถประสานการรักษาร่วมกับการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันได้เป็นอย่างดี จึงตัดสินใจใช้ทันที โดยการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันก็คงดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามปกติต่อไป

หลังจากนั้นได้พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตอย่างมีระเบียบวินัย ทั้งด้านการกิน การนอน การออกกำลังกาย การพักผ่อนและการปฏิบัติธรรม เป็นต้น เมื่อเวลาผ่านไปเดือนเศษเริ่มรู้สึกว่า สุขภาพโดยรวมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ ผลการตรวจเลือด ปรากฏว่าอาการตับอักเสบที่ทำการรักษามานานนับสิบปีนั้น มีค่าทำงานของตับดีขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ตับสามารถทำงานได้ดีเป็นปกติ ส่วนด้านการรักษาโรคมะเร็งโดยรวมก็ดีไม่มีอะไรผิดปกติเช่นกัน จึงมีความเชื่อมั่นว่ายาน้ำเทียนเซียนน่าจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งที่มาช่วยสนับสนุนการรักษา ให้สามารถเสริมสร้างภูมิต้านทานและเพิ่มสมรรถนะการต้านมะเร็ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์

โดยปรากฏว่า แพทย์แผนปัจจุบันที่ให้การดูแลรักษาทุกท่าน ทั้งแพทย์ผู้ผ่าตัด แพทย์ผู้ให้รังสีและฝังแร่ตลอดจนแพทย์ผู้ดูแลรักษาโรคตับอักเสบ ต่างมีความพอใจในผลการรักษาเพราะสุขภาพโดยรวมที่ดีขึ้นเป็นลำดับ แพทย์จึงได้กำหนดนัดตรวจห่างขึ้นจากเดือนละครั้งเป็น 2 เดือน, 3 เดือน และ 4 เดือน

ปัจจุบันนี้ดิฉันยังคงดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องมาตลอด เสริมสร้างพลังกายและพลังใจที่จะยืนหยัดต่อสู้กับเพชฌฆาตเงียบ คือ มะเร็งร้ายต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ไม่สิ้นหวัง ทั้งนี้ โรคมะเร็งร้ายจะหายหรือไม่หาย..ไม่สำคัญ ขอเพียงให้ปัจจุบันมีความสุขมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีกำลังใจดีอยู่อย่างมีสติก็พอใจที่สุดแล้ว


ที่มา
http://www.siamca.com/index.php?name=person&file=readknowledge&id=131

นำมาบอกกล่าว เล่าต่อ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยทุกท่านครับ ใจเราสำคัญที่สุดครับผม สู้ๆ

มะเร็งผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

มะเร็งผ่านมาแล้วก็ผ่านไป (มะเร็งลำใส้)
โดย กาญจนา จันทรังสี

อากาศดี อารมณ์แจ่มใส
มะเร็งผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป
“กาญจนา” หญิงแกร่งสู้มะเร็งลำไส้


ขึ้นชื่อว่า “มะเร็ง” แม้ในแง่มุมหนึ่งคือโรคร้ายที่น่ากลัว หลายคนมองเป็นโรคที่รักษายาก ทำให้ชีวิตที่มีความสุขมาตลอดอาจยุติลงแค่นั้น แต่อีกนัยหนึ่งกลับทำให้หลายคนเข้มแข็งขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ และพร้อมฝ่าฟันต่อสู้กับโรคร้าย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไม่ท้อถอย

ดิฉัน กาญจนา จันทรังษี อายุ 58 ปี เป็นหญิงแกร่งอีกคนที่พร้อมต่อสู้กับโรคร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต กับความพยายามที่จะเสริมสร้างร่างกายเพิ่มภูมิต้านทานขึ้นมา

เรื่องราวแห่งมรสุมชีวิตเริ่มต้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ดิฉัน พบว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะ 2 “ช่วงนั้นมีอาการถ่ายออกมามีเลือดปนกับอุจจาระ แต่ไม่มีอาการอย่างอื่น โชคดีที่เราสังเกตอุจจาระ หลังจากนั้นจึงไปพบแพทย์ เลยตรวจพบว่าเป็นก้อนมะเร็งขนาดยาว 4.5 เซนติเมตร ก็รีบผ่าตัดทันที โดยตรวจพบเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2551 และเข้าผ่าตัดเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2551 ต่อจากนั้นก็รับประทานยาเคมีบำบัดครบชุดตามคำแนะนำของแพทย์”

ดิฉันถือว่าโชคดี เพราะแม้มีการตัดก้อนมะเร็งที่ปลายลำไส้ใหญ่ และจำเป็นต้องใส่ถุงขับถ่ายทางหน้าท้อง แต่ก็สามารถปิดแผลหน้าท้องและขับถ่ายตามปกติได้ ไม่เหมือนผู้ที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่บางคน ที่เป็นมะเร็งช่วงใกล้ทวารหนักจนต้องเปิดหน้าท้องเพื่อใส่ถุงขับถ่ายตลอดชีวิต

หลังจากใช้เวลาฟื้นตัวราว 1 เดือน ดิฉันก็กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และระยะนั้นดิฉันได้รับประทานเอ็นไซม์จากต่างประเทศตามที่มีผู้แนะนำ แต่โชคชะตาก็ยังได้เล่นตลกกับดิฉันอีกครั้ง เพราะในเวลาต่อมา ในเดือนมิถุนายน 2552 เรียกได้ว่ายังไม่ถึงปีหลังจากครบคอร์สทานยาเคมีบำบัด ก็พบว่ามะเร็งกลับมาเป็นซ้ำที่ลำไส้ใหญ่อีกครั้ง จึงต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกในเดือนนั้น และพบว่ามะเร็งได้ลุกลามสู่น้ำเหลืองด้วย กลายเป็นมะเร็งระยะ 3 ต้องรับเคมีบำบัดอีกครั้ง

ขณะนี้ดิฉันอยู่ระหว่างการรับเคมีบำบัดทางเส้นเลือด ไม่ได้ใช้การรับประทานเหมือนเมื่อเป็นครั้งแรก โดยแพทย์วินิจฉัยว่าต้องรับเคมีบำบัดต่อเนื่อง 1 ปีหลังผ่าตัด หรือจำนวน 12 ครั้ง แล้วค่อยดูผลอีกครั้ง ขณะนี้ได้รับเคมีบำบัดไปแล้ว 8 ครั้ง “มารอบนี้เราได้รู้จักยาน้ำเทียนเซียน ก็เลยเริ่มรับประทานเมื่อ 28 มิถุนายน 2552 พอทานแล้วก็รู้สึกดีขึ้นมาก ในการรับเคมีบำบัดก็มีผมร่วงเพียงเล็กน้อย และเพลียนิดหน่อย นอนพักแค่ 3 ชั่วโมงก็หาย ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เป็นคนตัวเล็กและผอม หลายคนบอกไม่น่าจะทนกับยาเคมีบำบัดแรงๆ ไหว เพราะแม้แต่ผู้ชายตัวใหญ่ๆ บางคน ก็ทนยาไม่ไหวต้องนอนพักเป็นวันๆ หลังรับยา”

ในด้านชีวิตประจำวัน ดิฉันจะระมัดระวังใส่ใจเรื่องอาหารมากว่า 20 ปีแล้ว ทั้งรับประทานข้าวกล้อง ผัก ผลไม้ และปลา ด้วยการทำอาหารทานเอง ขณะที่หมูหรือไก่จะรับประทานน้อยมาก แต่นั่นก็ยังทำให้ต้องเผชิญกับโรคมะเร็ง จึงทำให้เราคิดว่าสาเหตุของโรคอาจไม่ได้เกี่ยวกับอาหารเท่าใดนัก แต่สิ่งสำคัญ คือ ด้วยภาระการเป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ทำให้ดิฉันเครียดและเอาจริงเอาจังกับงานมากเกินไป สร้างความเครียดโดยไม่รู้ตัว จนอาจเป็นสาเหตุที่มาของโรคร้าย เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ดิฉันจึงขอเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด (เออร์ลี่รีไทร์) เพื่อพักผ่อนอยู่กับบ้านและรักษาตัวอย่างจริงจัง

ตอนนี้ดิฉันปรับวิถีชีวิตใหม่ด้วยการมองโลกในแง่ดี ไม่เครียด ทำจิตใจให้สบาย ออกกำลังกายตามความพอดีไม่มากเกินไป นอกจากนี้ยังทำบุญใส่บาตรทุกเช้า พร้อมกับการสวดมนต์ นั่งสมาธิ และฟังรายการธรรมะทางวิทยุ

ประกอบกับการอยู่ในสภาพอากาศที่ดี เพราะปกติจะพักที่ปราจีนบุรี แต่มีบ้านอีกแห่งที่ปากช่อง ดิฉันจึงย้ายไปพักที่ปากช่องซึ่งมีอากาศดีตลอดปี สภาพอากาศเย็นและไม่ร้อน เหมาะกับการฟื้นฟูสุขภาพ “แม้จะเป็นมะเร็งระยะที่ 3 แต่ก็ไม่เคยท้อถอยที่จะต่อสู้ หมอเองก็บอกว่าเรารักษาได้ ดิฉันอยากให้กำลังใจกับทุกคนว่า มะเร็งจะแพ้เราถ้าเราทำจิตใจให้สบาย หมั่นรักษาตัว ทำอารมณ์ดีอยู่เสมอ”


ที่มา
http://www.siamca.com/?name=person&file=readknowledge&id=132

ข้าวโพดต้ม...รักษามะเร็ง

วันนี้ใกล้จะเลิกงานก่อนกลับนึกขึ้นมาได้ว่าวันนี้ มีตลาดเกษตร ตลาดยอดนิยมของชาว มอ. เรานี่เอง กำลังคิดอยู่ว่าเย็นนี้จะกินอะไรดี. หลายๆคนคงมีร้านประจำที่ตลาดที่แอบฝากท้องเอาไว้เป็นประจำ แต่วันนี้มีเมนูธรรมด๊า ธรรมดา ที่อุดมณ์ไปด้วยประโยชน์มากมายมายมา แนะนำ

เมนูนี้ คือ ข้าวโพดต้ม (คงต้ม) อย่าหัวเราะนะ มีรายงานการวิจัยมาแล้วว่าการกินข้าวโพดต้มสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและมะเร็งได้ นักวิจัยพบว่า การต้มทำให้ข้าวโพดปล่อยสารแอนตี้ออกซิแดนท์ออกมาหลายตัวและที่สำคัญตัวหนึ่งที่ชื่อว่า กรดเฟอรูลิก (Ferulic acid)

กรดเฟอรูลิกเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านการแก่ (aging) ป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง โรคหัวใจ ไข้หวัด กรดเฟอรูลิก เป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์ที่มีประสิทธิภาพสูงมากในเนื้อเยื่อของคนเวลาที่คนเราออกกำลังร่างกาย ซึ่งมีการใช้ออกซิเจนมากในร่างกาย

ในข้าวโพดหวานตามธรรมชาติ จะมีสารแอนตี้ออกซิแดนท์อยู่ และมีตัวที่สำคัญคือ กรดเฟอรูลิกในข้าวโพดดิบจะแฝงตัวอยู่ในผนังเซลล์ของพืช อยู่ในรูปของกลูโคไซด์ (คือ สารที่น้ำตาลกลูโคสเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ข้าวโพดหวาน) เมื่อข้าวโพดถูกต้มนานๆ สารแอนตี้ออกซิแดนท์และกรดเฟอรูลิกจะถูกปลดปล่อยออกมาเป็นอิสระ

นักวิจัยพบว่า ถ้าต้มข้าวโพดยิ่งนาน ปริมาณของสารแอนตี้ออกซิแดนท์จะถูกปล่อยออกมามากขึ้น ถ้าต้มข้าวโพดที่ 115 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10 นาที ปริมาณของสารแอนตี้ออกซิแดนท์จะเพิ่มขึ้น 21% ถ้าต้ม 25 นาที จะได้สารแอนตี้ออกซิแดนท์เพิ่มขึ้น 44% และถ้าต้ม 50 นาที จะได้เพิ่มถึง 53% แต่เมื่อวัดปริมาณเฉพาะกรดเฟอรูลิกที่ถูกปล่อยออกมาพบว่า กรดนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 240% (เมื่อต้ม 10 นาที), 550% (เมื่อต้ม 25 นาที) และ 900% (เมื่อต้ม 50 นาที)

คนจำนวนมาก ชอบกินข้าวโพดหวานดิบ เพราะเชื่อว่ามีสารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์ดี หลายตนชอบต้มเพียงพอสุก เพราะเกรงความหวานจะหายไป ผลงานวิจัยนี้เสนอแนะให้ทราบว่า ข้าวโพดต้มมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก ในแง่ของการให้สารแอนตี้ออกซิแดนซ์ แม้ว่าวิตามินบางตัว เช่น วิตามินซี จะหายไปบ้าง อย่างไรก็ตามข้าวโพดก็ไม่ใช่แหล่งที่ดีสำหรับวิตามินซีอยู่แล้ว

ที่มา:
http://www.redcross.or.th/pr/pr_news.php4?db=3&naid=490

และจาก FW mail ที่มีประสบการณ์มะเร็งและข้าวโพดต้มได้เมล์ไปบอกกล่าวถึงประโยชน์ของข้าวโพดต้ม ดังนี้

อ่านแล้ว ก็กิน ข้าวโพดต้มสุก ให้เยอะๆๆๆเลย ตอนที่แม่เรากำลังรักษามะเร็งช่วงใกล้ๆหาย เริ่มจะทานอาหารได้ เค้าจะกินข้าวโพดต้มทุกวัน ไปเหมาจาก Supermarket ทุก week แล้วเค้าก็ฟื้นตัวเร็วมาก ช่วงนั้น ลิ้นเค้าจะ Anti เนื้อสัตว์ กลืนไม่ลง ทานได้แต่ผักกะผลไม้ และจะอยากกินข้าวโพดทุกวัน ข้าวโพดสุก ต้านมะเร็ง การแทะข้าวโพดหวานต้านโรคมะเร็ง มีสารตัวล้างพิษมากกว่าผักผลไม้

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์แห่งสหรัฐฯ รายงานในวารสารสมาคมเคมีแห่งอเมริกาว่า ข้าวโพดหวานที่ปรุงสุกแล้วจะออกฤทธิ์ล้างพิษ ในร่างกายสูงขึ้นได้อย่างเด่นชัด

เขาเผยว่าผิดกับที่เคยเชื่อกันมาก่อน ว่าผักและผลไม้หากต้มปรุงสุกแล้วจะเสียคุณค่าทางอาหารลงไป สู้กินดิบๆ ไม่ได้ แต่ข้าวโพดหวานยังคงสามารถ เก็บพลังเป็นตัวล้างพิษคงไว้ได้ แม้ว่าจะเสียวิตามินซีไป

เขาได้พบในการต้มข้าวโพดหวาน ด้วยอุณหภูมิสูง 115 องศาเซลเซียส ในเวลานานต่างกัน 10, 25 และ 50 นาที
พบว่ายิ่งต้มนานจะทำให้มันมีสาร อันเป็นตัวล้างพิษเพิ่มขึ้นเป็น 22, 44 และ 53 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสารที่ออกฤทธิ์ เป็นตัวล้างพิษช่วยดับพิษของพวกอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นอันตรายกับเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ทั้งยังมีส่วนเกี่ยวพันกับโรค อันเนื่องมาจากความแก่ชรา ต่างๆ อย่างเช่นต้อกระจก และโรคสมองเสื่อมอีกด้วย

คณะนักวิจัยแจ้งว่าข้าวโพดหวาน ต้มหรือปิ้งจะปล่อยสารประกอบที่เรียกว่า กรดเฟรุลิก อันเป็นคุณกับร่างกาย ยิ่งมากขึ้นเมื่อถูกความร้อนสูงขึ้น หรือเวลานานขึ้นกรดเฟรุลิกเป็นพวก พฤกษเคมีซึ่งในผักและผลไม้มีอยู่ไม่มากนัก แต่กลับพบม ีอยู่อย่างอุดมในข้าวโพด ผสมปนเปรวมอยู่กับอย่างอื่น การทำให้มันสุกจึงช่วยทำให้มัน ปล่อยกรดเฟรุลิกออกมาได้มากขึ้น

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

"ฟักข้าว" ต้านมะเร็ง-ชะลอแก่



ความชรามาแน่ๆ แต่เราสามารถชะลอให้มาช้าๆ ได้ด้วยผักผลไม้ที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ไม่ต้องไปบินไปหาผลเบอร์รีถึงเมืองนอกเมืองนา เพราะผักพื้นบ้านของไทยเรามีอยู่มากมายที่ช่วยต้านโรคและต้านความชราได้ และที่กำลังเป็นน้องใหม่มาแรงของวงการตอนนี้คือ "ฟักข้าว" หรือ "แก๊กฟรุต" นั่นเอง

ในปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากฟักข้าวจำหน่ายในท้องตลาด หรือรู้จักกันในนาม "แก๊กฟรุต" (GAC fruit) ซึ่ง น.ส.จันทร์แรม แสนคำ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ฟักข้าวเป็นผักพื้นบ้านของไทยอยู่ในตระกูลเดียวกับมะระ เป็นไม้เลื้อยที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านทางภาคเหนือและอีสานนิยมนำส่วนยอดและผลอ่อนของฟักข้าวมาปรุงอาหารรับประทานกันในรูปแบบต่างๆ แต่ไม่นิยมรับประทานผลสุก จึงมักมีผลแก่เหลือเป็นจำนวนมาก

"มีรายงานการวิจัยในต่างประเทศหลายฉบับระบุว่าผลฟักข้าวมีสารไลโคพีน (Lycopene) สูงกว่าในมะเขือเทศ 70-100 เท่า ซึ่งสารนี้ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก และมีแคโรทีน (carotene) มากกว่าแครอท 10 เท่า และมีรายงานด้วยว่าชาวเวียดนามนิยมบริโภคฟักข้าวมากที่สุด โดยนำส่วนของเยื่อหุ้มเมล็ดในผลแก่มาผสมกับข้าวสารแล้วนำไปหุงรับประทาน สามารถช่วยบำรุงสายตา แก้ปัญหาการมองไม่เห็นในช่วงกลางคืนได้ แต่ในฟักข้าวนั้นยังมีสารอื่นๆ อีหลายชนิดที่มีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระได้เช่นกัน" น.ส.จันทร์แรม กล่าว

ทั้งนี้ น.ส.จันทร์แรม ได้ร่วมกับฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ทำการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากฟักข้าวในการต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุทำให้เซลล์เสื่อมสภาพและเกิดโรคต่างๆ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนภายใต้โครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ของ วว. โดยนำผลสุกของฟักข้าวมาแยกเป็นส่วนเนื้อ เปลือก และเยื่อหุ้มเมล็ด แล้วแยกสกัดด้วยน้ำและเอทานอลที่ความเข้มข้นต่างๆ

จากนั้นตรวจสอบสารทางเคมีด้วยวิธีทินเลเยอร์โครมาโทกราฟี (TLC) พบว่ามีเบต้าแคโรทีน แอลฟาโทโคฟีรอล (รูปแบบหนึ่งของวิตามินอีในธรรมชาติ) และโทโคฟีรอลในรูปแบบอื่นๆ อีกจำนวนมาก อยู่ในส่วนที่สกัดด้วยเอทานอล 95% ทั้งสามส่วน และเมื่อนำไปทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยเทคนิคโฟโตเคมิลูมิเนสเซนส์ (PCL) พบว่าสารสกัดจากเปลือกที่สกัดด้วยเอทานอล 95% มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุดสำหรับกลุ่มสารที่ละลายไขมัน และสารสกัดจากเยื่อหุ้มเมล็ดที่สกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุดสำหรับกลุ่มสารที่ละลายในน้ำ

จากผลการวิจัยข้างต้นนั้นสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากฟักข้าวได้ โดยหลังจากนี้ทีมนักวิจัยจะดำเนินการทดสอบความเป็นพิษ ศึกษาฤทธิ์ต้านการทำลายดีเอ็นเอ ศึกษาฤทธิ์การก่อการกลายพันธุ์ของสารสกัดจากผลฟักข้าว เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการที่ครบถ้วนและครอบคลุมทั้งสองด้าน

อย่างไรก็ดี ดร.ประไพภัทร คลังทรัพย์ นักวิชาการฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. ซึ่งร่วมในการวิจัยครั้งนี้ด้วย เปิดเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า มีการบริโภคฟักข้าวเป็นผักพื้นบ้านกันมานานแล้ว จึงไม่น่าห่วงว่าจะมีอันตรายใดๆ หากนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ แต่ต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงวิธีการสกัดหรือแปรรูปฟักข้าวที่เหมาะสมและคุ้มค่าต่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรม รวมถึงการเก็บรักษาสารสำคัญให้คงตัวอยู่ในผลิตภัณฑ์ได้นานพอควร ซึ่งคาดว่าภายในปีหน้าน่าจะมีผลิตภัณฑ์จากฟักข้าวในกลุ่มของอาหารออกมาเป็นต้นแบบ และหากมีการต่อยอดเชิงพาณิชย์ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลสุกของฟักข้าวที่ไม่มีใครนำไปรับประทานได้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยฤทธิ์ของสารสกัดจากฟักข้าวในการต้านอนุมูลอิสระนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพชะลอความชราจากสารต้านอนุมูลอิสระในผักพื้นบ้าน ผักไฮโดรโปนิกส์ และพืชตระกูลถั่ว ของ วว. ที่มีกำหนดระยะเวลาโครงการไว้ในระหว่างปี 2552-2555





แนะนำ
- อ่านข่าวและบทความเกี่ยวการชะลอความชราได้ที่นี่


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์